| |
การรู้อารมณ์ของวิญญาณธาตุทั้ง ๗   |  

๑. ปัญจวิญญาณธาตุ ๑๐ รู้อารมณ์ได้เฉพาะของตน ๆ จึงชื่อว่า รู้ได้ปานกลาง เพราะวัตถุที่อาศัยเกิดนั้นมีกำลังอ่อน และยังไม่ได้ปัจจัยสนับสนุนจากจิตที่มีกำลัง หมายความว่า ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ นั้น เป็นจิตที่อาศัยวัตถุรูป ๕ เกิด ได้แก่ จักขุวิญญาณจิต ๒ อาศัยจักขุวัตถุเกิด โสตวิญญาณจิต ๒ อาศัยโสตวัตถุเกิด ฆานวิญญาณจิต ๒ อาศัยฆานวัตถุเกิด ชิวหาวิญญาณจิต ๒ อาศัยชิวหาวัตถุเกิด และกายวิญญาณจิต ๒ อาศัยกายวัตถุเกิด ซึ่งวัตถุรูปทั้ง ๕ นี้ เป็นรูปที่มีกำลังอ่อนกว่าหทยวัตถุ และทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวงนี้ เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพียงเพื่อทำการรับรู้อารมณ์โดยเฉพาะของตน ๆ ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาส่งมาให้พร้อมแล้วเท่านั้น ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวงใดดวงหนึ่งนี้ เพียงแต่ทำการรับรู้อารมณ์นั้นเท่านั้น แล้วสัมปฏิจฉนจิต ย่อมรับต่อไปส่งให้สันตีรณจิตไต่สวนพิจารณา อนึ่ง ปัญจทวาราวัชชนจิตนั้น ก็เป็นอเหตุกจิต และเป็นจิตที่เกิดขึ้นเป็นดวงแรกในทวารวิถี ซึ่งยังไม่ได้ปัจจัยสนับสนุนจากจิตดวงอื่น ๆ จึงเป็นจิตที่มีกำลังน้อยอยู่แล้ว ฉะนั้น จึงไม่สามารถเป็นปัจจัยสนับสนุนแก่ทวิปัญจวิญญาณจิตได้ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวงนั้น รับรู้อารมณ์ได้เฉพาะของตน ๆ กล่าวคือ จักขุวิญญาณจิต ๒ รับรู้รูปารมณ์ได้อย่างเดียว โสตวิญญาณจิต ๒ รับรู้สัททารมณ์ได้อย่างเดียว ฆานวิญญาณจิต ๒ รับรู้คันธารมณ์ได้อย่างเดียว ชิวหาวิญญาณจิต ๒ รับรู้รสารมณ์ได้อย่างเดียว และกายวิญญาณจิต ๒ รับรู้โผฏฐัพพารมณ์ได้อย่างเดียว และเป็นจิตที่รับรู้อารมณ์ในขณะปัจจุบันเท่านั้น แต่เป็นจิตที่อาศัยวัตถุรูปนั้นเกิด และอาศัยวัตถุรูปนั้นเป็นทวารในการรับรู้อารมณ์นั้นด้วย จึงสามารถรับรู้อารมณ์ได้ด้วยกำลังระดับปานกลาง เปรียบเหมือนคนชราทุพพลภาพมากแล้ว ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ คอยรับแต่อาหารที่เขานำมาให้ถึงที่อยู่เท่านั้น คนชรานั้นจึงสามารถบริโภคได้เพียงอาหารที่เขานำมาให้ถึงที่อยู่เท่านั้น จะไปแสวงหาอาหารอื่นตามที่ตนต้องการก็ไม่ได้อีก ข้อนี้ฉันใด ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ นี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาศัยเกิดอยู่ที่วัตถุรูปของตนและคอยรับอารมณ์อยู่ที่วัตถุรูปของตนนั่นเอง ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตส่งมาให้พร้อมแล้ว ไม่ได้ขวนขวายไปรับรู้อารมณ์อื่น ๆ เลย จึงชื่อว่า รับรู้อารมณ์ได้ระดับปานกลาง

๒. มโนธาตุ ๓ รู้ปัญจารมณ์ได้ แต่รู้อารมณ์ได้น้อยที่สุด หมายความว่า มโนธาตุจิต ๓ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สัมปฏิจฉนจิต ๒ นั้น เป็นจิตที่มีกำลังอ่อนมาก ทั้งนี้ เป็นเพราะปัญจทวาราวัชชนจิตนั้น เป็นจิตดวงแรกที่เกิดขึ้นในวิถีทางปัญจทวาร ยังไม่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจิตดวงอื่น ๆ ในวิถีจิตด้วยกัน จึงทำให้มีกำลังน้อย ส่วนสัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวงนั้น เป็นจิตที่มีหน้าที่ในการรับรู้อารมณ์น้อย เพราะเพียงแต่รับอารมณ์จากปัญจวิญญาณจิตแล้วส่งให้สันตีรณจิตไต่สวนต่อไปเท่านั้น ไม่ได้ทำการขวนขวายอย่างอื่นเลย และมโนธาตุจิตทั้ง ๓ ดวงนั้น อาศัยวัตถุเกิดอีกที่หนึ่ง แต่ไปรับอารมณ์อีกที่หนึ่ง กล่าวคือ อาศัยหทยวัตถุเกิด แต่ไปรับรู้อารมณ์ที่ปัญจทวาร จึงทำให้กำลังในการรับอารมณ์มีลดน้อยลงไป เปรียบเหมือนบุคคลที่อาศัยอยู่อีกที่หนึ่ง แต่ไปทำงานอีกที่หนึ่ง ทำให้เหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง ประสิทธิภาพในการทำงานก็ลดน้อยลงไปด้วย

๓. มโนวิญญาณธาตุ ๗๖ [คือจิตที่เหลือทั้งหมด เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ มโนธาตุ ๓] เป็นจิตที่สามารถรู้อารมณ์ได้มากที่สุด เพราะได้ปัจจัยสนับสนุนจากจิตดวงก่อน ๆ หมายความว่า มโนวิญญาณธาตุทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นทางทวาร ๖ นั้น เป็นจิตที่ทำหน้าที่อยู่ในระหว่างกึ่งกลางของวิถีจิต จึงทำให้ได้ปัจจัยสนับสนุนจากจิตดวงก่อน ๆ ในวิถีเดียวกันนั้น คือ ในทางปัญจทวารนั้น สันตีรณจิตได้รับปัจจัยสนับสนุนจากปัญจวิญญาณธาตุและมโนธาตุ โวฏฐัพพนจิตได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสันตีรณจิตและจิตดวงก่อน ๆ นั้นมาตามลำดับ ส่วนชวนจิตนั้น เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการเสพอารมณ์อย่างเต็มที่ จึงทำให้มีกำลังมากเป็นพิเศษกว่าจิตที่ทำหน้าที่อย่างอื่น ส่วนตทาลัมพนจิตนั้น แม้จะเป็นจิตที่ทำการเสพอารมณ์เหมือนกับชวนจิตก็ตาม แต่เป็นเพียงการเสพเศษเดนอารมณ์ที่เหลือจากชวนจิตเท่านั้น ซึ่งกำลังของอารมณ์เหลือน้อยลงแล้ว จึงเป็นจิตที่มีกำลังอ่อนลง อนึ่ง จิตที่จะมีกำลังมากเป็นพิเศษนั้น ต้องเป็นชวนจิตที่มีชาติเดียวกันเป็นปัจจัยสนับสนุนซึ่งกันและกัน ที่เรียกว่า อาเสวนปัจจัย จึงจะเป็นจิตที่มีกำลังมากเป็นพิเศษได้ กล่าวคือ เป็นกุศลชาติอย่างเดียวกัน เป็นอกุศลชาติอย่างเดียวกัน หรือเป็นกิริยาชาติอย่างเดียวกันเท่านั้น ส่วนที่เหลือนอกนั้น กำลังก็น้อยไปตามสภาพของตน อนึ่ง มโนวิญญาณธาตุทั้งหมดนี้ เป็นจิตที่อาศัยหทยวัตถุเกิด [ยกเว้นอรูปวิปากจิต ๔ และจิตของบุคคลที่เกิดอยู่ในอรูปภูมิ ๔ ที่ไม่ต้องอาศัยหทยวัตถุรูปเกิด แต่อาศัยมโนทวารเกิดอย่างเดียว] และเป็นจิตที่เกิดทางมโนทวาร คือ อาศัยภวังคจิตเป็นช่องทางในการรับรู้อารมณ์ หทยวัตถุรูปนั้น เป็นกัมมชรูปที่มีกำลังมากเป็นพิเศษกว่ากัมมชรูปอื่น ๆ จึงสามารถเป็นที่อาศัยเกิดที่มีกำลังมากได้ และภวังคจิตนั้น เป็นนามทวาร ซึ่งเป็นทวารที่มีกำลังมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีสภาพเดียวกันกับวิถีจิต คือ เป็นนามธรรมด้วยกัน ย่อมมีกำลังมากกว่านามธรรมที่อาศัยรูปธรรมเกิด ฉะนั้น จิตที่เกิดทางมโนทวารย่อมมีกำลังมากเป็นพิเศษกว่าจิตที่เกิดทางปัญจทวาร ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ จึงสรุปได้ว่า มโนวิญญาณธาตุทั้งหลาย ย่อมเป็นจิตที่มีกำลังในการรับรู้อารมณ์ได้มากที่สุด กว่าวิญญาณธาตุที่เหลือทั้ง ๖ อย่างนั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |