| |
ประเภทของปถวีธาตุ   |  

ปถวี มี ๔ อย่าง

คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๕๗ อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ เป็นต้น ได้แสดงประเภทของปถวีธาตุไว้ดังนี้

๑. ปรมัตถปถวี หรือ ลักขณปถวี คือ สภาพของปถวีธาตุที่แสดงลักษณะแข็งหรืออ่อนให้พิสูจน์ได้ด้วยการสัมผัสถูกต้อง โดยมีสภาวลักษณะ ๒ ประการ คือ

๑] กักขฬลักขณะ หรือ ขรภาวะ คือ สภาวลักษณะแข็ง เรียกว่า กักขฬปถวี

๒] มุทุลักขณะ คือ สภาวลักษณะที่อ่อน เรียกว่า มุทุปถวี

ปถวีธาตุตามความหมายนี้ มุ่งหมายถึงธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งความแข็งและความอ่อน ซึ่งเป็นสภาวะลักษณะของธาตุดิน จึงเรียกว่า ปรมัตถปถวี หรือ ลักขณปถวี

ปถวีธาตุนี้เป็นสภาวะที่ไม่สามารถมองเห็นได้โดยจักขุทวารวิถี เป็นต้น แต่สามารถกระทบสัมผัสโดยกายทวารวิถีได้ หมายความว่า การที่เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ นั้น เป็นการเห็นสีแห่งธาตุต่าง ๆ รวมกันเป็นปรมาณู และหลาย ๆ ปรมาณูรวมกันเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นแท่ง เป็นชิ้น และปรมาณูที่รวมกันนั้น ๆ ก็ทึบแสง คือ แสงผ่านทะลุไปไม่ได้ จึงปรากฏเห็นเป็นสีต่าง ๆ เรียกสีต่าง ๆ ที่เห็นนั้นว่า รูปารมณ์ ถ้าปรมาณูที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มนั้น ๆ แสงทะลุผ่านได้ ก็จะไม่ปรากฏเห็นเป็นสีต่าง ๆ เราก็จะไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะฉะนั้น ปถวีธาตุหรือปถวีรูปจึงเป็นสภาวะที่ไม่สามารถมองเห็นได้โดยจักขุทวารวิถี แต่เป็นสภาวะที่สามารถกระทบสัมผัสรู้ได้โดยกายทวารวิถี และปถวีธาตุหรือปถวีรูปนี้ เป็นรูปที่รู้ได้โดยอาศัยกายปสาทเท่านั้น ไม่สามารถรู้ได้โดยอาศัยปสาทอื่น ๆ มีจักขุปสาทเป็นต้น การที่เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ แล้วรู้ว่า สิ่งนั้นอ่อน สิ่งนั้นแข็ง เป็นการรู้โดยการคิดนึกถึงความรู้สึกที่เคยสัมผัสก็ดี เคยได้ยินได้ฟังมาก็ดี ไม่ใช่โดยความรู้สึกจริง ๆ ในขณะนั้น การรู้โดยการคิดนึกนั้น เป็นการรู้โดยอาศัยความรู้สึกในอดีตที่เคยได้กระทบสัมผัสมาแล้ว เคยรู้มาแล้วว่าแข็งหรืออ่อน เท่ากับเอาความจำในอดีตมาตัดสินการเห็นในปัจจุบัน ความจริงแล้ว ความแข็งหรือความอ่อนรู้ไม่ได้ด้วยการดู แต่รู้ได้ด้วยการสัมผัสทางกาย เรียกว่า โผฏฐัพพารมณ์

ดังนั้น ปถวีธาตุนี้จึงมีลักษณะแข็ง ถ้าวัตถุใดมีปถวีธาตุเป็นองค์ประกอบอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว วัตถุนั้นย่อมจะปรากฏเป็นความแข็งมาก เช่น เหล็ก หิน ไม้ ตะกั่ว ทอง เป็นต้น และถ้าวัตถุใดมีปถวีธาตุเป็นองค์ประกอบอยู่เป็นจำนวนน้อย ความแข็งก็จะปรากฏน้อย เมื่อสัมผัสแล้วก็จะรู้สึกว่าอ่อน เพราะความแข็งปรากฏน้อยจึงรู้สึกว่าอ่อน

๒. สสัมภารปถวี คือ ปถวีธาตุที่เป็นส่วนประกอบต่าง ๆ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุตตันตปถวี คือ ปถวีธาตุที่เรียกตามนัยแห่งพระสูตร ซึ่งกล่าวถึงส่วนประกอบของร่างกายและสิ่งต่าง ๆ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑] อัชฌัตติกปถวี คือ ธาตุดินที่เป็นส่วนประกอบของร่างกายของสัตว์มีชีวิต เรียกว่า ธาตุดินภายใน ท่านแสดงไว้ในมหาหัตถิปโทปมสูตรและธาตุวิภังคสูตร มี ๒๐ ประการ ได้แก่

๑. เกสา ผมทั้งหลาย ๒. โลมา ขนทั้งหลาย ๓. นขา เล็บทั้งหลาย ๔. ทันตา ฟันทั้งหลาย ๕. ตโจ หนัง ๖. มังสัง เนื้อ ๗. นหารู เอ็นทั้งหลาย ๘. อัฏฐี กระดูกทั้งหลาย ๙. อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก ๑๐. วักกัง ม้าม ๑๑. หทยัง หัวใจ ๑๒. ยกนัง ตับ ๑๓. กิโลมกัง พังผืด ๑๔. ปิหกัง ไต ๑๕. ปัปผาสัง ปอด ๑๖. อันตัง ไส้ใหญ่ ๑๗. อันตคุณัง ไส้น้อย ๑๘. อุท๎ริยัง อาหารใหม่ ๑๙. กรีสัง อาหารเก่า ๒๐. มัตถลุงคัง มันสมอง

๒] พาหิรปถวี คือ ธาตุดินที่เป็นส่วนประกอบของสิ่งไม่มีชีวิต เรียกว่า ดินภายนอก ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านแสดงไว้เป็นตัวอย่าง ๖ ชนิด คือ อโย เหล็ก, โลหัง ทองแดง, รชตัง เงิน, ชาตรูปัง ทอง, ภูมิ ก้อนดิน, ปาสาโณ ก้อนหิน นอกจากนี้ก็มีอีกมากมาย เช่น ก้อนกรวด ทราย แก้วแหวน เพชร นิล จินดา เป็นต้น

๓. กสิณปถวี หรือ อารัมมณปถวี คือ ดินที่พระโยคีบุคคลใช้เป็นอารมณ์ในการเพ่งบริกรรม ได้แก่ ปถวีกสิณ เพื่อเจริญสมถกรรมฐานให้เกิดสมาธิจิต ตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงสำเร็จเป็นฌานจิต ได้แก่ ดินที่เป็นบริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต ของสมาธิทั้ง ๓ ระดับ ได้แก่ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ

๔. สมมุติปถวี หรือ ปกติปถวี คือ พื้นแผ่นดินทั่วไป ที่สมมุติเรียกกันตามโวหารของชาวโลกว่า ที่ดิน แผ่นดิน หรือพื้นดินธรรมดาที่ใช้ทำเรือกสวนไร่นา เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ความหมายของธาตุดินทั้ง ๔ อย่างนี้ จึงมีความแตกต่างกันโดยความเป็นปรมัตถปถวี สสัมภารปถวี กสิณปถวี และสมมุติปถวี ดังกล่าวแล้วรุ.๕๙

ปถวีธาตุ มีธาตุ ๓ อย่างที่เหลือ เป็นปัจจัย คือ

๑. มีอาโปธาตุ เป็นตัวเกาะกุมไว้

๒. มีเตโชธาตุ เป็นผู้ตามรักษาไว้ [ความอบอุ่น]

๓. มีวาโยธาตุ เป็นตัวกระพือพัด [ถ่ายเทอากาศ]


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |