ไปยังหน้า : |
คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ เป็นต้นรุ.๑๐๓ ได้แสดงวจนัตถะของวาโยธาตุไว้ดังนี้
วาโยธาตุเป็นธรรมชาติที่นำให้รูปธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกันกับตนนั้นตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “วายติ สหชาตธมฺเม อปตมาเน กตฺวา วหตีติ = วาโย” แปลความว่า ธรรมชาติใด ย่อมนำให้รูปที่เกิดพร้อมกันกับตนตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เพราะเหตุนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า วาโย
อีกนัยหนึ่ง “วายติ เทสนฺตรุปฺปตฺติ เหตุภาเวน ภูตสงฺฆาตํ ปาเปตีติ = วาโย” แปลความว่า ธรรมชาติใด ย่อมทำให้มหาภูตรูปที่เกิดพร้อมกันกับตนเคลื่อนไหวไปที่อื่นได้ โดยความเป็นเหตุให้เกิดความเคลื่อนไหวจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เพราะเหตุนั้น ธรรมชาตินั้น จึงชื่อว่า วาโย
อีกนัยหนึ่ง ในคัมภีร์วิสุทธิมรรครุ.๑๐๔ แสดงว่า “โย วิตฺถมฺภนภาโว วา สมุทีรณภาโว วา อยํ วาโยธาตุ” แปลความว่า ธรรมชาติใดที่ทรงไว้ซึ่งภาวะเคร่งตึง หรือภาวะเคลื่อนไหว ที่มีอยู่ภายในร่างกายนั้น เพราะเหตุนั้น ธรรมชาตินั้น จึงชื่อว่า วาโยธาตุ
ตามวจนัตถะทั้งหมดที่กล่าวแล้วนี้ ย่อมสรุปความหมายได้ว่า คำว่า วาโยธาตุ นั้น มี ๒ ความหมาย กล่าวคือ ธรรมชาติหรือสภาวะที่เคร่งตึงและนำให้รูปธรรมที่เกิดพร้อมกันกับตนนั้นตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อย่างหนึ่ง และธรรมชาติหรือสภาวะที่หย่อนและนำให้รูปธรรมที่เกิดพร้อมกันกับตนนั้นหวั่นไหวหรือเคลื่อนไหวไปมาหรือเคลื่อนไหวไปสู่สถานที่ต่าง ๆ ได้ อีกอย่างหนึ่ง