| |
การประหาณอุทธัจจะโดยตทังคปหาน ๖ ประการ   |  

การที่บุคคลสามารถระงับอุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ อันเป็นเครื่องบั่นทอนกำลังของจิตซึ่งไม่ให้ยั้งคิดในเรื่องที่ดีงามที่เป็นประโยชน์ ย่อมสามารถระงับได้ด้วยเหตุปัจจัย ๖ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๑. พะหุสสุตะตา เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก [คงแก่เรียน] หมายความว่า เมื่อบุคคลเป็นผู้มีการศึกษามีความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ อย่างกว้างขวางและถูกต้องดีแล้ว ย่อมสามารถประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง และเกิดความปลอดโปร่งโล่งใจ มีความมั่นใจที่จะดำเนินไปในหนทางที่ดีงามนั้นได้อย่างเต็มที่

๒. ปะริปุจฉะกะตา เป็นผู้หมั่นสอบสวนทวนถามผู้รู้อยู่เสมอ หมายความว่า เมื่อบุคคลหมั่นสอบถามท่านผู้รู้ ในสิ่งที่ตนเองไม่รู้หรือไม่มั่นใจ ย่อมได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเหตุโดยผลของสิ่งนั้น ๆ สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และเกิดความภาคภูมิใจ มีความสงบเยือกเย็นใจ คลายจากความฟุ้งซ่านได้

๓. วินะเย ปะกะตัญญุตา เป็นผู้รอบรู้ชำนาญและเคร่งครัดในระเบียบวินัย หมายความว่า เมื่อบุคคลเป็นผู้ได้ศึกษาในระเบียบวินัยต่าง ๆ ทั้งระเบียบวินัยของตนเอง สังคม และประเทศชาติอย่างดีแล้ว ย่อมสามารถประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และมีความมั่นใจในตนเอง ไม่ต้องกลัวว่า จะทำผิดวินัย ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกโทษทัณฑ์ต่าง ๆ หรือเกิดปัญหายุ่งยากตามมาภายหลัง และเมื่อประพฤติตนเป็นคนมีระเบียบวินัยอย่างถูกต้องสม่ำเสมอแล้ว ย่อมทำให้เกิดความภาคภูมิใจในชีวิต เกิดความสุขใจ คลายจากความฟุ้งซ่าน สามารถแสวงหาความรู้ด้วยความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น เป็นการตัดต้นตอของความฟุ้งซ่านให้หมดไป

๔. พุทธะเสริตา ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ ๆ หมายความว่า เมื่อบุคคลได้ฟังพระสัทธรรมจากพระพุทธเจ้า ในขณะที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ดี จากพระสาวกของพระพุทธเจ้าก็ดี หรือจากเหล่าพุทธบริษัทในภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว โดยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักพุทธพจน์และอรรถกถาแล้ว ย่อมเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถประพฤติปฏิบัติได้ถูกทาง ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เกิดความสุขใจ คลายจากความฟุ้งซ่าน

๕. กัลยาณะมิตตะตา เป็นผู้ชอบคบหาสมาคมกับมิตรที่ดีงาม ไม่คบหาสมาคมกับมิตรชั่ว หมายความว่า เมื่อบุคคลไม่คบหาสมาคมกับมิตรชั่ว เลือกคบแต่กัลยาณมิตรเท่านั้น ย่อมทำให้ได้พูด ได้ทำ ได้คิด แต่ในทางที่ถูกต้อง ได้เรียนรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เป็นต้น ย่อม ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นตามมาภายหลัง ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ ปลอดโปร่งโล่งใจ มีความมั่นใจในหนทางชีวิตของตนเอง สามารถคลายจากความฟุ้งซ่านได้

๖. สัปปายะกะถา ได้ฟังถ้อยคำอันเป็นสัปปายะ หมายความว่า เมื่อบุคคลได้ฟังได้เรียนรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทำให้เกิดองค์ความรู้ตามความเป็นจริง เกิดความปลอดโปร่งโล่งใจ มีความสงบใจ คลายจากความฟุ้งซ่านและมีความเชื่อมั่น สามารถมุ่งมั่นยึดถือปฏิบัติได้อย่างเต็มที่

เมื่อบุคคลประหาณวิจิกิจฉาและอุทธัจจะได้แล้ว ก็เป็นอันประหาณโมหมูลจิตไปด้วย เนื่องจากโมหมูลจิตทั้ง ๒ ดวงนั้น ดวงที่ ๑ มีวิจิกิจฉาเป็นกำลังหลัก มีโมหะเป็นกำลังสนับสนุน ดวงที่ ๒ มีอุทธัจจะ เป็นกำลังหลัก มีโมหะ เป็นกำลังสนับสนุน เมื่อประหาณอุทธัจจะและวิจิกิจฉาได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมเป็นอันตัดต้นตอของโมหมูลจิตนั้นไปพร้อมกันด้วย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |