| |
สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์   |  

เหตุที่ทำเกิดวิปลาส คือ มีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิด มีความสำคัญผิดขึ้นนั้น เพราะความไม่รู้แจ้งในไตรลักษณ์ เหตุที่ทำให้ไม่รู้แจ้งในไตรลักษณ์นั้น เพราะมีสิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์ไว้ สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์นั้นไว้ มี ๓ ประการ คือ

๑. สันตติปิดบังอนิจจัง หมายความว่า สันตติ คือ ความสืบต่อของรูปนามที่เกิดดับติดต่อกันอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความดับไปของรูปนามขันธ์ ๕ เหมือนกับการที่เห็นแสงไฟที่ธูปที่บุคคลแกว่งหมุนเป็นวงกลมอย่างรวดเร็วอยู่ในที่มืด จึงไม่เห็นความขาดตอน ทำให้เห็นว่าแสงไฟนั้นติดพืดกันเป็นวงกลมไปฉะนั้น รูปนามนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อไม่เห็นความขาดตอนของรูปนาม ก็ทำให้เข้าใจผิดไปว่า รูปนามนี้ไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนเราเขา เป็นของสวยงาม น่าชื่นชมยินดี ต่อเมื่อได้กำหนดพิจารณาจนเกิดปัญญาเห็นความเกิดขึ้นและความดับไปของนามรูปอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว จึงจะทำลายนิจจวิปลาส ที่เห็นว่าเที่ยง เห็นว่ายั่งยืน และสามารถประหาณมานะลงได้ ตามสมควรแก่ปัญญาญาณนั้น ๆ

๒. อิริยาบถปิดบังทุกข์ หมายความว่า ความทุกข์ทั้งหลายโดยปกติแล้ว เป็นสิ่งที่เกิดจากอิริยาบถ เช่น นั่งนานเกินไปก็ปวดเมื่อยเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาแล้วก็ทนอยู่ไม่ได้ เดินมากเกินไปก็ปวดเมื่อยเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาแล้วก็ทนอยู่ไม่ได้ ยืนมากเกินไปก็ปวดเมื่อยเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาแล้วก็ทนอยู่ไม่ได้ แม้แต่นอนมากเกินไปก็ลำบากทนอยู่ไม่ได้เหมือนกัน การที่อิริยาบถเก่าเป็นทุกข์นั้น ย่อมรู้เห็นกันได้โดยง่าย แต่อิริยาบถใหม่เป็นทุกข์นั้นเห็นได้ยาก กล่าวคือ เมื่อนั่งนานเกินไปก็ปวดเมื่อยทนอยู่ไม่ได้ จึงต้องลุกขึ้นยืนหรือเดิน ก็คิดว่าการยืนหรือการเดินที่เปลี่ยนมาใหม่นั้นเป็นความสุขสบาย เพราะทำให้หายปวดเมื่อย แต่พอยืนหรือเดินนานเกินไปหน่อย ก็ปวดเมื่อยหรือเหน็ดเหนื่อยทนไม่ได้อีก จึงนั่งหรือนอน ในขณะที่นั่งหรือนอนใหม่ ๆ นั้น ก็คิดว่า การนั่งหรือการนอนนั้นเป็นสุขสบาย เพราะทำให้หายปวดเมื่อยหรือหายเหน็ดเหนื่อย คือ เห็นว่า อิริยาบถที่เปลี่ยนใหม่นั้นเป็นสุข เพราะขณะที่เปลี่ยนใหม่ ๆ นี้ ทุกขเวทนายังไม่ทันเกิดขึ้นมาทับถมมากนัก แต่แท้ที่จริงแล้ว อิริยาบถเก่าเป็นทุกข์ อิริยาบถที่เปลี่ยนใหม่ก็จะเป็นทุกข์อีกเหมือนกัน รวมความว่า หนีทุกข์เก่าไปสู่ทุกข์ใหม่นั่นเอง อิริยาบถเก่านั้นเห็นทุกข์ได้ง่าย เพราะทุกขเวทนามีกำลังแรงกล้าปรากฏชัดอยู่แล้ว แต่อิริยาบถใหม่ก็ไม่สามารถพ้นจากความเป็นทุกข์ไปได้ จะต้องแสดงอาการทุกข์ให้ปรากฏอย่างแน่นอนไม่เร็วก็ช้า อนึ่ง อิริยาบถเก่าที่กำลังมีทุกข์อยู่นั้น เป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส คือ ความยินร้าย ความไม่ชอบใจ อิริยาบถใหม่ ที่คิดว่า เป็นสุขนั้น ก็เป็นที่ตั้งแห่งตัณหา หรืออภิชฌา คือ ความยินดี ความชอบใจ เป็นสิ่งน่าปรารถนา แต่ว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น จุดมุ่งหมายเบื้องต้นก็เพื่อกำจัดอภิชฌาและโทมนัสทั้ง ๒ อย่างนี้ คือ ไม่ให้เกิดความยินดีและความยินร้ายขึ้นมาครอบงำจิตใจได้ เพื่อให้เกิดปัญญารู้เห็นเท่าทันโดยไม่หลงงมงาย

ที่กล่าวมานี้ เป็นการกล่าวถึงการเห็นทุกขเวทนา ซึ่งผู้ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ย่อมจะเห็นทุกขเวทนาได้ก่อนเป็นเบื้องต้น เพราะทุกขเวทนาเป็นของหยาบเห็นได้ง่าย ลำดับต่อไป จึงจะเห็นสังขารทุกข์ ที่ถูกบีบคั้นโดยความเกิดดับอยู่เป็นนิตย์ ลำดับต่อไปก็จะเห็นทุกขลักษณะ คือ ความเกิดดับ และลำดับสุดท้ายก็จะเห็นทุกขสัจจะเป็นขั้นสุดท้าย อนึ่ง ทุกขเวทนานั้น ย่อมเห็นได้ในอิริยาบถเก่า สังขารทุกข์ย่อมเห็นได้ในอิริยาบถใหม่ ทุกขลักษณะย่อมเห็นได้เมื่อกำหนดเห็นความขาดตอนของนามรูป ส่วนทุกขสัจจะนั้นจะเห็นได้ในสังขารุเปกขาญาณที่แก่กล้าและมีกำลังพอที่จะอนุโลมให้เห็นอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ได้ เมื่อเห็นทุกข์แล้ว ก็สามารถทำลายสุขทิฏฐิวิปลาสที่เห็นผิดว่า รูปนามเป็นของสุขสบายนั้นได้ และย่อมประหาณตัณหาเสียได้

๓. ฆนสัญญาปิดบังอนัตตา หมายความว่า ฆนสัญญา คือ ความสำคัญผิดคิดว่า รูปนามขันธ์ ๕ นั้น เป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นแท่งทึบอันเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้ ความสำคัญผิดนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นคน เช่น ที่เห็นว่า เป็นคน ก็สำคัญเอาหมดทั้งก้อนถือเอาทั้งแท่งว่านี่เป็นคน แต่ความเป็นจริงแล้ว ถ้าแยกส่วนต่าง ๆ ออกจากกันแล้ว ก็จะมีแต่สภาพธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาสธาตุ และวิญญาณธาตุ [เฉพาะในสัตว์มีชีวิต] หรือเป็นแต่สภาพของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้น หรือแม้แต่รูปธรรมที่เห็นได้โดยง่ายนั้น เมื่อแยกส่วนของรูปธรรมทั้งหมดออกจากกันแล้ว ก็จะเห็นว่า มีแต่ส่วนต่าง ๆ เท่านั้น หาสิ่งที่เป็นคนเป็นตัวตนนั้นไม่มี ถ้ายังถือทั้งก้อนทั้งแท่งว่า เป็นคนอยู่ ก็ย่อมจะเข้าใจผิดไปว่า เป็นของเที่ยง เพราะยั่งยืนอยู่ได้นานนับเป็นเวลาหลายสิบปี หรือเป็นร้อยปี เป็นของสุขสบาย เพราะสามารถบำรุงบำเรอให้เกิดความสุขได้ เป็นแก่นสาร เพราะสามารถยึดถือว่าเป็นเจ้าของได้ เป็นของสวยงามน่ารักใคร่น่าปรารถนา เพราะสามารถตกแต่งให้งดงามวิจิตรบรรจงได้ แต่เมื่อเห็นอนัตตาอย่างแจ่มแจ้งแล้ว ก็สามารถทำลายอัตตวิปลาส คือ ความเห็นผิดว่า เป็นตัวเป็นตนนั้นได้และสามารถประหาณทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดได้

การทำลายสิ่งที่ปกปิดไตรลักษณ์ เพื่อให้เห็นไตรลักษณ์นี้ มีวิธีเดียว คือ การกำหนดพิจารณารูปนามตามวิธีที่เรียกว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อให้เห็นสภาวะของรูปนามอย่างแจ่มแจ้งตามความเป็นจริง เมื่อเห็นรูปนามแจ่มแจ้งตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำลายสันตติที่ปิดบังอนิจจังได้ ย่อมทำลายความเข้าใจผิดในอิริยาบถใหม่ว่าเป็นสุขเสียได้ และย่อมทำลายฆนสัญญา คือ ความสำคัญหมายในรูปนามว่าเป็นตัวตนเสียได้ เมื่อทำลายสิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์ได้แล้ว ไตรลักษณ์ก็ปรากฏให้เห็นเองโดยชัดแจ้ง เปรียบเหมือนบุคคลทำลายความมืดได้แล้ว ย่อมจะเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้นได้ โดยไม่ต้องไปค้นหาสิ่งนั้นอีก


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |