| |
จำแนกอกุศลจิต ๑๒ โดยเภทนัย ๙   |  

จำแนกโดยชาติเภทนัย อกุศลจิต ๑๒ ดวงทั้งหมด จัดเป็นอกุศลชาติ เพราะมีสภาพเป็นความขุ่นมัวเศร้าหมอง ทำให้เร่าร้อน และให้ผลเป็นความทุกข์

จำแนกโดยภูมิเภทนัย อกุศลจิต ๑๒ ทั้งหมด จัดเป็นกามาวจรภูมิ หรือกาม อวัตถาภูมิ คือ ภูมิชั้นของจิตที่ถูกกำหนดขอบเขตด้วยกามตัณหา เพราะเกี่ยวเนื่องกับการรับกามอารมณ์ และเกิดกับกามบุคคลโดยมาก

จำแนกโดยโสภณเภทนัย อกุศลจิต ๑๒ ทั้งหมด จัดเป็นอโสภณจิต เพราะเป็นจิตที่ไม่ดีไม่งาม มีโทษ และให้ผลเป็นความทุกข์

จำแนกโดยโลกเภทนัย อกุศลจิต ๑๒ ทั้งหมด จัดเป็นโลกียจิต เพราะเป็นจิตที่รับอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก

จำแนกโดยเหตุเภทนัย อกุศลจิต ๑๒ ทั้งหมด จัดเป็นสเหตุกจิต เพราะเป็นจิตที่เกิดพร้อมด้วยเหตุ คือ

โลภมูลจิต ๘ เกิดพร้อมด้วย โลภเหตุ และ โมหเหตุ

โทสมูลจิต ๒ เกิดพร้อมด้วย โทสเหตุ และ โมหเหตุ

โมหมูลจิต ๒ เกิดพร้อมด้วย โมหเหตุ อย่างเดียว

จำแนกโดยฌานเภทนัย อกุศลจิต ๑๒ ทั้งหมด จัดเป็นอฌานจิต เพราะเจตสิกที่ประกอบกับอกุศลจิตนั้น มีกำลังอ่อน ไม่เข้าถึงความเป็นองค์ฌานเลย เนื่องจากถูกเจตสิกที่เป็นตัวนิวรณ์ ได้แก่ โลภะ โทสะ ถีนะ มิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ และวิจิกิจฉาซึ่งมีกำลังมากกว่า เข้าครอบงำอยู่

จำแนกโดยเวทนาเภทนัย อกุศลจิต ๑๒ มีเวทนา ๓ อย่าง คือ

เป็นโสมนัสสเวทนา ๔ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิตที่เป็นโสมนัสสสหคตจิต ๔

เป็นโทมนัสสเวทนา ๒ ดวง ได้แก่ โทสมูลจิต ๒

เป็นอุเบกขาเวทนา ๖ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิตที่เป็นอุเบกขาสหคตจิต ๔ และโมหมูลจิต ๒

จำแนกโดยสัมปโยคเภทนัย อกุศลจิต ๑๒ เป็น สัมปยุตตจิต ๘ ดวง และ เป็นวิปปยุตตจิต ๔ ดวง คือ

เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ ดวงได้แก่ โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔

เป็นปฏิฆสัมปยุตตจิต ๒ ดวง ได้แก่ โทสมูลจิต ๒

เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑ ดวง ได้แก่ โมหมูลจิต ดวงที่ ๑

เป็นอุทธัจจสัมปยุตตจิต ๑ ดวง ได้แก่ โมหมูลจิต ดวงที่ ๒

เป็นวิปปยุตตจิต ๔ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔

จำแนกโดยสังขารเภทนัย อกุศลจิต ๑๒ เป็นอสังขาริกจิต ๗ ดวง เป็นสสังขาริกจิต ๕ ดวง คือ

อสังขาริกจิต ๗ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิต ดวงที่ ๑ ดวงที่ ๓ ดวงที่ ๕ ดวงที่ ๗ โทสมูลจิต ดวงที่ ๑ และโมหมูลจิต ๒ ดวง

สสังขาริกจิต ๕ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิต ดวงที่ ๒ ดวงที่ ๔ ดวงที่ ๖ ดวงที่ ๘ และโทสมูลจิต ดวงที่ ๒


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |