| |
อารมณ์ของอรูปาวจรจิต   |  

อารมณ์ของอากาสานัญจายตนฌานจิต ๓ ได้แก่ กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ โดยการภาวนาว่า “อากาโส อะนันโต แปลว่า อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ”

อารมณ์ของวิญญาณัญจายตนฌานจิต ๓ ได้แก่ อากาสานัญจายตนกุศลจิต ๑ อากาสานัญจายตนกิริยาจิต ๑ ที่ตนได้แล้วเป็นอารมณ์ โดยการภาวนาว่า “วิญญาณัง อะนันตัง ๆ แปลว่า วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ๆ” ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ นัย คือ

นัยที่ ๑ วิญญาณัญจายตนกุศลจิต ๑ วิญญาณัญจายตนวิปากจิต ๑ มีอากาสานัญจายตนกุศลจิตที่ดับไปแล้วเป็นอารมณ์

นัยที่ ๒ วิญญาณัญจายตนกิริยาจิต ๑ แบ่งเป็น ๒ นัย คือ

[๑] ถ้าได้อากาสานัญจายตนกุศลจิตมาก่อนแล้ว ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทีหลัง เมื่อจะเจริญวิญญาณัญจายตนฌานกิริยาต่อไป ก็ต้องไปนึกหน่วงเอาอากาสานัญจายตนกุศลจิตที่ตนเคยได้แล้วนั้นมาเป็นอารมณ์ จะไปนึกหน่วงเอาอากาสานัญจายตนฌานกิริยาจิตที่ตนยังไม่เคยได้มาเป็นอารมณ์นั้นไม่ได้

[๒] ถ้าได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก่อน แล้วจึงมาเจริญอากาสานัญจายตนฌานกิริยาให้เกิดขึ้นทีหลัง เมื่อจะเจริญวิญญาณัญจายตนฌานกิริยาต่อไป ก็สามารถไปนึกหน่วงเอาอากาสานัญจายตนกิริยาจิตที่ตนได้แล้วนั้นมาเป็นอารมณ์ได้ แต่จะไปนึกหน่วงเอาอากาสานัญจายตนกุศลจิตที่ตนไม่เคยได้นั้นมาเป็นอารมณ์ไม่ได้

อารมณ์ของอากิญจัญญายตนฌานจิต ๓ ได้แก่ นัตถิภาวบัญญัติโดยการภาวนาว่า “นัตถิ กิญจิ ๆ แปลว่า นิดหนึ่งก็ไม่มี น้อยหนึ่งก็ไม่มี”

อารมณ์ของเนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิต ๓ มีอากิญจัญญายตนฌานที่ตนได้แล้วเป็นอารมณ์ โดยการภาวนาว่า “เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง แปลว่า อากิญจัญญายตนฌานนี้ ละเอียดหนอ ประณีตหนอ” ซึ่งแบ่งเป็น ๒ นัย คือ

นัยที่ ๑ เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิต ๑ เนวสัญญานาสัญญายตนวิปากจิต ๑ มีอากิญจัญญายตนกุศลจิตที่ดับไปแล้วเป็นอารมณ์

นัยที่ ๒ เนวสัญญานาสัญญายตนกิริยาจิต ๑ แบ่งเป็น ๒ นัย คือ

[๑] ถ้าได้อากิญจัญญายตนฌานกุศลมาก่อนแล้ว จึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทีหลัง เมื่อจะเจริญเนวสัญญานาสัญญายตนฌานกิริยาต่อไป ก็ต้องไปนึกหน่วงเอาอากิญจัญญายตนกุศลจิตที่ตนเองเคยได้แล้วนั้นมาเป็นอารมณ์ จะไปนึกหน่วงเอาอากิญจัญญายตนกิริยาจิตที่ตนเองไม่เคยได้มาเป็นอารมณ์นั้นไม่ได้

[๒] ถ้าได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก่อนแล้ว จึงมาเจริญอากิญจัญญายตนฌานกิริยาให้เกิดขึ้นในภายหลัง เมื่อจะเจริญเนวสัญญานาสัญญายตนฌานกิริยาต่อไป ก็สามารถนึกหน่วงเอาอากิญจัญญายตนกิริยาจิตที่ตนได้แล้วนั้นมาเป็นอารมณ์ได้ แต่จะไปยึดหน่วงเอาอากิญจัญญายตนกุศลจิตที่ตนไม่เคยได้นั้นมาเป็นอารมณ์ไม่ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |