| |
อังคิกสูตร   |  

อังคิกสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีส่วนไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน [เจ้าหน้าที่บริการอาบน้ำให้] หรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ฉลาด จะพึงใส่จุณสีตัว [สบู่ผง] ลงในภาชนะสำริดแล้ว พรมด้วยน้ำหมักไว้ ตกเวลาเย็นก้อนจุณสีตัวที่ซึมเข้าไปจับติดทั่วทั้งหมดแล้ว ย่อมไม่กระจายออกฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น ทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกไม่มีส่วนไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐข้อที่ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขที่เกิดแต่สมาธิอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่มซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีส่วนไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกที่มีน้ำปั่นป่วน ไม่มีทางไหลมาได้ ทั้งในด้านตะวันออก ด้านใต้ ด้านตะวันตก ด้านเหนือ และฝนก็ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นผุดขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้วจะพึงทำห้วงน้ำนั้นแหละให้ชุ่มชื่น เอิบอาบ ซาบซึมด้วยน้ำเย็น ไม่มีส่วนไหน ๆ แห่งห้วงน้ำนั้นทั้งหมด ที่น้ำเย็นจะถูกต้องไม่ได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นนั่นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติ และสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีส่วนไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๒

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีส่วนไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขอันปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนในกออุบล กอบัวหลวง หรือกอบัวขาว ดอกอุบล ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าซึ่งเกิดในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ อันน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ ดอกบัวเหล่านั้น ย่อมชุ่มชื่น เอิบอาบ ซึมซาบด้วยน้ำเย็นตลอดถึงยอด ตลอดทั้งเง่า ไม่มีส่วนไหน ๆ ของดอกอุบล ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ทั่วทุกส่วนที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีส่วนไหน ๆ ของกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐข้อที่ ๓

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌานอันไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสและโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธอนั่งแผ่ญาณไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีส่วนไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้นั่งคลุมตัวตลอดศรีษะด้วยผ้าขาว ย่อมไม่มีส่วนไหน ๆ แห่งกายของเขา ที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอนั่งแผ่ญาณไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ย่อมไม่มีส่วนไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๔

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมถือด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ใคร่ครวญด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ซึ่งปัจจเวกขณนิมิตด้วยปัญญา เปรียบเหมือนบุรุษคนหนึ่งมองเห็นบุรุษอีกคนหนึ่ง คนที่ยืนมองเห็นคนนั่ง หรือคนนั่งมองเห็นคนนอน ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอย่อมถือด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ใคร่ครวญด้วยดีแทงตลอดด้วยดี ซึ่งปัจจเวกขณนิมิตด้วยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๕

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้ ภิกษุย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใด ๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่โดยแน่นอน เปรียบเหมือนหม้อน้ำตั้งอยู่บนที่รอง เต็มด้วยน้ำเสมอขอบปาก พอที่กาจะดื่มได้ บุรุษผู้มีกำลัง พึงเอียงหม้อน้ำนั้นหมุนไปรอบ ๆ น้ำย่อมกระฉอกออกมาได้ หรือไม่

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า [ได้พระพุทธเจ้าข้า]

[พระพุทธเจ้า] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสัมมาสมาธิอันประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เธอโน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมอันจะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใด ๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ เปรียบเหมือนสระน้ำที่ภูมิภาคอันราบเรียบกว้างสี่เหลี่ยม กั้นด้วยทำนบ เต็มด้วยน้ำเสมอขอบปาก พอที่กาจะดื่มกินได้ บุรุษผู้มีกำลังพึงเปิดทำนบสระนั้นทุก ๆ ด้าน น้ำย่อมไหลออกมาได้หรือไม่

[ภิกษุ] อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

[พระพุทธเจ้า] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสัมมาสมาธิอันประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ที่ภิกษุเจริญอย่างนี้แล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เธอโน้มน้อมจิตไป เพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ เปรียบเหมือนรถม้าที่เทียมแล้วจอดอยู่ตรงทางใหญ่ ๔ แพร่ง มีพื้นราบเรียบมีประตักวางไว้ข้างบน คนฝึกม้าผู้ขยัน ชำนาญในการฝึกขึ้นขี่รถนั้นแล้ว ถือเชือกด้วยมือซ้าย ถือประตักด้วยมือขวา พึงขับรถให้เดินหน้าบ้าง ให้ถอยหลังบ้างได้ตามต้องการ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสัมมาสมาธิอันประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เธอโน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมอันจะทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใด ๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังอยู่ว่า เราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ พึงใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตะอันบริสุทธิ์ล่วงโสตะของมนุษย์ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็พึงรู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็พึงรู้ว่าจิตปราศจากราคะ ฯลฯ หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็พึงรู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เราพึงระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |