| |
อกุศลฉันทะ ๓ อย่าง   |  

๑. กามฉันทะ หมายถึง ความยินดีพอใจในกามคุณอารมณ์ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ และธรรมารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยกามอารมณ์ เมื่อเกิดขึ้นบ่อย ๆ ย่อมทำให้มีกำลังแรงกล้ายิ่งขึ้น จนกลายเป็นความทะยานอยากดิ้นรน เพื่อให้ได้มาซึ่งอารมณ์อันน่าใคร่น่าพอใจนั้น เมื่อได้มาสมความปรารถนา ย่อมหลงใหลคลั่งไคล้ติดใจ ถ้าไม่ได้สมความปรารถนา ย่อมมีอาการบ่นเพ้อครวญหา และเก็บกดความรู้สึกทะยานอยากนั้น จนกลายเป็นปมด้อยของจิตใจไปก็มี

๒. ฉันทาคติ หมายถึง ความลำเอียงเพราะอำนาจความชอบพอกัน เช่น การเข้าข้างคนผิด ทำให้เสียความยุติธรรมในทางวัฒนธรรมประเพณี ศีลธรรม กฎหมายของบ้านเมือง ตลอดถึงพระธรรมวินัยทางศาสนา ทำให้เกิดความปั่นป่วนในสังคม หรือการเข้าข้างตนเอง เข้าข้างคนที่ตนรัก แม้ตนเองหรือคนที่ตนรักจะทำผิด ก็เห็นว่า ไม่เป็นอะไร สามารถให้อภัยได้ จนทำให้ตนเองหรือบุคคลผู้เป็นที่รักนั้นนิสัยเสีย กลายเป็นคนทุจริตในสังคม หรือเป็นกบฏต่อตนเอง กบฏต่อศีลธรรม กบฏต่อวัฒนธรรมประเพณี กบฏต่อกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความอยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้น

๓. ฉันทราคะ หมายถึง ความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี เมื่อบุคคลขาดความสำรวมกาย วาจา ปล่อยไปตามอำนาจกิเลสตัณหา เมื่อได้ทำ ได้พูด ได้คิด ในสิ่งใด หรือในเรื่องใดบ่อย ๆ แล้ว ย่อมทำให้เกิดความคุ้นเคย เพลิดเพลิน ติดเป็นนิสัย ละเลิกได้ยาก เมื่อได้ทำ ได้พูด หรือได้คิดในสิ่งนั้น หรือในเรื่องนั้น ดังใจปรารถนา ย่อมยินดีเพลิดเพลิน เมื่อไม่ได้ทำ ไม่ได้พูด หรือไม่ได้คิด ในสิ่งนั้น ในเรื่องนั้น ทำให้เกิดความหงุดหงิด รำคาญใจ ไม่เป็นอันทำกิจการงานต่าง ๆ ต้องดิ้นรนไปทำ ไปพูด ไปคิดสิ่งนั้น หรือเรื่องนั้นอยู่เสมอ จึงเรียกว่า คนนิสัยเสีย

ฉันทะทั้ง ๓ ประการนี้ ได้แก่ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นธรรมชาติที่มีความยินดีพอใจ หลงใหล คลั่งไคล้ในอารมณ์ต่าง ๆ อันเป็นความปรารถนาที่บุคคลต้องการเสพคุ้นอยู่เสมอ ๆ ยากที่จะละเลิกและแก้ไขได้ ต้องมีปัญญาและรู้สึกตัวฝืนใจฝึกฝนตนเอง จึงจะสามารถแก้ไขนิสัยนั้นได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |