| |
สรุปความเรื่องรูปาวจรจิต   |  

๑. รูปาวจรจิต เป็นจิตที่รับรู้อารมณ์ที่เป็นรูปบัญญัติ กล่าวคือ

๑] ปฐมฌานจิต ๓ ย่อมรับรู้อารมณ์ได้ ๒๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ตามที่บุคคลนั้นใช้เป็นอารมณ์เจริญปฐมฌาน ได้แก่ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปานสติ ๑ ปิยมนาปสัตวบัญญัติ ๑ ทุกขิตสัตวบัญญัติ ๑ สุขิตสัตวบัญญัติ ๑

๒] ทุติยฌานจิต ๓ ตติยฌานจิต ๓ และจตุตถฌานจิต ๓ ย่อมรับรู้อารมณ์ได้ ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ตามที่บุคคลนั้นใช้เป็นอารมณ์เจริญทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ตามลำดับ ได้แก่ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ และปิยมนาปสัตวบัญญัติ ๑ ทุกขิตสัตวบัญญัติ ๑ สุขิตสัตวบัญญัติ ๑

๓] ปัญจมฌานจิต ๓ ย่อมรับรู้อารมณ์ได้ ๑๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ตามที่บุคคลนั้นใช้เป็นอารมณ์เจริญรูปาวจรปัญจมฌาน ได้แก่ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ มัชฌัตตสัตวบัญญัติ ๑

๒. รูปาวจรจิตเป็นจิตที่เกิดขึ้นได้เฉพาะกับติเหตุกบุคคลเท่านั้น คือ บุคคลที่ปฏิสนธิมาด้วยไตรเหตุ ที่เรียกว่า สชาติกปัญญิกบุคคล แปลว่า บุคคลผู้มีปัญญาเกิดมาพร้อมกับปฏิสนธิ ได้แก่ ติเหตุกปุถุชน ๑ และพระอริยบุคคล ๔ ตามสมควรที่จะเกิดได้ กล่าวคือ

๑] รูปาวจรกุศลจิต ย่อมเกิดได้กับติเหตุกปุถุชน ๑ พระเสกขบุคคล ๓ ที่ได้รูปฌาน ตามสมควรแก่ฌานที่บุคคลนั้นจะทำได้

๒] รูปาวจรวิปากจิต เกิดได้กับติเหตุกปุถุชน ๑ พระอริยบุคคล ๔ ที่เกิดอยู่ในรูปภูมิ เพียงบุคคลละ ๑ ดวงเท่านั้น เฉพาะวิปากจิตที่นำตนไปเกิด

๓] รูปาวจรกิริยาจิต เกิดได้เฉพาะกับพระอรหันต์ที่ได้รูปฌานเท่านั้นตามสมควรแก่ฌานที่ตนเองทำได้

๓. รูปาวจรจิต เป็นจิตที่เกิดได้เฉพาะในสุคติภูมิเท่านั้น กล่าวคือ

๑] รูปาวจรกุศลจิต ย่อมเกิดกับบุคคลที่เกิดในกามสุคติภูมิ ๗ รูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] ตามสมควรแก่ฌานที่บุคคลนั้นจะสามารถทำได้

๒] รูปาวจรวิปากจิต ย่อมเกิดได้เฉพาะแก่รูปพรหมในภูมิที่ตนเองนำเกิด กล่าวคือ ปฐมฌานวิปากจิต ๑ เกิดได้เฉพาะในปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานวิปากจิต ๑ และตติยฌานวิปากจิต ๑ เกิดได้เฉพาะแก่รูปพรหมในทุติยฌานภูมิ ๓ จตุตถฌานวิปากจิต ๑ เกิดได้เฉพาะในตติยฌานภูมิ ๓ ปัญจมฌานวิปากจิต ๑ เกิดได้เฉพาะในจตุตถฌานภูมิ ๖ [เว้น อสัญญสัตตภูมิ]

๓] รูปาวจรกิริยาจิต ย่อมเกิดได้เฉพาะกับพระอรหันต์ที่อยู่ในกามสุคติภูมิ ๗ รูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตพรหม] ตามสมควรแก่ฌานที่พระอรหันต์นั้นจะสามารถทำได้

๔. รูปาวจรจิต เป็นจิตที่เข้าถึงความแนบแน่นในอารมณ์ เรียกว่า อัปปนาจิต หรือ ฌานจิต กล่าวคือ

๑] รูปาวจรกุศลจิตนั้น เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถกรรมฐาน ยังสมาธิให้เกิดขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ จนถึงอัปปนาสมาธิมีความแนบแน่นในอารมณ์เดียว องค์ฌานปรากฏเด่นชัดมีกำลังในการข่มกิเลสนิวรณ์ทั้ง ๕ ได้แก่ กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์และวิจิกิจฉานิวรณ์ให้สงบราบคาบลงเป็นวิกขัมภนปหาน ต่อจากนั้น ต้องฝึกฝนฌานกุศลนั้นให้เป็นวสีทั้ง ๕ แล้วทำการเลื่อนฌานกุศลด้วยการละองค์ฌานที่หยาบกว่าขึ้นไปตามลำดับจนถึงปัญจมฌานกุศลจิต โดยทำหน้าที่ชวนกิจ คือ เสพอารมณ์โดยความเป็นรูปาวจรกุศลกรรม อันจะส่งผลเป็นรูปาวจรวิปากจิตต่อไปในชาติหน้า [ถ้าฌานนั้นไม่เสื่อมก่อนที่บุคคลนั้นจะตายลง]

๒] รูปาวจรวิปากจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยความเป็นผลของรูปาวจรกุศลจิต ฉะนั้น จึงมีสภาพแนบแน่นในอารมณ์เป็นอัปปนาจิตหรือฌานจิตเหมือนกันกับรูปาวจรกุศลจิตด้วย แต่ต่างจากกุศลจิต คือ เป็นจิตที่เข้าถึงความเป็นสภาพที่สุกงอมและหมดกำหลังลงแล้ว ซึ่งเป็นจิตที่ไม่ต้องขวนขวายทำให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด กล่าวคือ เมื่อมีรูปาวจรกุศลจิตเกิดมาก่อนแล้ว รูปาวจรวิปากจิตย่อมต้องมีแน่นอน [ถ้ารูปาวจรกุศลจิตนั้นไม่เสื่อมก่อนบุคคลนั้นจะตายลง] และเป็นจิตที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ในรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] ตามสมควรแก่ภูมิที่บุคคลนั้นเกิดอยู่

๓] รูปาวจรกิริยาจิตนั้น เกิดขึ้นได้เฉพาะกับพระอรหันต์ที่ทำการเจริญสมถะกรรมฐาน ยังสมาธิให้เกิดขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ จนถึงอัปปนาสมาธิ จนองค์ฌานปรากฏเด่นชัดถึงความแนบแน่นอยู่ในอารมณ์เดียว แล้วจึงฝึกฝนฌานกิริยาที่ได้แล้วนั้นให้เป็นวสีทั้ง ๕ ต่อจากนั้น จึงทำการเลื่อนฌานกิริยาจิตให้สูงขึ้นไปตามลำดับ โดยการละองค์ฌานที่หยาบกว่า จนถึงรูปาวจรปัญจมฌานกิริยาจิต

จบรูปาวจรจิต


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |