| |
การเจริญอรูปฌาน   |  

บุคคลผู้ได้รูปาวจรฌานขั้นสูงสุด แบ่งเป็น ๒ จำพวก คือ

๑. มันทบุคคล คือ บุคคลผู้มีกำลังบารมีอ่อนไปหน่อย ย่อมได้ถึงปัญจมฌาน เพราะเวลากำหนดพิจารณาละวิตกและวิจารนั้น ย่อมกำหนดละได้ที่ละอย่างเท่านั้น ฉะนั้น ในปฐมฌานนั้นประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อเลื่อนขึ้นสู่ทุติยฌาน ย่อมละวิตกได้อย่างเดียว เหลือองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อเลื่อนขึ้นสู่ตติยฌาน ย่อมละวิจารได้ เหลือองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อเลื่อนขึ้นสู่จตุตถฌาน ย่อมละปีติได้ เหลือองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา เมื่อเลื่อนขึ้นสู่ปัญจมฌาน ก็เปลี่ยนสุขเป็นอุเบกขา ย่อมประกอบด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา ด้วยเหตุนี้ มันทบุคคล จึงมีรูปฌาน ๕ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน จึงเรียกว่า ปัญจมฌานลาภีบุคคล

๒. ติกขบุคคล คือ บุคคลที่มีกำลังบารมีในทางฌานแก่กล้า ย่อมได้ถึงจตุตถฌาน เพราะเวลากำหนดพิจารณาละวิตกและวิจารนั้น ย่อมสามารถกำหนดละได้ทั้ง ๒ อย่างพร้อมกัน ฉะนั้น ในปฐมฌานนั้น ประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เหมือนกับมันทบุคคล แต่เมื่อเลื่อนขึ้นสู่ทุติยฌาน ย่อมละวิตกและวิจารได้เหลือองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อเลื่อนขึ้นสู่ตติยฌาน ย่อมละปีติได้ เหลือองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา เมื่อเลื่อนขึ้นสู่จตุตถฌาน ก็เปลี่ยนสุขเป็นอุเบกขา ย่อมประกอบด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา ด้วยเหตุนี้ ติกขบุคคล จึงมีรูปฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน จึงเรียกว่า จตุตถฌานลาภีบุคคล

ปัญจมฌานลาภีบุคคล หรือ จตุตถฌานลาภีบุคคล เหล่านี้ ที่เกิดอยู่ในยุคสมัยที่ต่างกัน หรือต่างลัทธิศาสนากันนั้น ย่อมมีความคิดความเห็นต่างกันเป็น ๒ ฝ่าย คือ

ในเวลาที่ว่างจากพระพุทธศาสนาหรือผู้ที่นับถือลัทธิศาสนาอื่น ปัญจมฌานลาภีบุคคล [หรือจตุตถฌานลาภีบุคคล] มีความเห็นว่า “การประหัตประหารกันก็ดี โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ก็ดี ความกำหนัดรักใคร่กันก็ดี เหล่านี้ล้วนแต่เนื่องมาจากรูปร่างกายนั่นเองเป็นต้นเหตุ อนึ่ง ร่างกายนี้ก็เกิดมาจากโลหิตของพ่อแม่ อันเป็นของไม่สะอาดอีกด้วย ส่วนในอรูปภูมินั้นเป็นภูมิที่ปราศจากรูปร่างกาย มีแต่สภาพนามธรรมอย่างเดียวเท่านั้น ฉะนั้น เรื่องความเดือดร้อนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับร่างกายนี้ จึงถูกระงับไปสิ้น ซึ่งเป็นความสุขอย่างยิ่ง” ดังนี้เป็นต้น เมื่อได้มีความคิดความเห็นเช่นนี้แล้ว ก็ปลูกรูปวิราคภาวนาให้เกิดขึ้น คือ การพิจารณาให้เกิดความเบื่อหน่ายในอัตภาพร่างกายของตนเองและของบุคคลอื่น แล้วทำความพอใจในการเกิดในอรูปภูมิ พร้อมกันนั้นก็พิจารณาให้เห็นโทษในปฏิภาคนิมิตของกสิณที่เป็นอารมณ์ของรูปาวจรปัญจมฌานนั้นพร้อมกันไปด้วย เปรียบเหมือนบุคคลที่กลัวผี เมื่อถึงเวลากลางคืน แม้เพียงแต่เห็นตอไม้เข้าเท่านั้น ก็เข้าใจว่า เป็นผีมาหลอกมาหลอน ย่อมเกิดความสะดุ้งกลัว ฉันใด ปัญจมฌานลาภีบุคคล [หรือจตุตถฌานลาภีบุคคล] ที่พิจารณาเห็นโทษในอัตภาพร่างกาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่ยินดีพอใจในปฏิภาคนิมิตของรูปาวจรปัญจมฌาน [หรือจตุตถฌาน] นั้น พยายามนำใจออกห่างจากปฏิภาคนิมิตนั้นเสีย เพื่อจะก้าวให้พ้นจากสภาพของปฏิภาคนิมิตนั้นไปสู่ภาวะที่มีความละเอียดและประณีตกว่าปฏิภาคนิมิตนั้น ด้วยการกำหนดใจให้เพิกปฏิภาคนิมิตนั้นออกไปเสีย ให้เหลือแต่อากาศที่ว่างเปล่าในขอบเขตแห่งปฏิภาคนิมิตนั้นอย่างเดียว โดยไม่ใส่ใจถึงสภาพของปฏิภาคนิมิตนั้นอีกต่อไป

ส่วนความเห็นของพระสาวกในพระพุทธศาสนานั้น ปัญจมฌานลาภีบุคคล [หรือจตุตถฌานลาภีบุคคล] ไม่ได้พิจารณาให้เห็นโทษของอัตภาพร่างกายเหมือนอย่างลัทธิศาสนาอื่น เพียงแต่มีความเห็นว่า สมาธิที่เกิดจากอรูปฌานนั้น เป็นสมาธิที่มีกำลังมั่นคงและประณีตมากกว่าสมาธิที่เกิดจากรูปฌาน อนึ่ง อรูปฌานนั้นสามารถใช้เป็นบาทในการเจริญอภิญญาให้เกิดขึ้นได้จิ.๑๔ หรือถ้าเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ ก็สามารถใช้เป็นบาทในการเข้านิโรธสมาบัติหรือสัญญาเวทยิตนิโรธได้อีกด้วย เมื่อมีความคิดเห็นเช่นนี้แล้ว จึงปรารภที่จะเจริญอรูปฌานให้เกิดขึ้น เพื่อเสวยความสุขในปัจจุบันภพนั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |