ไปยังหน้า : |
ในอัฏฐสาลินีอรรถกถาท่านแสดงว่า “อารัมมะณูปะนิชฌานะโต วา ปัจจะนิกะ ฌาปะนะโต วา ฌานัง” แปลความว่า ธรรมชาติที่เพ่งอารมณ์ก็ดี หรือ ธรรมชาติที่แผดเผาธรรมอันเป็นข้าศึกของตนก็ดี ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า ฌาน
คำว่า ฌาน ตามนัยแห่งคัมภีร์อัฏฐสาลินีอรรถกถานี้ มุ่งหมายเอา อารัมมณูปนิชฌาน คือ การเพ่งนิมิตของอารมณ์ เพื่อให้จิตสงบแนบแน่นอยู่ในอารมณ์นั้นเพียงอย่างเดียว พร้อมทั้งทำการแผดเผาธรรมที่เป็นข้าศึกต่อฌานนั้นด้วย
ฌาน หมายถึง การเพ่ง หรือ การเผา
การเพ่ง หมายถึง การเพ่งอารมณ์เพื่อให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์นั้นเพียงอย่างเดียวไม่ซัดส่ายไปในอารมณ์อื่นและพร้อมทั้งมีความสงบแนบแน่นโดยลำดับจนถึงความเป็นอัปปนาสมาธิ องค์ฌานทั้งหลายปรากฏเด่นชัด
การเผา หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นเครื่องแผดเผาธรรมที่เป็นข้าศึกต่อองค์ฌานและฌานจิต เพื่อให้ฌานจิตนั้นมีความประณีตยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อก้าวขึ้นไปสู่ฌานเบื้องสูงขึ้นไปตามลำดับด้วย
สมถอารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่ใช้เพ่งหรือบริกรรม เพื่อให้จิตสงบ มี ๔๐ อารมณ์ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ และอรูปกรรมฐาน ๔ ซึ่งอารมณ์บางอย่างก็ทำให้จิตสงบถึงเพียงขั้นอุปจารสมาธิ บางอย่างก็ทำให้จิตสงบจนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ คือ เข้าถึงขั้นฌานจิตปรากฏเกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน กล่าวคือ อนุสสติ ๘ [เว้นกายคตาสติและอานาปานสติ] อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ รวม ๑๐ อย่างนี้ ให้ถึงเพียงขั้นอุปจารสมาธิ ส่วนที่เหลืออีก ๓๐ อย่าง ได้แก่ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๔ อรูปกรรมฐาน ๔ ให้ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ
ธรรมที่เป็นข้าศึกต่อฌาน แบ่งเป็น ๒ จำพวก ได้แก่ นิวรณ์ ๕ เป็นปฏิปักษ์ต่อปฐมฌานกุศล จำพวกหนึ่ง และอีกจำพวกหนึ่ง คือ องค์ฌานที่หยาบกว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อฌานชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ ฉะนั้น รูปฌานลาภีบุคคล เมื่อต้องการเลื่อนขั้นของฌานให้สูงขึ้นไป จึงต้องกำหนดละองค์ฌานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อฌานนั้นๆ ตามลำดับ จนถึงรูปาวจรปัญจมฌาน อันเป็นฌานสูงสุดของรูปฌาน
ส่วนอรูปกรรมฐานชั้นต่ำ ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่ออรูปฌานชั้นสูงกว่าขึ้นไปตามลำดับ กล่าวคือ กสิณุคฆาฏิมากาสนิมิต ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อวิญญาณัญจายตนฌาน อากาสานัญจายตนกรรมฐาน ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่ออากิญจัญญายตนฌาน และนัตถิภาวบัญญัติ ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ฉะนั้น อรูปฌานลาภีบุคคล เมื่อต้องการจะเลื่อนขั้นสู่อรูปฌานชั้นสูง จึงต้องกำหนดเปลี่ยนจากอารมณ์เก่าไปสู่อารมณ์ใหม่ เพื่อให้จิตละทิ้งจากอารมณ์กรรมฐานเดิม ก้าวขึ้นไปสู่อารมณ์กรรมฐานอีกอย่างหนึ่งที่ประณีตกว่าขึ้นไปตามลำดับ จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อันเป็นฌานขั้นสูงสุดของอรูปฌาน และเป็นฌานขั้นสูงสุดของฌานทั้งปวง เรียกว่า ยอดโลกียธรรม
สรุปแล้ว ธรรมที่เป็นข้าศึกต่อองค์ฌานหรือต่อฌานจิต นั้นมี ๒ ประเภทคือ
๑. ธรรมที่เป็นข้าศึกต่อองค์ฌาน หมายถึง ธรรมที่ขัดขวางไม่ให้องค์ฌานเกิดขึ้น ได้แก่ นิวรณ์ ๕ คือ ธรรมชาติที่เป็นเครื่องขวางกั้นต่อการทำความดี
๒. ธรรมที่เป็นข้าศึกต่อฌานจิต หมายถึง ธรรมที่ขัดขวางมิให้ฌานจิตก้าวขึ้นสู่ความสงบที่ประณีตยิ่งขึ้นไป ได้แก่ องค์ฌานที่หยาบกว่าองค์ฌานอื่น ๆ ตาม ลำดับขึ้นไป