ไปยังหน้า : |
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ และมูลนิธิสถานที่ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทรุ.๑๔๐ ได้แสดงคุณสมบัติพิเศษของจักขุปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้
จักขุปสาทรูปมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกันกับปรมัตถธรรมเหล่าอื่น ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ มี ๔ ประการ มีลักษณะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ลักขณาทิจตุกกะ ดังต่อไปนี้
๑. รูปาภิฆาตารหภูตปฺปสาทลกฺขโณ มีความใสแห่งมหาภูตรูปอันควรแก่การกระทบกับรูปารมณ์ เป็นลักษณะ
๒. รูเปสุ อาวิญฺฉนรโส มีการชักนำมาซึ่งรูปทั้งหลาย เป็นกิจ
๓. จกฺขุวิญฺาณสฺส อาธารภาวปจฺจุปฏฺาโน มีสภาพทรงไว้ซึ่งจักขุวิญญาณจิต เป็นผลปรากฏ
๔. ทิฏฺฐุกามตา นิทานกมฺมชภูตปทฏฺาโน มีมหาภูตรูปอันเกิดแต่กรรม อันมีความประสงค์เพื่อจะเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
เพราะฉะนั้น จักขุปสาทรูปนี้ จึงไม่ได้หมายถึงนัยน์ตาหรือลูกตาทั้งลูก แต่มุ่งหมายเอาเฉพาะจักขุปสาทรูปเท่านั้น ซึ่งมีความใสซึมซาบอยู่ในก้อนเนื้ออันมีสัณฐานเท่าหัวเหา ตั้งอยู่กลางตาดำ มีเยื่อตาหุ้มอยู่ ๗ ชั้นเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอเท่านั้น
คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :
ตามคุณสมบัติพิเศษ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ ของจักขุปสาทรูปที่ท่านได้แสดงไว้แล้วนั้น ผู้เขียนจักแสดงคำอธิบายเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจความหมายแห่งคุณสมบัตินั้น ๆ พอสังเขปดังต่อไปนี้
๑. รูปาภิฆาตารหภูตปฺปสาทลกฺขโณ มีความใสแห่งมหาภูตรูปอันควรแก่การกระทบกับรูปารมณ์ เป็นลักษณะ หมายความว่า คุณลักษณะที่มีอยู่ประจำของจักขุปสาทรูปโดยเฉพาะนั้น ได้แก่ ความใสของมหาภูตรูปที่เกิดจากกรรมซึ่งสามารถรับกระทบกับรูปารมณ์ได้เท่านั้น เพราะฉะนั้น คำว่า จักขุปสาทรูป นี้ จึงไม่ใช่ดวงตาทั้งลูก แต่เป็นความใสของก้อนเนื้ออันเกิดจากกรรมที่เรียกว่า กัมมชกลาป ที่มีสัณฐานเท่าศีรษะเหาหรือศีรษะเล็น ตั้งอยู่ตรงกลางตาดำ [ระหว่างตาดำ] เท่านั้น ซึ่งมีเยื่อหุ้มอยู่ ๗ ชั้นอันสร้างความชุ่มชื้นแก่จักขุปสาทรูปอยู่เสมอ เป็นวัตถุคือสถานที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง และเป็นทวารคือเป็นประตูหรือช่องทางในการรับรู้รูปารมณ์ของจักขุทวารวิถีจิต ถ้าดวงตาทั้งลูกไม่มีจักขุปสาทรูปแล้ว บุคคลนั้นย่อมไม่สามารถรับรู้รูปารมณ์คือไม่สามารถมองเห็นได้เลย ส่วนรูปที่เป็นส่วนประกอบของดวงตาส่วนอื่น ๆ นั้น เป็นเพียงปัจจัยสนับสนุนให้จักขุปสาทรูปได้อาศัยเกิดและเป็นไปได้เท่านั้น ไม่มีส่วนในการมองเห็นแต่ประการใด เพราะฉะนั้น แม้บุคคลใดหรือสัตว์ตนใดจะมีดวงตาที่สดสวยหรือขี้เหร่น่าเกลียดอย่างไร และมีสัณฐานเล็กหรือใหญ่เพียงใดก็ตาม ก็ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นมีมากหรือน้อยแต่ประการใด เพราะปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นมีมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับจักขุปสาทรูปที่เกิดจากกรรม ซึ่งมีความใสอันมีคุณสมบัติพิเศษในการรับกระทบกับรูปารมณ์เท่านั้น ถ้าจักขุปสาทรูปของบุคคลใดหรือสัตว์ตนใดมีประสิทธิภาพมาก ย่อมสามารถมองเห็นได้ชัดและไกล แต่ถ้าจักขุปสาทรูปของบุคคลใดหรือสัตว์ตนใดมีประสิทธิภาพน้อย การมองเห็นย่อมไม่ชัดและเห็นได้ไม่ไกลตามไปด้วย เพราะประสิทธิภาพของจักขุปสาทรูปนั้น ก็ได้แก่ ความใสแห่งมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรมอันควรแก่การกระทบกับรูปารมณ์เท่านั้น
๒. รูเปสุ อาวิญฺฉนรโส มีการชักนำมาซึ่งรูปทั้งหลาย เป็นกิจ หมายความว่า จักขุปสาทรูปนี้ย่อมมีหน้าที่อันเป็นคุณสมบัติพิเศษ ที่เรียกว่า สัมปัตติรส คือ หน้าที่อันเป็นคุณสมบัติเฉพาะตนในการแสดงรูปร่างสัณฐานสีสันวรรณะของสิ่งต่าง ๆ ให้ปรากฏ คล้าย ๆ กับว่า เป็นช่องทางให้รูปารมณ์เข้ามาสู่ดวงตา การกล่าวเช่นนี้ เป็นการกล่าวโดยอุปจารนัยคือนัยโดยอ้อมเท่านั้น เพราะความจริงแล้ว รูปารมณ์ทั้งหลายไม่ได้เข้ามาสู่ดวงตาแต่ประการใด เพียงแต่คลื่นแสงแห่งรูปารมณ์คือสีต่าง ๆ นั้น สะท้อนมากระทบกับจักขุปสาทรูป ซึ่งอยู่ในสภาพที่เหมาะสมสามารถรับกระทบกับสีนั้น ๆ ได้เท่านั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยครบบริบูรณ์ กล่าวคือ มีจักขุปสาทรูปสมบูรณ์ดี มีรูปารมณ์มาปรากฏเฉพาะหน้าในระยะที่สามารถมองเห็นได้ มีแสงสว่างที่พอเหมาะ และบุคคลนั้นมีมนสิการคือความใส่ใจที่จะดู เมื่อเหตุปัจจัยครบบริบูรณ์เช่นนี้แล้ว การเห็นย่อมสำเร็จได้ แต่ถ้าบกพร่องไปอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างแล้ว การเห็นย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ด้วยหน้าที่พิเศษอันเป็นคุณสมบัติของจักขุปสาทรูปนี้ ท่านจึงเปรียบเสมือนว่า จักขุปสาทรูปนี้คล้าย ๆ กับว่า ดึงดูดหรือชักนำรูปทั้งหลายให้เข้ามาสู่ดวงตาดังกล่าวแล้ว อนึ่ง การที่จักขุปสาทรูปนี้มีหน้าที่ชักนำมาซึ่งรูปทั้งหลายนี้ ก็เป็นไปโดยปกติธรรมดาหรือธรรมชาติ ไม่ได้มีการขวนขวายจัดแจงแต่ประการใด กล่าวคือ จักขุปสาทรูปก็มิได้รู้ว่าตนเองเห็นรูปารมณ์หรือต้องการเห็นรูปารมณ์ และรูปารมณ์ก็มิได้รู้ว่าตนเองกระทบกับจักขุปสาทรูปหรือมีความต้องการกระทบกับจักขุปสาทรูปแต่ประการใด เพียงแต่เมื่อเหตุปัจจัยครบบริบูรณ์ดังกล่าวแล้ว รูปารมณ์จึงกระทบกับจักขุปสาทรูปได้ และจักขุปสาทรูปก็สามารถรับกระทบกับรูปารมณ์ได้ ทำให้เกิดกระบวนการรู้รูปารมณ์โดยจักขุทวารวิถีจิตต่อไป เพราะฉะนั้น ความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัยระหว่างจักขุปสาทรูปกับรูปารมณ์ ดังกล่าวมาแล้ว จึงไม่มีบุคคลใดจัดแจงปรุงแต่งให้เป็นไปแต่ประการใด เป็นไปตามเหตุปัจจัยอันเป็นอัพยากตะล้วน ๆ เท่านั้น
๓. จกฺขุวิญฺาณสฺส อาธารภาวปจฺจุปฏฺาโน มีสภาพทรงไว้ได้ซึ่งจักขุวิญญาณจิต เป็นผลปรากฏ หมายความว่า จักขุปสาทรูปนี้ย่อมมีความเกิดดับเป็นไปตามสภาพแห่งรูปธรรมอันเป็นสังขตธรรม คือ ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอยู่เสมอ แต่เมื่อกล่าวถึงคุณสมบัติอันเป็นผลสำเร็จหรือผลที่ประจักษ์ของจักขุปสาทรูปนี้แล้ว ไม่ว่าจักขุปสาทรูปของบุคคลใดหรือสัตว์ตนใดก็ตาม เกิดขึ้นเมื่อไรก็ตาม หรือเกิดขึ้นในภพภูมิใดก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมมีสภาพที่ทรงไว้หรือรองรับไว้ได้ซึ่งจักขุวิญญาณจิต กล่าวคือ สามารถเป็นที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณจิตได้ และเป็นทวารให้จักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรับรู้รูปารมณ์ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันเป็นผลประจักษ์ที่บัณฑิตผู้มีปัญญาสามารถกำหนดพิจารณารู้ได้
๔. ทิฏฺฐุกามตา นิทานกมฺมชภูตปทฏฺาโน มีมหาภูตรูปที่เกิดแต่กรรม อันมีความประสงค์เพื่อจะเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า จักขุปสาทรูปนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีความประชุมพร้อมแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ [รวมทั้งรูปอื่น ๆ ที่เป็นส่วนประกอบในกลาปเดียวกันด้วย] ที่เกิดจากกรรมประเภทเดียวกันเป็นฐานรองรับด้วย และมหาภูตรูปทั้งหลาย [รวมทั้งรูปอื่น ๆ ในกลาปเดียวกันนั้น] จะต้องเป็นกัมมชรูปคือรูปที่เกิดจากกรรมที่มีความประสงค์เพื่อจะเห็นด้วย จักขุปสาทรูปนี้จึงจะสามารถเกิดร่วมด้วยได้ อนึ่ง การที่ท่านกล่าวว่า มีมหาภูตรูปที่เกิดแต่กรรมอันมีความประสงค์เพื่อจะเห็นสิ่งต่าง ๆ นั้น เป็นการกล่าวโดยอ้อม เพราะรูปธรรมทั้งหลาย ได้ชื่อว่า อนารัมมณธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่ไม่สามารถรู้อารมณ์ได้เลย แต่ที่ท่านกล่าวเช่นนี้ มีความมุ่งหมายว่า บรรดารูปธรรมที่เกิดพร้อมกับจักขุปสาทรูปนั้น จะต้องเป็นรูปธรรมที่เกิดจากกรรมอย่างเดียวกันทั้งหมด และรูปธรรมเหล่านั้นจะต้องมีความพร้อมในการที่จะร่วมรับกระทบกับรูปารมณ์ได้ด้วยนั่นเอง ถ้ารูปธรรมเหล่านั้นไม่มีความเหมาะสมและไม่มีความพร้อมในการที่จะร่วมรับกระทบกับรูปารมณ์แล้ว จักขุปสาทรูปย่อมไม่สามารถเกิดร่วมด้วยได้ เช่น รูปธรรมที่อยู่ในอวัยวะอื่น ๆ หรือในสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่มีชีวิต เป็นต้น จักขุปสาทรูปย่อมไม่สามารถเกิดร่วมกับรูปเหล่านั้นได้เลย เพราะฉะนั้น มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายจึงไม่สามารถใช้อวัยวะอื่น ๆ รับรู้รูปารมณ์แทนจักขุปสาทรูปได้ และสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายย่อมไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้เลย เพราะไม่มีจักขุปสาทรูปเกิดร่วมด้วย และเพราะเป็นรูปที่ไม่ได้เกิดจากกรรมนั่นเอง จึงสรุปได้ว่า จักขุปสาทรูปนี้ย่อมเกิดร่วมเฉพาะกับมหาภูตรูปทั้ง ๔ [ร่วมทั้งรูปอื่น ๆ ในกลาปเดียวกัน] ที่เกิดจากกรรมอันเป็นเหตุแห่งการมองเห็นเท่านั้น