| |
การเจริญเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน   |  

ในเบื้องต้น อากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคล ต้องฝึกฝนอากิญจัญญายตนฌานที่ตนได้แล้วนั้นให้ถึงความชำนาญในวสีทั้ง ๕ แล้ว ต่อจากนั้น จึงเข้าอากิญจัญญายตนฌาน เมื่อออกจากอากิญจัญญายตนฌานแล้วก็ทำการพิจารณาให้เห็นโทษของอากิญจัญญายตนฌานนั้นโดยมนสิการว่า “อากิญจัญญายตนฌานนี้ ยังใกล้ต่อวิญญาณัญจายตนฌานที่เป็นปฏิปักษ์กันอยู่ เมื่อไม่หมั่นเข้าอากิญจัญญายตนฌานสมาบัติอยู่เสมอ อาจเลือนหายไป ทำให้สมาธิลดกำลังลงจากนัตถิภาวบัญญัตินิมิตอันเป็นอารมณ์ของอากิญจัญญายตนฌานนั้น แล้วเลื่อนลงไปสู่อากาสานัญจายตนนิมิตอันเป็นอารมณ์ของวิญญาณัญจายตนฌานเหมือนเดิมอีกก็ได้ อนึ่ง สมาธิในอากิญจัญญายตนฌานนี้ ก็ยังหยาบกว่าสมาธิในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอีกด้วย” แล้วพยายามพรากใจออกจากนัตถิภาวบัญญัตินิมิตนั้น พยายามนึกหน่วงเอาอากิญจัญญายตนฌานที่ดับไปแล้วให้มาปรากฏแทนที่นัตถิภาวบัญญัตินิมิตนั้น โดยบริกรรมว่า “เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตังๆ” แปลว่า อากิญจัญญายตนฌานนี้ละเอียดหนอ ประณีตหนอ เช่นนี้เรื่อยไป จนจิตปราศจากนิกันติตัณหาในนัตถิภาวบัญญัตินิมิตอันเป็นอารมณ์ของอากิญจัญญายตนฌานนั้นแล้ว ต่อจากนั้น จิตขึ้นสู่อุปจารสมาธิ ในไม่ช้า นัตถิภาวบัญญัตินิมิตนั้นก็จักหายไป แล้วอากิญจัญญายตนนิมิตก็จักปรากฏขึ้นมาแทนที่ เมื่อนั้น เนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็ปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาอากิญจัญญายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์อย่างแนบแน่น

เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มีชื่อ ๓ อย่าง คือ

๑. ชื่อว่า อรูปฌาน เพราะฌานนี้ปราศจากอารมณ์ที่เป็นรูป กล่าวคือ มีสภาพที่ไม่ใช่รูปเป็นอารมณ์ ได้แก่ อากิญจัญญายตนนิมิต [ซึ่งเป็นนามธรรม]

๒. ชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เพราะฌานนี้ มีความมั่นคงตั้งอยู่อย่างไม่หวั่นไหว เกิดขึ้นโดยอาศัยการมนสิการถึงความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนและความประณีตแห่งอากิญจัญญายตนฌานเท่านั้นปรากฏเป็นอารมณ์

๓. ชื่อว่า จตุตถารุปปฌาน เพราะเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้ เกิดขึ้นเป็นลำดับที่ ๔ ในบรรดาอรูปฌานทั้ง ๔

อรูปฌาน ๔ ดังกล่าวมานี้ เป็นฌานที่มีกำลังเข้มแข็ง มีสภาพหนักแน่นไม่หวั่นไหวต่อธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ของตน จึงมีชื่อว่า อาเนญชาฌาน แปลว่าฌานที่ไม่หวั่นไหว ซึ่งเกิดด้วยอำนาจแห่งกุศลเจตนาที่มีกำลังในการปรุงแต่งอย่างหนักแน่น ไม่หวั่นไหว เรียกว่า อาเนญชาภิสังขาร แปลว่า การปรุงแต่งอย่างหนักแน่นโดยมีสภาพไม่หวั่นไหว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |