| |
คุณสมบัติพิเศษของรูปปรมัตถ์   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๑๒ และมูลนิธิสถานที่ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ได้แสดงคุณสมบัติพิเศษของรูปปรมัตถ์ไว้ดังนี้

คุณสมบัติพิเศษที่เป็นสภาวะลักษณะประจำตัวของรูปปรมัตถ์ทั้งหมด เรียกว่า วิเสสลักษณะของรูป มี ๔ ประการ เพราะฉะนั้น จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลักขณาทิจตุกกะ มีดังต่อไปนี้

๑. รุปฺปนลกฺขณํ มีการแตกดับทำลายไป เป็นลักษณะ

๒. วิกีรณรสํ มีการแยกออกจากกัน [กับจิต] ได้ เป็นกิจ

๓. อพฺยากตปจฺจุปฏฺานํ มีความเป็นอัพยากตธรรม เป็นอาการปรากฏ

๔. วิญฺาณปทฏฺานํ มีวิญญาณ [ปฏิสนธิวิญญาณ]เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

๑. รุปฺปนลกฺขณํ มีการแตกดับทำลายไป เป็นลักษณะนั้น หมายความว่า รูปธรรมทั้งหมด ทั้งที่มีวิญญาณครอง อันได้แก่ รูปร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย และที่ไม่มีวิญญาณครอง อันได้แก่ รูปร่างของสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย ย่อมมีสภาพแปรเปลี่ยนและแตกดับไปตลอดเวลา แต่เพราะยังมีเหตุปัจจัยที่ทำให้รูปอื่นมีการเกิดขึ้นมาทดแทนอยู่ตลอดเวลาและเป็นไปอย่างรวดเร็ว บุคคลทั้งหลายจึงไม่เห็นความแปรเปลี่ยนและอาการแตกดับไปของรูปนั้น ต่อเมื่อหมดเหตุปัจจัยที่จะทำให้รูปอื่นเกิดขึ้นมาแทนที่ หรือเหตุปัจจัยที่ทำให้รูปเกิดขึ้นมาทดแทนนั้นมีน้อยลงแล้ว บุคคลจึงได้เห็นความแปรเปลี่ยนและแตกดับไปของรูปนั้น เช่น อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายขาดหลุดออกไป โดยไม่สามารถต่อให้ติดกันได้อีก หรือเมื่อสัตว์หรือบุคคลนั้นค่อย ๆ แก่ชราลง รูปต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นมาทดแทนให้เต่งตึงเหมือนตอนเป็นเด็กและเป็นหนุ่มสาวก็ค่อย ๆ ลดน้อยลง ทำให้ปรากฏอาการเหี่ยวแห้ง และเมื่อสัตว์นั้นตายลงแล้ว หรือเมื่อสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย มีต้นไม้ ต้นหญ้า เป็นต้น เหี่ยวเฉาตายไป จึงเห็นความแปรเปลี่ยนและความแตกดับไป ของรูปธรรมนั้น ๆ แต่สำหรับผู้รู้ทั้งหลาย มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ย่อมทรงทราบดีว่า รูปธรรมทั้งหลายมีสภาพเกิดดับแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลาอยู่แล้ว

๒. วิกีรณรสํ มีการแยกออกจากกัน [กับจิตและแยกกันเอง] ได้ เป็นกิจนั้น หมายความว่า รูปธรรมทั้งหลายที่นอกจากอวินิพโภครูป ๘ อย่าง อันได้แก่ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๓ [เว้นสัททรูปคือเสียง ๑] อาหารรูป ๑ ซึ่งจะต้องเกิดร่วมกันเสมอ แยกจากกันไม่ได้ และบรรดารูปที่เกิดในกลาปเดียวกันแล้ว รูปธรรมอื่น ๆ นอกจากนี้ และรูปที่เกิดอยู่คนละกลาป ย่อมสามารถแยกกันได้ ส่วนรูปกับจิตและเจตสิกนั้น แยกกันได้โดยเด็ดขาดอยู่แล้ว เพราะไม่ได้เป็นไปโดยลักษณะ ๔ ประการ คือ ๑] เอกุปปาทะ เกิดพร้อมกัน ๒] เอกนิโรธะ ดับพร้อมกัน ๓] เอกาลัมพนะ มีอารมณ์อันเดียวกัน ๔] เอกวัตถุกะ อาศัยสถานที่เกิดอันเดียวกัน ซึ่งลักษณะทั้ง ๔ ประการนี้เป็นสภาวลักษณะของนามธรรมคือจิตและเจตสิกที่มีความเป็นไปพร้อมกันโดยอาการ ๔ อย่างในขณะเดียวกันเท่านั้น ส่วนรูปธรรมบางอย่าง แม้จะเกิดพร้อมกับจิต แต่ไม่ได้ดับพร้อมกับจิตดวงนั้น เพราะรูปธรรมโดยมากมีอายุยืนนานกว่านามคือจิตและเจตสิก ซึ่งได้แก่ รูป ๒๑ [เว้นวิญญัติรูป ๒ และลักขณรูป ๔] รูปบางอย่างดับพร้อมกับจิต แต่ไม่ได้เกิดพร้อมกับจิตดวงนั้น คือ เกิดก่อนจิตดวงนั้นมาแล้ว หรือรูปบางอย่างแม้จะเกิดพร้อมกับจิตและดับพร้อมกับจิตดวงนั้นก็ตาม แต่ไม่ได้รับอารมณ์อันเดียวกันกับจิต ซึ่งได้แก่ วิญญัติรูป ๒ เพราะรูปธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า อนารัมมณธรรม คือ สภาวธรรมที่ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ได้ เพราะสภาวธรรมที่สามารถรับรู้อารมณ์ได้นั้น มีเพียงจิตกับเจตสิก ๒ อย่างเท่านั้น นอกจากนี้ย่อมไม่สามารถรับรู้อารมณ์ได้เลย อนึ่ง รูปธรรมทั้งหลายไม่ได้อาศัยสถานที่เกิดอันเดียวกันกับจิตและเจตสิกเลย เนื่องจากว่า จิตและเจตสิกนั้นมีวัตถุรูป ๖ เป็นที่อาศัยเกิด ส่วนมหาภูตรูป ๔ อาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น และอุปาทายรูป ๒๔ นั้นก็อาศัยมหาภูตรูป ๔ เกิดขึ้นอีกทีหนึ่ง จึงสรุปได้ว่า รูปธรรมทั้งหลายสามารถแยกกันได้กับจิตและเจตสิกโดยแน่นอน เพราะไม่มีความสมบูรณ์พร้อมแห่งลักษณะทั้ง ๔ ประการดังกล่าวแล้ว อันเป็นคุณสมบัติที่สำเร็จมาจากหน้าที่ ซึ่งเรียกว่า สัมปัตติรส เพราะฉะนั้น รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นมาทำหน้าที่ของตน ๆ แล้ว ย่อมเป็นแต่เพียงทำหน้าที่นั้นสำเร็จลงไปตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเท่านั้น โดยไม่มีความขวนขวายที่จะทำสิ่งนั้นหรือสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด

๓. อพฺยากตปจฺจุปฏฺานํ มีความเป็นอัพยากตธรรม เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า รูปธรรมทั้งหลายนั้นมีสภาพเป็นอัพยากตธรรม คือ เป็นธรรมที่นอกจากกุศลธรรมและอกุศลธรรม เพราะมีสมุฏฐาน คือ ต้นเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น ๔ ประการ ได้แก่ ๑] กัมมสมุฏฐาน คือ รูปที่เกิดจากกรรม เรียกว่า กัมมชรูป ซึ่งจัดเป็นวิบากคือผลของกรรมเก่า อันเป็นอัพยากตธรรมอย่างหนึ่ง ๒] จิตตสมุฏฐาน คือ รูปที่เกิดจากปฏิกิริยาของจิต เรียกว่า จิตตชรูป ย่อมมีสภาพเป็นไปตามอำนาจของจิต โดยไม่มีความขวนขวายด้วยตนเองแต่ประการใด และจิตตชรูปจะเกิดมีได้ก็ต้องมีกัมมชรูปเป็นพื้นฐาน คือ ต้องมีรูปร่างกายของสัตว์อยู่ก่อนแล้ว จิตจึงจะสามารถทำให้รูปร่างกายของสัตว์นั้นแสดงปฏิกิริยาต่าง ๆ ออกมาได้ ถ้าสัตว์ตนใดไม่มีรูปร่างกาย มีแต่จิตและเจตสิกเท่านั้น ซึ่งได้แก่ อรูปพรหมทั้ง ๔ ภูมิ สัตว์ตนนั้นย่อมไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาต่าง ๆ ออกมาได้ เพราะไม่มีรูปร่างกายเป็นเครื่องรองรับนั่นเอง เพราะฉะนั้น รูปร่างกายของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นพื้นฐานให้จิตสั่งการให้แสดงปฏิกิริยาออกมาได้นั้น ก็เป็นกัมมชรูป ซึ่งเป็นวิบากอันเป็นอัพยากตธรรมอย่างหนึ่ง ส่วนปฏิกิริยาของรูปต่าง ๆ นั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ยั่งยืน เมื่อจิตหยุดสั่งการแล้ว ปฏิกิริยานั้นก็หายไปตามสภาพของจิตด้วย เช่น เดินอยู่ เมื่อจิตไม่กระตุ้นให้ก้าวย่างต่อไป การเดินก็ดับไปหรือหายไป ดังนี้เป็นต้น ๓] อุตุสมุฏฐาน คือ รูปที่เกิดจากอุตุ อันได้แก่ อุณหภูมิ บรรยากาศ ดินฟ้าอากาศ สภาพแวดล้อมต่าง ๆ เรียกว่า อุตุชรูป ซึ่งเป็นสภาพความเย็นและความร้อน [ไออุ่น] ของกัมมชรูปบ้าง ของจิตตชรูปบ้าง ของอาหารชรูปบ้าง และรูปของสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตและไม่มีความขวนขวายที่จะทำให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้นแต่ประการใด เพียงแต่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เป็นไปตามเหตุปัจจัย และดับไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น ๔] อาหารสมุฏฐาน คือ รูปที่เกิดจากอาหารที่สัตว์ทั้งหลายบริโภคดื่มกินเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายให้อ้วนหรือผอม แข็งแรงหรืออ่อนแอ สวยงามหรือขี้เหร่ เป็นต้น ตามสภาพของอาหาร และตัวอาหารในร่างกายของสัตว์ที่เป็นอาหารให้แก่สัตว์เหล่าอื่น ตลอดถึงวัตถุสิ่งของที่เป็นอาหารของสัตว์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีสภาพเป็นอัพยากตธรรม เพราะไม่มีความขวนขวายเพื่อให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่สิ่งต่าง ๆ อาศัยรูปธรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยแล้วก็เกิดขึ้นเองเท่านั้น

๔. วิญฺาณปทฏฺานํ มีวิญญาณ [ปฏิสนธิวิญญาณ] เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ในความหมายนี้ หมายเอารูปร่างกายของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในปัญจโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีขันธ์ ๕ ซึ่งมี ๒๖ ภูมิ ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษยภูมิ ๑ เทวภูมิ ๖ รูปภูมิ ๑๕ [เว้น อสัญญสัตตภูมิ] เพราะรูปร่างกายและส่วนประกอบต่าง ๆ ของร่างกาย ตลอดถึงปฏิกิริยาต่าง ๆ ของร่างกายของสัตว์เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีปฏิสนธิวิญญาณเกิดขึ้นก่อนแล้ว กัมมชรูปบางอย่างจึงจะเกิดขึ้นพร้อมกับปฏิสนธิวิญญาณนั้นได้ ส่วนกัมมชรูปบางอย่างย่อมเกิดทีหลังปฏิสนธิวิญญาณ และกัมมชรูปทั้งหลายย่อมเกิดติดต่อกันไปได้ ส่วนจิตตชรูปย่อมเกิดทีหลังจากปฏิสนธิวิญญาณ [ตั้งแต่ปฐมภวังค์ คือ ภวังค์ดวงแรก หลังจากปฏิสนธิจิตผ่านไปแล้ว] อุตุชรูปย่อมเกิดทีหลังรูปที่เกิดจากสมุฏฐานนั้น ๆ ได้แก่ กัมมปัจจยอุตุชรูป [รูปที่เกิดจากอุตุโดยมีกรรมเป็นปัจจัย ได้แก่ ไออุ่นหรืออุณหภูมิในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย] เกิดทีหลังกัมมชรูป ๑ อนุขณะ จิตตปัจจยอุตุชรูป [รูปที่เกิดจากอุตุโดยมีจิตเป็นปัจจัย เช่น ความร้อนหรือความเย็นที่เกิดขึ้นจากอิริยาบถต่าง ๆ เป็นต้น] เกิดทีหลังจิตตชรูป ๑ ขณะ อุตุปัจจยอุตุชรูป [รูปที่เกิดจากอุตุโดยมีอุตุเป็นปัจจัย เช่น สภาพบรรยากาศที่ร้อนหรือเย็น ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิทั้งภายในและภายนอกร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ตลอดถึงสภาพอุณหภูมิต่าง ๆ ของโลก] เกิดทีหลังอุตุชรูป และอาหารปัจจยอุตุชรูป [รูปที่เกิดจากอุตุโดยมีอาหารเป็นปัจจัย ได้แก่ ความร้อนหรือความเย็นภายในร่างกายของสัตว์ที่เกิดจากการบริโภคอาหารเข้าไปก็ดี สภาพอุณหภูมิที่อยู่ในตัวอาหารต่าง ๆ ก็ดี] เกิดทีหลังอาหารชรูป ส่วนอาหารชรูปในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย เกิดขึ้นหลังจากสัตว์นั้น ๆ ได้บริโภคอาหารเข้าไปสู่ร่างกายแล้วนั่นเอง สำหรับอาหารชรูปที่อยู่ภายนอกร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ที่เรียกว่า พหิทธโอชา นั้น ได้แก่ อาหารภายนอกที่สัตว์บริโภคเข้าไป ก็เป็นอาหารรูปที่เกิดพร้อมกับการเกิดขึ้นของโลกหรือสิ่งที่เป็นอาหารนั้น ๆ นั่นเอง

วิเสสลักขณะของรูปดังกล่าวมานี้ เป็นการแสดงตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท อันเป็นรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน จึงจะมีวิญญาณ [คือปฏิสนธิวิญญาณ] เป็นเหตุใกล้ให้เกิดได้ ส่วนรูปที่เกิดจากสมุฏฐานอย่างอื่น ย่อมไม่มีปฏิสนธิวิญญาณเป็นเหตุใกล้เหตุให้เกิด แต่มีสมุฏฐานนั้น ๆ นั่นเองเป็นเหตุใกล้ให้เกิด เช่น จิตตชรูป ย่อมมีจิตเป็นเหตุใกล้ให้เกิด เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |