| |
การประหาณโทสะโดยตทังคปหาน ๖ ประการ   |  

การที่บุคคลจะสามารถระงับโทสะไม่ให้เกิดขึ้นมาประทุษร้ายจิตใจในชีวิตประจำวันได้นั้น ย่อมประหาณด้วยเหตุปัจจัย ๖ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างดังต่อไปนี้

๑. เมตตานิมิตตัสสะ อุคคะโห หมั่นสำเหนียกศึกษาในเครื่องหมายและแนวทางในการเจริญเมตตา หมายความว่า เมตตาพรหมวิหารนั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อโทสะ ฉะนั้น เมื่อบุคคลเป็นผู้มากด้วยโทสะ ความประทุษร้าย ความขุ่นเคือง ต้องศึกษาเรียนรู้ในวิธีการเจริญเมตตา เพื่อบรรเทาโทสะให้เบาบางลง และตัดกำลังไม่ให้เกิดขึ้นพอกพูนในสันดาน ทำให้ลดอุปนิสัยแห่งผู้มีโทสะให้น้อยลงไป กลายเป็นบุคคลผู้มีอุปนิสัยเยือกเย็น และมีเมตตากรุณาประจำสันดานต่อไป

๒. เมตตาภาวะนานุโยโค หมั่นประกอบในเมตตาภาวนาเนือง ๆ หมายความว่า บุคคลผู้มีโทสะเป็นเจ้าเรือนนั้น มักโกรธและหงุดหงิด หรืออาฆาตพยาบาทจองเวรได้ง่าย แม้จะเป็นความไม่พอใจเล็กน้อย หรือเรื่องราวความเข้าใจผิด ก็ทำให้เกิดความโกรธอาฆาตพยาบาทจองเวรได้ ฉะนั้น เมื่อรู้ตนเองเช่นนี้ ต้องหมั่นนึกถึงเมตตาภาวนาอยู่เสมอ ๆ ไม่ให้เผลอสติได้ เมื่อหมั่นเจริญอยู่เนือง ๆ ก็สามารถที่จะบรรเทาโทสะให้เบาบางลง กลายเป็นบุคคลผู้มีอุปนิสัยเยือกเย็นลง มีสติยั้งคิดเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยเหตุโดยผล ทำให้เป็นคนมีเหตุมีผล ไม่เป็นคนเจ้าโทสะ

๓. กัมมัสสะกะตาปัจจะเวกขะโณ พิจารณาเนือง ๆ ว่า สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของของตน หมายความว่า การหมั่นพินิจพิจารณาในเรื่องกฎแห่งกรรมอยู่เนืองๆ ย่อมสามารถบรรเทาโทสะให้สงบลงและเบาบางลงไปได้ โดยพิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลาย ล้วนมีกรรมเป็นของของตน ใครทำกรรมอันใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม เขาจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นเอง ไม่มีใครสามารถรับแทนใครได้ และไม่มีใครสามารถทำแทนใครได้ ความบริสุทธิ์และความไม่บริสุทธิ์เป็นของจำเพาะตน บุคคลอื่นไม่สามารถทำบุคคลอื่นให้เศร้าหมองหรือบริสุทธิ์ได้ ดังนี้เป็นต้น ก็ทำให้เป็นคนมีเหตุผล มีสติยั้งคิดตริตรองในเรื่องกฎแห่งกรรม ทำให้เป็นผู้มีจิตใจเยือกเย็นลง คลายจากนิสัยโทสะลงได้

๔. ปะฏิสังขานะพะหุลีกะตา ทำให้มากด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอย่างรอบคอบ หมายความว่า เป็นบุคคลผู้หมั่นพิจารณาให้รอบคอบ มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล พิจารณาให้เข้าใจอย่างละเอียดลึกซึ้งในเรื่องแห่งสังสารวัฏฏ์ โดยพิจารณาว่า บุคคลที่ไม่เคยเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นพี่เป็นน้อง เป็นภรรยาสามีกัน เป็นต้น ซึ่งเคยมีความเกี่ยวเนื่องกันโดยเครือญาติก็ดี โดยสายใยแห่งความรักความปรารถนาดีก็ดี เป็นต้นนั้นไม่มี ล้วนแต่เคยเป็นมาแล้วทั้งนั้น แต่เพราะประพฤติไม่ดีต่อกันในชาติปางก่อน จึงกลายมาเป็นศัตรูคู่อริกัน หรือเพราะประพฤติดีต่อกันจึงกลายมาเป็นญาติสนิทมิตรสหาย คนที่รักกัน วนเวียนอยู่เช่นนี้ ในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน บุคคลที่เราโกรธอาฆาตพยาบาทจองเวรนี้ ก็อาจจะเคยเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นพี่ เป็นน้อง เกี่ยวเนื่องกันโดยสายเลือด หรือเกี่ยวพันกันด้วยสายใยแห่งความรัก เคยมีอุปการะต่อเราอันใหญ่หลวงมาก็เป็นได้ ดังนี้เป็นต้น เมื่อหมั่นพิจารณาอย่างนี้อยู่เนือง ๆ ย่อมสามารถบรรเทาโทสะให้ลดน้อยลงไป กลายเป็นผู้มีความเมตตาปรานีต่อกัน มีมิตรไมตรีต่อกันได้

๕. กัลยาณะมิตตะตา คบหาสมาคมกับมิตรที่ดีมีเมตตาธรรม หมายความว่า ความโกรธความอาฆาตพยาบาทจองเวรบางอย่างไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตนเอง แต่เกิดจากมิตรสหายที่เป็นอันธพาล เช่น จากกลุ่มเพื่อนร่วมงาน องค์กร สถาบัน สังคม และประเทศชาติ เป็นต้น ยุแหย่ให้เกิดขึ้น ทำให้เกิดการอาฆาตพยาบาทจองเวรต่อบุคคลฝ่ายตรงข้าม ทั้งที่ตนเองไม่เคยรู้จัก กลายเป็นศัตรูกันเพราะเหตุปัจจัยแวดล้อม เมื่อบุคคลพยายามคบหาสมาคมกับบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร ผู้มีความคิดอ่านที่สุขุมคัมภีรภาพ มีเหตุมีผล ชี้ให้เห็นสาเหตุของความบาดหมาง และโทษภัยของการจองล้างจองผลาญกัน เป็นต้น ย่อมสามารถบรรเทาโทสะให้คลายลงได้ หรือแม้จะเป็นความโกรธอาฆาตเรื่องส่วนตัว แต่เมื่อได้คบหาสมาคมกับกัลยาณมิตรแล้ว ท่านเหล่านั้นก็สามารถชี้แจงเหตุผลให้เห็นโทษของความโกรธอาฆาตพยาบาทจองเวรและคุณแห่งความมีเมตตากรุณาได้ ทำให้บุคคลนั้นเกิดสติปัญญา มีความยั้งคิดพิจารณาให้รอบคอบขึ้น แล้วสามารถบรรเทาความโกรธอาฆาตให้เบาบางและสงบลงได้

๖. สัปปายะกะถา ได้ฟังแต่ถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ หมายความว่า บุคคลที่มีความโกรธอาฆาตพยาบาทจองเวร หรือมีโทสะเป็นเจ้าเรือน เมื่อได้ฟังเมตตากถา คือ คำพูดที่พรรณนาคุณของการเจริญเมตตา หรืออานิสงส์แห่งการมีเมตตากรุณาอยู่เนือง ๆ ย่อมสามารถทำให้คลายจากความโกรธอาฆาตพยาบาทชิงชังนั้นได้ และทำให้เป็นคนมีเหตุผล มีความสุขุมเยือกเย็นลงได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |