| |
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโลภมูลจิต ๓ ประการ   |  

๑. เวทนา มี ๒ อย่าง คือ

๑] โสมนัสสเวทนา เรียกว่า โสมนัสสสหคตัง แปลว่า เกิดพร้อมด้วยความดีใจ ชื่อว่า สหรคตด้วยโสมนัส มี ๔ ดวง

๒] อุเบกขาเวทนา เรียกว่า อุเปกขาสหคตัง แปลว่า เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ชื่อว่า สหรคตด้วยอุเบกขา มี ๔ ดวง

๒. ปโยคะ มี ๒ อย่าง คือ

๑] สัมปโยคะ เรียกว่า ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง แปลว่า ประกอบด้วยความเห็นผิด ชื่อว่า ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต มี ๔ ดวง

๒] วิปปโยคะ เรียกว่า ทิฎฐิคตวิปปยุตตัง แปลว่า ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ชื่อว่า ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต มี ๔ ดวง

๓. สังขาร มี ๒ อย่าง คือ

๑] อสังขาร เรียกว่า อสังขาริกัง แปลว่า เกิดขึ้นโดยไม่มีการกระตุ้นเตือน หรือชักชวน แต่เกิดขึ้นเองโดยอาศัยเหตุปัจจัยสนับสนุนที่มีกำลังเข้มแข็ง ชื่อว่า อสังขาริกจิต มี ๔ ดวง

๒] สสังขาร เรียกว่า สสังขาริกัง แปลว่า เกิดขึ้นโดยมีการกระตุ้นเตือน หรือ ชักชวน เพราะอาศัยเหตุปัจจัยสนับสนุนที่มีกำลังอ่อน ชื่อว่า สสังขาริกจิต มี ๔ ดวง

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้โลภมูลจิต มี ๘ ดวง คือ




ตัวอย่างโลภมูลจิต ๘

โลภมูลจิต ดวงที่ ๑ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยความเห็นผิด ตัวอย่างเช่น นางสาวสุดสวย เป็นคนอารมณ์ดี แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องธรรมะ มักหลงระเริงอยู่กับสิ่งสวยงาม วันหนึ่ง เดินไปตลาดเห็นเสื้อผ้าสวย ๆ ที่เขาวางขาย ก็มีความตื่นเต้น เกิดความอยากได้ขึ้นมาทันที

โลภมูลจิต ดวงที่ ๒ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยความเห็นผิด ตัวอย่างเช่น นายสุดหล่อ เป็นคนอารมณ์ดี แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องธรรมะ และไม่มีความเข้าใจเรื่องแฟชั่นในเมือง วันหนึ่ง มีโอกาสเข้าไปในเมือง เห็นเขาโฆษณาขายเครื่องสำอาง พร้อมกับพรรณนาถึงคุณภาพของเครื่องสำอางนั้นอย่างพิสดารเกินจริง ซึ่งนายสุดหล่อไม่เคยรู้จัก แต่เมื่อพิจารณาเห็นตัวอย่างที่เขาโชว์ให้ดู และภาพนางแบบนายแบบบนภาพโปสเตอร์ ก็เกิดความสนใจและอยากจะได้ไปใช้ดูบ้าง เพราะเห็นว่าตนเองยังหล่อไม่พอ อยากจะหล่อเหมือนนายแบบในโปสเตอร์บ้าง

โลภมูลจิต ดวงที่ ๓ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตวิปปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ตัวอย่างเช่น นางสาวศรีสะอ้าน เป็นคนอารมณ์ดี ทั้งเป็นคนมีความรู้ธรรมะดีพอสมควรว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร แต่มีอุปนิสัยเป็นคนรักสวยรักงาม ชอบประดับตกแต่ง วันหนึ่ง เดินผ่านร้านทอง ได้เห็นทองสีสวยสด รูปร่างสัณฐานน่าประดับตกแต่ง จึงเกิดความอยากได้ทองนั้นมาประดับกายทันที ทั้งที่รู้ว่า ทองย่อมเป็นแต่สภาพของรูปธรรมเท่านั้น แต่ยังตัดความอยากไม่ได้

โลภมูลจิต ดวงที่ ๔ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตวิปปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ตัวอย่างเช่น นายกุศล เป็นคนอารมณ์ดี มีความรู้เรื่องธรรมะดีพอสมควร แต่เป็นคนชอบความสวยความงาม ความประณีต วันหนึ่ง เดินผ่านร้านอาหาร ต้มยำกุ้ง พอได้กลิ่นต้มยำกุ้งโชยมา ก็ยังไม่สนใจ เพราะเคยรับประทานมาแล้ว ซึ่งตนเองเพิ่งจะรับประทานอาหารมาใหม่ ๆ และรู้ว่าอาหารนั้นจะอร่อยเฉพาะตอนที่หิวเท่านั้น แต่คนในร้านก็ร้องเชิญชวน อ้อนวอนให้เข้าไปชิมดูก่อน บอกว่า ไม่ทานไม่เป็นไร แต่ขอให้ลองชิมดูก่อน ถ้าติดใจค่อยว่ากันทีหลัง นายกุศล จึงเดินเข้าไปลองชิมดูแล้วรู้สึกว่า รสชาติดีดังคำโฆษณา จึงเกิดความชอบใจ และสั่งต้มยำกุ้งมารับประทานอย่างเอร็ดอร่อย จนอิ่มหนำสำราญ

โลภมูลจิต ดวงที่ ๕ อุเปกขาสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยความเห็นผิด ตัวอย่างเช่น นางสาวเฉื่อย เป็นคนเชื่องช้า และไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจเรื่องธรรมะ ทั้งเป็นคนที่ไม่ค่อยยินดียินร้ายกับสิ่งต่าง ๆ แต่เป็นคนชอบความสวยความงาม ความประณีตอยู่บ้าง วันหนึ่ง เดินไปพบนายสุดหล่อถือเครื่องสำอางเดินผ่านมา นางสาวเฉื่อย เมื่อได้เห็นเครื่องสำอางในมือนายสุดหล่อ ว่าเป็นยี่ห้อแปลกดี น่าสนใจ จึงเกิดความอยากได้เครื่องสำอางนั้นไปใช้ดูบ้าง

โลภมูลจิต ดวงที่ ๖ อุเปกขาสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยความเห็นผิด ตัวอย่างเช่น นายสุขุม เป็นคนมีลักษณะเฉย ๆ ไม่ค่อยยินดียินร้ายกับสิ่งต่าง ๆ นัก และเป็นคนที่ไม่มีความรู้เรื่องธรรมะ วันหนึ่ง เดินผ่านโรงละคร ได้ยินเขาโฆษณาละครอยู่ ตนเองไม่ได้สนใจ เพราะไม่ค่อยมีอารมณ์สุนทรีย์ แต่เมื่อคนโฆษณาพยายามชี้ชวน และฉายตัวอย่างบางตอนของละครเรื่องนั้นให้ดู พร้อมกับบอกว่า “ถ้าละครเรื่องนี้เล่นไม่สนุกไม่ถูกใจจะไม่เก็บเงินค่าผ่านประตู และจะแถมเงินให้อีกด้วย” นายสุขุมจึงเริ่มสนใจละครที่เขาโฆษณานั้นแล้วเดินเข้าไปนั่งดู เมื่อขณะดูละครอยู่นั้น ก็คิดว่า “ละครเรื่องนี้แสดงดีพอสมควรล่ะ” ดังนี้แล้ว ก็เกิดความชอบใจในละครเรื่องนั้น

โลภมูลจิต ดวงที่ ๗ อุเปกขาสหคตัง ทิฏฐิคตวิปปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ไม่ประกอบ ด้วยความเห็นผิด ตัวอย่างเช่น คุณตาเฉย เป็นคนมีความรู้เรื่องธรรมะเป็นอย่างดี ไปวัดฟังเทศน์ฟังธรรม และให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอยู่เป็นนิตย์ จนมีความเข้าใจในความเป็นไปของรูปนามขันธ์ ๕ ว่าเป็นแต่เพียงธาตุต่าง ๆ ประชุมพร้อมกัน โดยเหตุปัจจัยแห่งกรรมปรุงแต่ง มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่คุณตาเฉยยังไม่สามารถเจริญวิปัสสนา จนบรรลุมรรคผลนิพพานได้ คุณตาเฉยจึงยังมีความรู้สึกพอใจในภาวะความเป็นอยู่ของคุณตาเฉยเอง ยังมีความพอใจในบุตรภรรยาและทรัพย์สมบัติอยู่ แต่ไม่แสดงอาการยินดีหลงใหลในสิ่งเหล่านั้น เพราะรู้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งสมมติใช้สอยกันในโลกเท่านั้น และทุกอย่างต้องดำเนินไปสู่ความแตกดับด้วยกันทั้งสิ้น

โลภมูลจิต ดวงที่ ๘ อุเปกขาสหคตัง ทิฏฐิคตวิปปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ตัวอย่างเช่น พระเสกขบุคคล คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี หรือ พระอนาคามี ที่ปรารภถึงทรัพย์สมบัติ บุตรภรรยา หรือภาวะความเป็นอริยบุคคลของตนแล้ว เกิดความคิดว่า ทรัพย์สมบัติเราก็มี บุตรเราก็เติบโตแข็งแรง ภรรยาเราก็ยังมีอยู่ ดังนี้แล้ว จึงเกิดความพอใจยึดติดในสิ่งเหล่านั้น แต่ไม่ได้มีความยินดีเพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านั้น เพราะเป็นผู้รู้กระจ่างแจ้งแล้วว่า สิ่งต่าง ๆ เป็นแต่เพียงรูปนามขันธ์ ๕ เท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแต่ประการใด กำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ ดังนี้แล้ว จึงทำความวางเฉยต่ออารมณ์นั้น ๆ แต่เนื่องจากยังละโลภะไม่ได้ จึงเกิดความพอใจอยู่


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |