| |
ผลของกุศลที่เป็นวาสนา ๖ ประการ   |  

วาสนา หมายถึง สิ่งที่ได้มาโดยไม่ต้องกระทำให้มีให้เกิดขึ้น หรือไม่ได้เจตนาตั้งใจให้เกิดขึ้น มี ๖ ประการ คือ

๑. สุวัณณะตา หมายถึง ความเป็นผู้มีผิวพรรณดี หมายความว่า เป็นผู้มีผิวพรรณงดงามหรือน่าชม ถึงแม้จะไม่ค่อยได้ตกแต่ง ไม่ได้แต่งเติมก็ตาม ย่อมมีความงามเป็นคุณสมบัติติดตัวเสมอ จะเป็นสีผิวใด ๆ ก็ตาม ย่อมดูงดงามตามสีผิวนั้น เช่น มนุษย์บางคน หรือ เหล่าเทวดา พรหมทั้งหลาย และสัตว์เดรัจฉานบางจำพวกที่มีสีผิวเป็นที่ต้องตาต้องใจของบุคคลผู้พบเห็น

๒. สุสะระตา หมายถึง ความเป็นผู้มีเสียงดี หมายความว่า เป็นผู้มีเสียงไพเราะกังวาน หรือมีเสียงน่าเกรงขาม ซึ่งเป็นเสียงที่ออกมาจากกล่องเสียงที่เกิดจากกุศลกรรม [ส่วนเสียงนั้น เกิดจากจิตและอุตุ ๒ อย่าง] ได้แก่ เหล่าดารา นักร้อง เทพบุตรเทพธิดาบางตน เหล่ารูปพรหมทั้งหลาย และบรรดาสัตว์เดรัจฉานบางจำพวก เช่น นกการเวก เป็นต้น

๓. สุสัณฐานะตา หมายถึง ความเป็นผู้มีทรวดทรงดี หมายความว่า เป็นผู้มีทรวดทรงสัณฐานดี มีบุคลิกลักษณะน่าเคารพเกรงขาม น่าเชื่อถือ น่ารัก น่าเอ็นดู ได้แก่ มนุษย์ชายหญิงบางคน เหล่าเทวดา นางฟ้า รูปพรหม และบรรดาสัตว์เดรัจฉานบางตัวหรือบางพวก ที่มีทรวดทรงสัณฐานดี เป็นที่นิยมชมชอบของบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่น

๔. สุรูปะตา หมายถึง ความเป็นผู้มีรูปร่างหน้าตาดี หมายความว่า เป็นผู้มีรูปร่างหน้าตาดี แม้จะไม่ได้ตกแต่ง หรือไม่ได้แต่งเติมก็ตาม แต่ก็มีความงดงามตามธรรมชาติ จะเป็นผิวขาวหรือผิวดำ หรือจะมีลักษณะอ้วนหรือผอม เป็นต้นก็ตาม ก็ดูมีลักษณะรูปร่างลักษณะหน้าตาน่าดู น่าเกรงขาม น่าเชื่อถือ

๕. อาธิปปัจจัง หมายถึง ความเป็นผู้มีความเป็นใหญ่ หมายความว่า เป็นผู้มีวาสนาเป็นใหญ่เป็นผู้มีอำนาจ ได้แก่ ความเป็นหัวหน้าผู้ปกครอง พระราชามหากษัตริย์ พระเจ้าจักรพรรดิ เศรษฐี มหาเศรษฐี คฤหบดี หรือท้าวเทวราช ท้าวมหาพรหม ผู้เป็นเจ้าปกครองในชั้นนั้น ๆ หรือแม้แต่สัตว์เดรัจฉาน มีพญาช้าง พญาราชสีห์ พญานาค พญาครุฑ เป็นต้นซึ่งเป็นที่เคารพยำเกรงของบุคคลเหล่าอื่นหรือของสัตว์เหล่าอื่นแม้จะไม่ได้ใช้อำนาจในการปกครองก็ตาม

๖. ปริวาระตา หมายถึง ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยบริวารสมบัติ หมายความว่า ทำให้เป็นผู้มีบริวารมาก แม้บุคคลนั้นจะไม่ค่อยได้อุปถัมภ์ค้ำชู หรืออนุเคราะห์สงเคราะห์ด้วยวัตถุสิ่งของอันเป็นปัจจัย ๔ หรือไม่ได้ขวนขวายแสวงหามาก็ตาม แต่บุคคลหรือสัตว์เหล่าอื่น ก็พากันมาจงรักภักดี ยอมสยบอยู่ใต้อำนาจของบุคคลนั้น แม้กระทั่งยังไม่เคยได้พบได้เห็นกันก็มี ดังเช่น พระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าจักรพรรดิ ท้าวเทวราชผู้ปกครองชั้นเทวดาและหมู่พรหมทั้งหลาย เป็นต้น หรือแม้กระทั่งเหล่าสัตว์เดรัจฉานบางจำพวกที่มีอำนาจพิเศษ เช่น พญานาค พญาครุฑ พญาราชสีห์ เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |