| |
ลักขณาทิจตุกะของมัจฉริยเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาพของมัจฉิริยเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์ที่พิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. ลัทธานัง วา ละภิตัพพานัง วา อัตตะโน สัมปัตตีนัง นิคูหะณะลักขะณัง มีการปกปิดทรัพย์สมบัติของตนที่ได้มาแล้วหรือที่ควรจะได้ เป็นลักษณะ หมายความว่า สภาพของมัจฉริยะย่อมมีความหวงแหนทรัพย์สมบัติและคุณความดีของตนที่มีอยู่ก็ดี หรือลาภผลที่กำลังจะได้ก็ดี เพราะฉะนั้น เมื่อมัจฉริยเจตสิกประกอบกับจิตแล้ว ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนในขณะนั้น มีความหยาบกระด้างเพราะความตระหนี่ ความอ่อนโยนและความซื่อตรงย่อมเหือดแห้งไป จึงทำให้บุคคลมีอาการกระมิดกระเมี้ยน ปกปิดซ่อนเร้นทรัพย์สมบัติของตนไว้ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เพราะไม่ต้องการให้บุคคลอื่นมาพบเห็น หรือรับรู้ถึงลาภผลที่ตนจะได้รับ เพราะกลัวบุคคลอื่นจะมายุ่งเกี่ยว เช่น กลัวคนอื่นขอบ้าง กลัวคนอื่นหยิบยืมบ้าง เป็นต้น อีกนัยหนึ่ง บุคคลบางคนย่อมมีความหวงแหนในคุณความดีของตน ไม่ต้องการให้บุคคลอื่นมีได้เหมือนตน หรือไม่ต้องการให้ยศตำแหน่งที่ตนมีอยู่แล้วตกไปเป็นของบุคคลอื่น ตามวาระแห่งกาลเวลาหรือตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ย่อมมีความหวงแหนไว้ แม้ตนเองจะต้องสละยศตำแหน่งนั้นไปตามวาระหรือตามกฎเกณฑ์ก็ตาม แต่ก็ต้องการที่จะให้ยศตำแหน่งนั้นสืบทอดไปแก่บุคคลที่ตนรักที่ตนหวังไว้อีก อันเป็นสภาพของความตระหนี่ที่ครอบงำจิตบุคคลนั้นอยู่

๒. ปะระสาธาระณะภาวะอักขะมะนะระสัง มีความไม่พอใจให้สมบัติของตนไปเป็นสาธารณะแก่ชนเหล่าอื่น เป็นกิจ หมายความว่า สภาพแห่งมัจฉริยเจตสิกนี้ ย่อมมีอาการหวงแหนยึดเหนี่ยวทรัพย์สมบัติและคุณความดีของตนไว้ ย่อมไม่พอใจเมื่อทราบว่าทรัพย์สมบัติของตนจะตกไปเป็นของบุคคลอื่นหรือบุคคลอื่นจะมาใช้ประโยชน์ในทรัพย์สมบัติของตน เพราะฉะนั้น บุคคลที่ถูกความตระหนี่หวงแหนครอบงำอย่างเหนียวแน่น ย่อมเกิดอาการหวงแหนทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของตน แม้ในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นสาระแก่นสารก็เก็บรักษาหวงแหนไว้ จนถึงกับเรียกว่า “บ้าหอบฟาง” ดังนี้ก็มี นอกจากหวงแหนทรัพย์สมบัติของตนแล้ว เมื่อเห็นบุคคลอื่นเขาใช้สอยทรัพย์สมบัติของเขา ก็เกิดอาการตระหนี่หวงแหนในทรัพย์สมบัติแทนเขาด้วย ไม่ต้องการให้เขาใช้สอยทรัพย์สมบัติเหล่านั้น หรือบางคนมีหน้าที่ดูแลของสาธารณประโยชน์ เวลาสมาชิกหรือบุคลากรมาใช้สอย ก็แสดงอาการหวงแหน กระมิดกระเมี้ยน ไม่อยากให้ใครใช้สอย กลัวว่าจะสิ้นเปลือง ทั้งที่เขามีไว้ให้ใช้สอยเป็นของสาธารณะก็ตาม เพราะฉะนั้น สภาพของมัจฉริยะเมื่อครอบงำจิตบุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นมีสภาพเหมือนคนอัตคัดขัดสน มีจิตใจคับแคบ เป็นอยู่แบบฟืดเคืองลำบาก ไร้ยศ ไร้บริวาร

๓. สังโกจะนะปัจจุปปัฏฐานัง วา กะฏะคัญจุกะตาปัจจุปปัฏฐานัง มีความท้อถอยต่อการเสียสละ เป็นอาการปรากฏ หรือมีการคดโกง เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สภาพของความตระหนี่นั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อจาคะ คือ ความเสียสละโดยสิ้นเชิง เมื่อนึกที่จะเสียสละ ถ้าถูกความตระหนี่ครอบงำแล้ว ย่อมทำให้จิตใจท้อถอยจากจาคเจตนา คือ ความตั้งใจที่จะเสียสละนั้นเสีย เพราะฉะนั้น บุคคลที่ตระหนี่ถี่เหนียว มักเป็นคนไม่กล้าได้กล้าเสีย มีอาการกล้า ๆ กลัว ๆ ไม่กล้าลงทุน เมื่อจะต้องบริจาควัตถุสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มักมีอาการเสียดายไม่อยากสละออกไป บางทีก็ต้องต่อสู้กันระหว่างความตระหนี่กับจาคเจตนาเป็นเวลายาวนาน ถ้าความตระหนี่ชนะ ก็ไม่ได้บริจาค ถ้าจาคเจตนาชนะก็ได้บริจาค อานุภาพแห่งบุญของบุคคลจำพวกนี้จึงถูกบั่นทอนลดลงไปเกินครึ่ง ทำให้มีผลมีอานิสงส์น้อย และได้ผลช้า ไม่ทันกาลเวลาด้วย

๔. สะกะสัมปัตติปะทัฏฐานัง มีทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของตน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า มัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยทรัพย์สมบัติหรือคุณควมดีของตนเองเป็นต้นเหตุให้เกิด ถ้าบุคคลใดไม่มีทรัพย์สมบัติเลย บุคคลนั้นย่อมไม่มีบ่อเกิดแห่งมัจฉริยะ หรือถ้าบุคคลใดแม้มีทรัพย์สมบัติ แต่ไม่มีใจผูกพันยึดหน่วงในทรัพย์สมบัติของตนมากนัก คิดว่า เป็นเพียงอุปกรณ์เครื่องอำนวยความสะดวกแก่ชีวิตและเป็นต้นทุนบุญกุศลเท่านั้น เมื่อตายแล้วก็หมดความหมาย ดังนี้เป็นต้น บุคคลเช่นนั้นย่อมไม่ถูกความตระหนี่ครอบงำ ย่อมเป็นอิสระจากความตระหนี่ได้

ความตระหนี่นั้น ท่านกล่าวว่า เป็นความพิการของจิต หมายความว่า เมื่อจิตถูกความตระหนี่ครอบงำแล้ว ย่อมมีอาการป่วยอาพาธ คุณธรรมต่าง ๆ ได้แก่ ปัสสัทธิ ความสงบก็ดี ลหุตา ความโปร่งเบาก็ดี มุทุตา ความอ่อนโยนก็ดี กัมมัญญตา ความเหมาะควรความพร้อมก็ดี ปาคุญญตา ความคล่องแคล่วก็ดี อุชุกตา ความซื่อตรงก็ดี ย่อมซบเซาและหดหายไปจากจิตใจ สภาพจิตใจย่อมตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลสซึ่งมีสภาพตรงข้ามกับคุณธรรมเหล่านั้นและทำให้จิตใจป่วยอาพาธหมดกำลังลง เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงเป็นผู้มีอานุภาพน้อย ไม่มีอำนาจวาสนา ไร้ญาติขาดมิตรสหาย อาภัพเรื่องบริวารชน มีความเป็นอยู่อย่างอัตคัด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |