| |
บทสรุปเรื่องโทสเจตสิก   |  

โทสเจตสิก อยู่ในกลุ่ม อกุศลราสี คือ หมวดแห่งอกุศลเจตสิก ๑๔ เป็น โทจตุกเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบได้เฉพาะในโทสมูลจิต ๒ ดวงเท่านั้น

โทสเจตสิก เป็น นิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้โดยแน่นอน หมายความว่า เมื่อระบุว่า ประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ดวง เมื่อโทสมูลจิต ๒ ดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้น ย่อมมีโทสเจตสิกประกอบร่วมด้วยเสมอ โดยไม่มีกรณียกเว้น เพราะเป็นพื้นฐานให้จิตกลายเป็นโทสมูลจิตขึ้นมา ถ้าบุคคลใดไม่มีโทสะแล้ว บุคคลนั้นย่อมไม่มีความโกรธ ไม่มีความหงุดหงิดรำคาญใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความอิจฉาริษยา ความตระหนี่ถี่เหนียว หรือความเดือดร้อนใจ ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น พระอนาคามีท่านละโทสะได้เด็ดขาดแล้ว เพราะฉะนั้น โทสมูลจิต ๒ ดวงจึงไม่เกิดกับท่านอีกเลยในสังสารวัฏนี้ ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน

โทสเจตสิกย่อมเกิดร่วมกับเจตสิกได้ ๒๑ ดวง [เว้นโทสะ] คือ

เมื่อประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ดวง ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นปีติ] โมจตุกเจตสิก ๔ อิสสาเจตสิก ๑ มัจฉริยเจตสิก ๑ กุกกุจจเจตสิก ๑ ถีทุกเจตสิก ๒

โทสเจตสิกนี้ บุคคลสามารถละได้เด็ดขาด ที่เรียกว่า สมุจเฉทปหาน ด้วยอำนาจอนาคามิมรรคญาณ ส่วนโสดาปัตติมรรคและสกิทาคามิมรรคนั้นสามารถละได้เป็นบางส่วนเท่านั้น คือ

โสดาปัตติมรรคญาณ ย่อมละโทสเจตสิก ที่ประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ที่เป็น อปายคมนิยะ คือ ความโกรธ ความอาฆาตพยาบาทจองเวร ความคิดเบียดเบียนบุคคลอื่นสัตว์อื่นให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน อันเป็นเหตุนำไปสู่อบาย [อปายคมนิยะ] พระโสดาบันย่อมละได้โดยเด็ดขาด เรียกว่า สมุจเฉทปหาน

สกิทาคามิมรรคญาณ ย่อมละโทสเจตสิก ที่ประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ที่เป็น โอฬาริกะ คือ ที่เป็นประเภทอย่างหยาบ แต่ไม่เป็นเหตุนำไปสู่อบาย ได้แก่ ความเสียใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้ร้องไห้ พระสกิทาคามิมรรคย่อมละได้โดยการทำให้เบาบาง เรียกว่า ตนุกรปหาน

อนาคามิมรรคญาณ ย่อมละโทสเจตสิก ที่ประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ที่เป็นสุขุมะ คือ มีสภาพละเอียดอ่อนยิ่งกว่าประเภทโอฬาริกะอีก ซึ่งไม่ถึงกับทำให้เสียใจร้องไห้ เป็นเพียงความขุ่นเคืองในใจเล็กน้อย พระอนาคามีย่อมละได้โดยเด็ดขาด เรียกว่า สมุจเฉทปหาน

เพราะฉะนั้น พระอนาคามีบุคคล จึงสามารถชำระล้างโทสเจตสิกให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดานได้โดยเด็ดขาด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |