| |
อิสสาเจตสิก   |  

อิสสาเจตสิก เป็นสภาวธรรมที่ไม่ยินดีพอใจหรือไม่ชื่นชมในทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของบุคคลอื่น หมายถึง ความไม่พอใจให้บุคคลอื่นได้ดี มีความสุข ประสบความสำเร็จ มีความปรารถนาให้บุคคลอื่นต่ำต้อย ไร้เกียรติยศ ไร้ศักดิ์ศรี หรือโง่เขลาเบาปัญญา ดำรงอยู่ในฐานะที่ต่ำต้อยกว่าตนเองในทุกด้าน อำนาจของอิสสาเจตสิกนี้ ย่อมทำบุคคลให้มีจิตใจตกต่ำ มีความคิดอ่านไม่สุขุมคัมภีรภาพ มีจิตใจคับแคบ จึงเป็นเหตุให้บุคคลนั้นเป็นผู้มีวาสนาน้อย มีอานุภาพน้อย ไม่เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานและคุณงามความดี ย่อมพลาดโอกาสอันดีงามที่สมควรจะได้ มักเป็นคนไร้ญาติขาดมิตรที่มีความปรารถนาดีด้วย เพราะเอือมระอาในความอิจฉาริษยาของบุคคลนั้น

อิสสาเจตสิกเป็นสังโยชน์เครื่องผูกรัดตรึงตราจิตใจของสัตว์ให้ตกอยู่ในภาวะอันต่ำต้อย ไม่ให้ก้าวไปสู่ความเจริญก้าวหน้า หรือไม่ให้ข้ามพ้นจากภพภูมิเบื้องต่ำไปสู่ภพภูมิเบื้องสูงได้ เพราะรึงรัดจิตใจของสัตว์ให้จมอยู่ในห้วงทะเลแห่งความคับแคบของจิตใจ จึงมักพาไปสู่อบายภูมิโดยมาก บุคคลผู้เป็นพระโสดาบัน จึงจะสามารถละอิสสานี้ได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน เพราะฉะนั้น พระโสดาบันจึงเป็นผู้พ้นแล้วจากอบายภูมิอย่างเด็ดขาด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |