| |
ฆานวิญญาณจิต ๒   |  

ฆานวิญญาณจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยความเป็นผลของกุศลและอกุศล เพื่อรับรู้คันธารมณ์ หมายความว่า ถ้าคันธารมณ์คือกลิ่นนั้น เป็นอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าปรารถนามาปรากฏขึ้น ฆานวิญญาณจิตที่เกิดขึ้นรับรู้ ก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าคันธารมณ์คือกลิ่นนั้น เป็นอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาปรากฏขึ้น ฆานวิญญาณจิตที่เกิดขึ้นรับรู้ ก็เป็นอกุศลวิปากจิต ฆานวิญญาณจิตนี้ มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกกะ คือ

๑. ฆานะนิสสิตะคันธะวิชานะนะลักขะณัง มีการรู้กลิ่นโดยอาศัยฆานวัตถุ เป็นลักษณะ หมายความว่า ฆานวิญญาณจิตทั้ง ๒ ดวงนี้ ไม่สามารถอาศัยวัตถุรูปอย่างอื่นเกิดได้เลย คือ จะอาศัยจักขุวัตถุ โสตวัตถุ ชิวหาวัตถุ กายวัตถุ หรือ หทยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดนั้นไม่ได้เลย ย่อมอาศัยเกิดได้เฉพาะฆานวัตถุ คือ ฆานปสาทรูป อย่างเดียวเท่านั้น

๒. คันธะมัตตารัมมะณะระสัง มีอารมณ์เฉพาะคันธารมณ์เท่านั้น เป็นกิจ หมายความว่า ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวงนี้ ไม่สามารถรับรู้อารมณ์อย่างอื่นได้ คือ จะไปรับรู้รูปารมณ์ สัททารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ หรือธัมมารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นไม่ได้ ย่อมรับได้เฉพาะคันธารมณ์คือกลิ่นต่าง ๆ เท่านั้น

๓. คันธาภิมุขะภาวะปัจจุปปัฏฐานัง มีการมุ่งตรงเฉพาะต่อกลิ่นเท่านั้น เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวงนี้ ดวงใดดวงหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมมุ่งหน้าในการรับคันธารมณ์เท่านั้น จะไม่มุ่งหน้าไปหารับอารมณ์อื่นที่นอกจากคันธารมณ์นี้เลย คือ เมื่อคันธารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์อันเป็นผลของอกุศลกรรมปรากฏเกิดขึ้นทางฆานทวารแล้ว ฆานวิญญาณจิตที่เป็นอกุศลวิบากก็จะเกิดขึ้นและมุ่งหน้าต่อคันธารมณ์อันไม่น่าปรารถนานั้น เมื่อคันธารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ [ทั้งที่เป็นอติอิฏฐารมณ์คือกลิ่นอันน่าปรารถนาอย่างยิ่งก็ดี หรืออิฏฐมัชฌัตตารมณ์ คือ กลิ่นอันน่าปรารถนาระดับปานกลางก็ดี] อันเป็นผลของกุศลกรรมปรากฏเกิดขึ้นทางฆานทวารแล้ว ฆานวิญญาณจิตที่เป็นกุศลวิบากก็จะเกิดขึ้นและมุ่งหน้าต่อคันธารมณ์อันน่าปรารถนานั้นซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของวิปากจิตนั้น

๔. คันธารัมมะณายะ ก๎ริยามะโนธาตุยา อะปะคะมะปะทัฏฐานัง มีการแผ่ออกไปแห่งกิริยามโนธาตุซึ่งมีกลิ่นเป็นอารมณ์ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า เมื่อคันธารมณ์ปรากฏขึ้นทางฆานทวารแล้ว ภวังคจิตหวั่นไหวตอบสนองต่อคันธารมณ์นั้นและตัดกระแสภวังค์ขาดแล้ว ปัญจทวาราวัชชนจิต อันได้ชื่อว่า กิริยามโนธาตุ ย่อมเกิดขึ้นเป็นจิตดวงแรกในฆานทวารวิถีนั้น ทำการหน่วงเหนี่ยวคันธารมณ์นั้นมาสู่ฆานทวารวิถี โดยทำการพิจารณาว่าเป็นคันธารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วส่งให้ฆานวิญญาณจิตรับรู้ต่อไป คือ ถ้าเป็นคันธารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ ก็ส่งให้ฆานวิญญาณจิตที่เป็นกุศลวิบากรับไป ถ้าเป็นคันธารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ก็ส่งให้ฆานวิญญาณจิตที่เป็นอกุศลวิบากรับไป ฉะนั้น ฆานวิญญาณจิตทั้ง ๒ ดวงนี้ จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นแผ่ออกรับคันธารมณ์นั้นมาพิจารณาก่อน ฆานวิญญาณจิตนี้ จึงจะเกิดขึ้นรับรู้คันธารมณ์นั้นต่อไปได้

อนึ่ง ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวงนี้ เป็นอเหตุกจิต เนื่องจากเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง มีโลภเหตุ เป็นต้นเกิดร่วมด้วยเลย แต่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการประชุมพร้อมกันแห่งปัจจัย ๔ ประการ เรียกว่า อุปัตติเหตุ ได้แก่

๑. ฆานะปะสาโท มีประสาทจมูกดี

๒. คันธารัมมะณัง มีคันธารมณ์ คือ กลิ่นมาปรากฏเฉพาะหน้า

๓. วาโยธาตุ มีวาโยธาตุ [ธาตุลม] พัดพาเข้าไปที่ประสาทจมูก

๔. มะนะสิกาโร มีความสนใจที่จะสูดดม [ปัญจทวาราวัชชนจิตหน่วง เหนี่ยวอารมณ์ คือ ชักดึงคันธารมณ์มาสู่ฆานทวาร]

เมื่อสมบูรณ์พร้อมด้วยปัจจัย ๔ ประการนี้แล้ว การรู้กลิ่นก็เกิดขึ้นได้อย่างบริบูรณ์ ถ้าบกพร่องไปด้วยปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ประสาทจมูกไม่ค่อยดี คันธารมณ์นั้นอยู่ไกลหรือใกล้เกินไป ลมพัดมากระทบเบาเกินไป หรือไม่ได้ใส่ใจต่อคันธารมณ์นั้น ดังนี้เป็นต้นแล้ว ประสิทธิภาพของการรู้กลิ่นก็ลดน้อยลงไป ถ้าขาดปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งไป เช่น ประสาทจมูกเสียหรือถูกปิดกั้นไว้จนแนบสนิท ไม่มีคันธารมณ์ปรากฏ ไม่มีธาตุลมพัดพามากระทบประสาทจมูก หรือไม่ได้ใส่ใจต่อคันธารมณ์นั้นเลยหรือนอนหลับสนิท ดังนี้เป็นต้นแล้ว การรู้กลิ่นก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย นี้เรียกว่า อุปัตติเหตุทางฆานทวาร ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสอนให้กำหนดว่า รู้กลิ่นก็สักแต่ว่ารู้กลิ่น เพราะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยเหล่านี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจบังคับบัญชา หรือคำบงการของใครทั้งสิ้น ไม่มีใครบังคับบัญชาให้รู้กลิ่นหรือไม่ให้รู้กลิ่นได้ ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรารู้กลิ่นหรือใครรู้กลิ่น เพียงแต่เป็นสภาพของนามธรรมที่ได้เหตุปัจจัยครบแล้วเกิดการรู้กลิ่นเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |