| |
วิริยสัมโพชฌังคุปปาทธรรม ๑๑ ประการ   |  

วิริยสัมโพชฌังคุปปาทธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดวิริยสัมโพชฌงค์ อันเป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ประกอบแห่งการตรัสรู้อริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นวิริยเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตและมัคคจิต มีบทบาทสำคัญในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานในขณะวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นตามลำดับ จนถึงมรรคญาณผลญาณเกิดขึ้นในมัคควิถี ธรรมที่ทำให้วิริยสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น มี ๑๑ ประการ คือ

๑. อะปายะภะยะปัจจะเวกขะณะตา การพิจารณาเห็นภัยในอบาย ย่อมเกิดความเกรงกลัวต่อทุกข์ที่จะเกิดขึ้นในอบาย โดยคิดว่า จะต้องตกไปสู่อบายอีกถ้าหากว่า ตนเองไม่สามารถยกตนขึ้นจากอบายด้วยการปรารภความเพียรนี้ได้

๒. อานิสังสะทัสสาวิตา การเห็นอานิสงส์ของการบรรลุคุณวิเศษ ถ้าตนเองปรารภความเพียรมุ่งมั่นอยู่เสมอ การบรรลุคุณวิเศษก็ไม่เหลือวิสัยที่จะพึงได้พึงถึง ไม่บรรลุชาตินี้ ก็ต้องได้บรรลุในชาติต่อไป ดังพระพุทธพจน์ว่า “วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ” บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

๓. คะมะนะวิถีปัจจะเวกขะณะตา การพิจารณาหาทางดำเนินที่ถูกต้อง ย่อมเกิดกำลังใจที่จะต่อสู้กับปัญหาอุปสรรค ทำให้ปรารภความเพียรอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งมั่นไปสู่หนทางนั้นให้ได้

๔. ปิณฑะปาตาปะจะยะนะตา การให้ความสำคัญต่ออาหารบิณฑบาต ย่อมทำให้ปรารภความเพียรที่จะบำเพ็ญกิจวัตรให้บริบูรณ์ ไม่มีความโลเลในการแสวงหาอาหารด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ และเห็นคุณค่าของอาหารที่ตนแสวงหามาได้โดยความเพียรอันชอบ

๕. ทายัชชะมะหัตตะปัจจะเวกขะณะตา การพิจารณาถึงความยิ่งใหญ่แห่งความเป็นธรรมทายาทของตนเองและอนุชนคนรุ่นหลังต่อไปว่า ตนเองและบุคคลอื่น ๆ กำลังดำรงอยู่ในฐานะผู้เป็นทายาทอันประเสริฐ เรียกว่า พุทธทายาท คือ ทายาทของพระพุทธเจ้า และธัมมทายาท คือ ทายาทแห่งพระธรรม ซึ่งยากที่บุคคลผู้ตกอยู่ในความเกียจคร้านจะสามารถดำเนินไปได้ มีแต่บุคคลผู้ปรารภความเพียรเท่านั้นที่จะสามารถถึงฐานะอันนี้ได้

๖. สัตถุมะหัตตะปัจจะเวกขะณะตา การพิจารณาถึงความยิ่งใหญ่ด้วยพระคุณแห่งพระบรมศาสดาว่า พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น พระองค์ทรงมีพระทัยมุ่งมั่นด้วยความเพียรพยายามอย่างสูง จึงสามารถบรรลุถึงความประเสริฐเหล่านี้ได้ เราในฐานะผู้เป็นศาสนิกชนจึงควรที่จะเจริญรอยตามพระองค์ อนึ่ง บุคคลผู้เกียจคร้าน ย่อมไม่เป็นที่สรรเสริญของพระองค์เลย บุคคลผู้ปรารภความเพียรเท่านั้นที่พระองค์ทรงสรรเสริญว่า มีชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท เป็นชีวิตที่เป็นแก่นสาร

๗. ชาติมะหัตตะปัจจะเวกขะณะตา การพิจารณาถึงชาติกำเนิดของตนเป็นใหญ่ว่า ตนเองถือกำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์กับเขาชาติหนึ่ง สมควรที่จะกระทำสิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นจะได้ไม่เสียชาติเกิด

๘. สะพ๎รัห๎มะจาริมะหัตตะปัจจะเวกขะณะตา การพิจารณาถึงเพื่อนพรหมจารีผู้ร่วมประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นใหญ่ว่า เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายต่างมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ แล้วตนเองจะมัวเกียจคร้านอยู่ทำไม ไม่เหมาะสมเลย

๙. กุสีตะปุคคะละปะริวัชชะนะตา การหลีกเว้นจากบุคคลผู้เกียจคร้าน เพราะการคบบุคคลผู้เกียจคร้าน ย่อมทำให้ติดนิสัยเกียจคร้านตามไปด้วย ทำให้ไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่มุ่งหวังได้

๑๐. อารัทธะวีริยะปุคคะละเสวะนะตา การคบหาบุคคลที่ปรารภความเพียรเร่งรุดไปสู่ความหลุดพ้น เมื่อบุคคลคบหากับบุคคลเช่นนั้นแล้ว ย่อมมีความดำริในการปรารภความเพียรตื่นตัวอยู่เสมอ

๑๑. ตะทะธิมุตตะตา การน้อมจิตไปในวิริยสัมโพชฌงค์นั้น เมื่อบุคคลน้อมจิตไปสู่วิริยสัมโพชฌงค์อยู่เสมอ ๆ ย่อมเกิดกำลังใจในการปรารภความเพียรอยู่เสมอ ไม่มีความท้อแท้เบื่อหน่าย ย่อมทำให้วิริยสัมโพชฌงค์นั้นสำเร็จลงได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |