| |
กัลยาณมิตตธรรม ๗ ประการ   |  

กัลยาณมิตตธรรม หมายถึง คุณธรรมอันเป็นคุณสมบัติของบุคคลผู้เป็นกัลยาณมิตร ในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ อรรถกถา แสดงคาถาพระบาลีไว้ว่า

ปิโย คะรุ ภาวะนีโย    วัตตา จะ วะจะนักขะโม
คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา    โน จัฏฐาเน นิโยชะเย

แปลความว่า

ผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรนั้นจะต้องประกอบด้วยคุณธรรม ๗ ประการ คือ

๑. ปิโย เป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก น่าเลื่อมใส เป็นที่เคารพรักใคร่ของสรรพสัตว์ เพราะความสมบูรณ์ด้วยศีล เป็นคนไม่เจ้าเล่ห์มายา และเล่นหัวกับบุคคลทั้งหลายเกินขอบเขต ซึ่งจะทำให้หมดความเคารพยำเกรงไป

๒. คะรุ เป็นผู้มีจิตใจหนักแน่น น่าเคารพยำเกรง เป็นคนพูดจริงทำจริง มีความซื่อสัตย์สุจริตและซื่อตรงต่อบุคคลและระเบียบวินัย มีจิตใจหนักแน่น มีเหตุผล ไม่แสดงอาการวู่วาม

๓. ภาวะนีโย เป็นผู้ที่ได้ฝึกฝนอบรมตนเองมาเป็นอย่างดี ทั้งการศึกษาในพระปริยัติและการประพฤติปฏิบัติตนเอง มีศีลาจารวัตรอันดีงาม ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ

๔. วัตตา เป็นผู้ที่สามารถแนะนำสั่งสอน และชี้แจงแสดงแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดีงามได้โดยถูกต้อง พร้อมทั้งหมั่นพร่ำสอน ดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ให้ทำแต่สิ่งที่ดีงามถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล เป็นต้น ให้งดเว้นจากสิ่งที่ไม่ดีไม่งามไม่เป็นประโยชน์ หรือไม่เหมาะสมกับกาละเทศะและบุคคล เป็นต้นเหล่านั้นเสีย

๕. วะจะนักขะโม เป็นผู้ที่มีขันติธรรม มีความอดทนในการอบรมพร่ำสอน ฝึกฝนแก่ผู้ที่ไม่รู้ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจได้ยาก โดยพยายามอธิบายให้เข้าใจตามแนวทางที่ถูกต้อง และอดทนต่อการกล่าวล่วงเกิน หรือคำโต้แย้งทางความคิดเห็นของบุคคลทั้งหลายได้ โดยไม่หวั่นไหวต่ออิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์นั้น ๆ หรือไม่แสดงอาการหงุดหงิดรำคาญหรือวู่วามด้วยความไม่พอใจ

๖. คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา สามารถแนะนำพร่ำสอนบุคคลทั้งหลาย ให้เข้าใจได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ทำให้เกิดความอาจหาญร่าเริงในการที่จะปฏิบัติตาม โดยไม่ให้มีความเคลือบแคลงสงสัยหรือไม่เข้าใจตามเหตุผลที่ถูกต้อง ทั้งสามารถแก้ข้ออรรถข้อธรรมที่คลุมเครือให้มีความกระจ่างแจ้ง ทำให้ผู้ฟังเกิดความมั่นใจว่า เป็นแนวทางหรือวิธีการที่ถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยน ด้วยวิธีการที่สอนน้อย แต่ให้ปฏิบัติให้เห็นประจักษ์แจ้งด้วยการกระทำ

๗. โน จัฏฐาเน นิโยชะเย เป็นผู้แนะนำให้ประพฤติปฏิบัติแต่ในทางที่ดีงามและถูกต้องในทางที่สร้างสรรค์ มีความเหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล หรือเกินเลยกรอบแห่งระเบียบวินัยและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม อันจะทำให้เกิดโทษตามมาภายหลัง ทั้งไม่แนะนำหรือชักชวนให้ประพฤติปฏิบัติไปในทางที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือทำให้จิตใจหลุดลอยไปจากคุณงามความดี


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |