| |
ลักขณาทิจตุกะของโทสเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของโทสเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ซึ่งไม่เหมือนกับเจตสิกอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. จัณฑิกกะลักขะโณ มีการทำกายและใจให้หยาบกระด้าง เป็นลักษณะ หมายความว่า สภาพของโทสเจตสิกนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนมีสภาพหยาบกระด้าง ไม่อ่อนน้อมถ่อมตนต่อบุคคลหรือสิ่งที่ตนไม่ชอบใจ คือ มีความเป็นปฏิปักษ์ต่อบุคคลนั้นหรือสิ่งนั้น อีกนัยหนึ่ง โทสเจตสิกนี้มีความดุร้าย เป็นลักษณะ เหมือนอสรพิษที่ถูกตี หมายความว่า สภาพของโทสเจตสิกนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมทำให้จิตใจมีอาการดุร้าย ด้วยอำนาจประทุษร้ายหรือผลักไสจิตให้พ้นจากบุคคลหรือสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ หรือมุ่งทำลายบุคคลหรือสิ่งที่ตนไม่ชอบนั้นให้พินาศวอดวายหรือให้พ้นไปจากคลองแห่งทวารนั้น ๆ ของตน ได้แก่ การประทุษร้ายรูปให้พ้นไปจากคลองแห่งจักขุทวาร ประทุษร้ายเสียงให้พ้นไปจากคลองแห่งโสตทวาร เป็นต้น เป็นสภาวะลักษณะของโทสเจตสิก

๒. นิสสะยะ ฑะหะนะระโส วา วิสัปปะนะระโส มีการเผาที่อยู่ของตน [คือหทยวัตถุ] เป็นกิจ เหมือนไฟไหม้ป่า หมายความว่า เมื่อโทสะเกิดขึ้นแล้ว ย่อมสามารถทำลายที่อาศัยของตน ได้แก่ หทยวัตถุ คือ หัวใจ ให้หมดกำลังลงหรือทำให้ขาดความสืบต่อไปได้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่บุคคลโกรธ อาการเต้นของหัวใจย่อมจะมีความถี่เกินปกติ อันแสดงถึงการกระตุ้นหัวใจให้ทำงานเกินปกติ และเมื่อบุคคลมีอาการโกรธหรือหงุดหงิดใจ หรือมีอาการกลัวอย่างสุดขีด หัวใจอาจหยุดเต้น หรือเกิดอาการหัวใจล้มเหลวได้ และถ้าบุคคลมักเป็นคนโกรธ หงุดหงิด หรือมักหวาดวิตก อยู่เสมอ จนกลายเป็นคนโทสจริต ย่อมมีส่วนทำให้เกิดโรคหัวใจได้ อีกนัยหนึ่ง โทสเจตสิกนี้ย่อมมีความกระสับกระส่าย เป็นกิจ เหมือนถูกวางยาพิษ หมายความว่า เมื่อโทสเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้จิตมีสภาพกระสับกระส่าย ไม่สงบเยือกเย็น มีความเร่าร้อนดุจอสรพิษที่ถูกตีทำให้แสดงอาการโกรธและขู่ที่จะโต้ตอบผู้ทำร้าย หรือบุคคลที่อยู่ใกล้ บุคคลผู้ถูกโทสะครอบงำ ย่อมมีความกระสับกระส่าย กระวนกระวาย เดือดเนื้อร้อนใจอยู่ไม่เป็นสุข ไม่อาจระงับความรู้สึกให้สงบลงได้ [เพราะโทสเจตสิกประกอบกับโทสมูลจิตซึ่งจัดเป็นมโนวิญญาณธาตุที่ต้องอาศัยหทยวัตถุเกิดโดยแน่นอน ไม่สามารถเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยหทยวัตถุ หรือไม่เกิดกับบุคคลที่ไม่มีหทยวัตถุรูป ได้แก่ อรูปพรหม]

๓. ทุสสะนะปัจจุปปัฏฐาโน มีการประทุษร้าย เป็นอาการปรากฏ เหมือนศัตรูที่ได้โอกาส หมายความว่า สภาพของโทสเจตสิกนี้ย่อมมีผลกระทบทางด้านร่างกายและจิตใจ พระโยคีบุคคลที่พิจารณาโดยถี่ถ้วนแล้ว ย่อมทราบได้ว่า โทสะ นี้คือ ศัตรูที่กำลังทำร้ายร่างกายและจิตใจให้สูญเสียและย่อยยับไป บุคคลที่ถูกโทสะครอบงำอยู่เสมอ ร่างกายย่อมเศร้าหมอง อ่อนแอ เป็นบ่อเกิดของโรคทั้งหลาย และอาการแก่ชราย่อมปรากฏเร็วเกินกว่าวัย นอกจากนี้ จิตใจของบุคคลผู้เจ้าโทสะย่อมผิดปกติไปจากบุคคลทั้งหลาย เป็นผู้ที่บุคคลทั้งหลายคบหาสมาคมด้วยได้ยาก ไว้วางใจได้ยากและไม่ต้องการเข้าใกล้ ไม่อยากคบหาสมาคมด้วย เพราะบุคคลผู้มีโทสจริตนั้นย่อมมีจิตใจไม่ปกติอาจประทุษร้ายบุคคลที่เข้าใกล้ หรือทำลายสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวได้เสมอ เมื่อเกิดความโกรธหรือไม่พอใจขึ้นมา

๔. อาฆาตะวัตถุปะทัฏฐาโน มีวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาต เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า โทสเจตสิกนี้ย่อมมีอาฆาตวัตถุ คือ เรื่องราวหรือสิ่งที่ทำให้เกิดความโกรธอาฆาตเป็นบ่อเกิด ด้วยเหตุนี้ ถ้าบุคคลนั้นอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลหรือวัตถุสิ่งของที่ตนเองไม่ชอบใจแล้ว ย่อมเกิดความโกรธความไม่พอใจขึ้นได้บ่อย ๆ แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งไม่ควรถือเอาเป็นสาระก็ตาม แต่เพราะความไม่ชอบ ก็มักจะถือเอาเป็นเหตุให้ความโกรธความไม่พอใจเกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ จนสั่งสมกำลังของโทสะให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น จากความไม่ชอบใจ ก็กลายเป็นความอาฆาตพยาบาทและจองเวรขึ้นมา จนเป็นเหตุให้เกิดการประทุษร้ายก่อกรรมทำเข็ญกับบุคคลที่ตนไม่ชอบ หรือทำลายสิ่งที่ตนไม่ชอบใจนั้นให้พังพินาศย่อยยับไป ด้วยเหตุนี้ ถ้าบุคคลใดไม่ต้องการให้ความโกรธเกิดขึ้น ก็ต้องหลีกเลี่ยงบุคคลหรือสิ่งของที่ตนไม่ชอบใจเสียให้ห่างไกล จะได้ไม่ต้องพบเห็นบุคคลหรือสิ่งนั้น ความโกรธก็จะไม่เกิดขึ้น

โทสเจตสิกนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีสภาพดุร้าย เหมือนอสรพิษที่ถูกตี มีความกระสับกระส่ายเหมือนถูกวางยาพิษ หรือมีการเผาที่อาศัยของตน เหมือนไฟไหม้ป่า มีการประทุษร้ายตนเหมือนศัตรูที่ได้โอกาส และโทสะนี้ย่อมอาศัยวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาต เป็นต้นเหตุให้เกิด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |