| |
เบญจกัลยาณี [ความงามของหญิง] ๕ ประการ   |  

ในวิสาขวัตถุ ขุททกนิกาย ธัมมปทัฏฐกถา ภาคที่ ๓ ท่านพระพุทธโฆสาจารย์ได้แสดงอธิบายลักษณะของเบญจกัลยาณีไว้ ๕ ประการดังต่อไปนี้

เบญจกัลยาณี คือ ความงามของสตรี ซึ่งเป็นคุณสมบัติแห่งรูปร่างกายที่เป็นกัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรม เป็นรูปที่สตรีได้มาด้วยอำนาจแห่งบุญที่ได้ทำไว้ในชาติปางก่อน ส่งผลให้รูปร่างกายและอวัยวะน้อยใหญ่ของเธอในบรรดารูป ๒๗ [เว้นปุริสภาวรูป] ในปัจจุบันชาตินั้นมีความสมบูรณ์พร้อมด้วยรูปสมบัติ คือ ทรวดทรงสัณฐาน ผิวพรรณวรรณะ ตลอดถึงบุคคลิกลักษณะที่น่าดูน่าชม น่าคบหาสมาคม นอกจากนี้ ถ้าสตรีนางนั้นมีคุณธรรมประจำใจด้วยแล้ว ย่อมเป็นบุคคลผู้มีสิริมงคลต่อบุคคลที่ได้คบหาสมาคมและใกล้ชิดอีกด้วย เช่น นางวิสาขามหาอุบาสิการุ.๒๖๒ เป็นต้น ความงาม ๕ ประการนั้น คือ

๑. เกสกัลยาณัง ผมงาม คือ ผมของหญิงที่มีบุญมากนั้น ย่อมมีลักษณะเหมือนกำหางนกยูง เวลาปล่อยลง ย่อมเฟื้อยลงมาประชายผ้านุ่ง แล้วปลายผมก็กลับช้อนขึ้นเหมือนนกยูงรำแพน

๒. มังสกัลยาณัง เนื้องาม คือ ริมฝีปากของหญิงที่มีบุญมากนั้น ย่อมมีสีสุกปลั่ง เหมือนผลตำลึงสุก ราบเรียบสม่ำเสมอกันอย่างมิดชิดดี

๓. อัฏฐิกัลยาณัง กระดูกงาม คือ ฟันของหญิงที่มีบุญมากนั้น ย่อมมีสีและลักษณะสัณฐานขาวเรียบสม่ำเสมอกัน ไม่ห่างและไม่ชิดกันเกินไป งามเหมือนเพชรที่เจียระไนแล้ว และเหมือนสีของสังข์ที่ขัดดีแล้ว

๔. ฉวิกัลยาณัง ผิวงาม คือ ผิวของหญิงที่มีบุญมากนั้น ถ้าเป็นหญิงผิวดำ ผิวจะดำเรียบสนิทเหมือนสีดอกอุบลเขียว ถ้าเป็นหญิงผิวขาว ผิวจะขาวเหมือนดอกกรรณิการ์

๕. วยกัลยาณัง วัยงาม คือ วัยของหญิงที่มีบุญมากนั้น แม้จะคลอดบุตรตั้ง ๑๐ ครั้ง ก็เหมือนกับหญิงสาวที่เพิ่งจะคลอดลูกเพียงครั้งเดียว ยังสาวพริ้งอยู่เสมอ แม้จะอายุมากแล้ว ก็ดูเหมือนวัย ๑๕-๑๖ ปีเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |