| |
ปมาทลักขณะ ๑๑ ประการ   |  

ปมาทลักขณะ หมายถึง ลักษณะของความประมาท หรือลักษณะของบุคคลผู้ตกอยู่ในความประมาท ด้วยอำนาจอวิชชาหรือโมหเจตสิก ซึ่งมีสภาพไม่รู้เหตุผลตามความเป็นจริง มี ๑๑ ประการ คือ

๑. อะสักกัจจะก๎ริยะตา เวลาจะทำอะไร ก็ทำโดยไม่เคารพ หมายความว่า ทำสักแต่ว่าทำ โดยไม่มีใจรักในการงาน ทำพอให้เสร็จ ๆ ไป โดยไม่ได้คำนึงถึงผลของงานว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

๒. อะสาตัจจะก๎ริยะตา เวลาทำอะไร ก็ทำโดยไม่ต่อเนื่อง หมายความว่า เวลาทำการงานอะไร ก็มักทำ ๆ หยุด ๆ ละเลยความรับผิดชอบ ใจมักซัดส่ายไปอารมณ์อื่น หรือสนใจไปในเรื่องอื่นเสีย จึงทำให้เป็นคนจับจด

๓. อะนัฏฐิตะก๎ริยะตา เวลาทำอะไร ก็ทำโดยไม่ตั้งใจ หมายความว่า เป็นบุคคลผู้ไม่มีใจรักในเรื่องงาน มักคิดฝันไปในเรื่องอื่น ไม่มีความตื่นตัวในการทำงาน เวลาทำก็ทำไปโดยไม่ได้หวังความเจริญในหน้าที่การงานนั้น ๆ

๔. โอลีนะวุตติตา เวลาทำอะไร ก็มักแสดงอาการท้อถอย หมายความว่า เป็นคนไม่สู้งาน เบื่อหน่ายงานง่าย จับจดเอาดีได้ยาก

๕. นิกขิตตัจฉันทะตา ทอดฉันทะในการงาน หมายความว่า เป็นคนไม่มีความพึงพอใจในการทำงาน หรือไม่มีใจรักในการงาน ทำพอให้เสร็จ ๆ ไปเท่านั้น หรือทำงานเพราะหวังค่าจ้างตอบแทนอย่างเดียว ไม่หวังเอาดีในการงาน

๖. นิกขิตตะธุระตา มักทอดธุระในการงานที่ทำอยู่เสมอ หมายความว่า เป็นคนที่มักผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ ทำให้การงานคั่งค้าง ไม่สำเร็จสักอย่างเดียว

๗. อะนาเสวะนะตา ไม่ทำให้ติดสนิท หมายความว่า ไม่ทำให้ต่อเนื่องให้จิตใจฝักใฝ่ยินดีพอใจในการงานนั้น มักละเลยการงาน ปล่อยให้คั่งค้าง หรือทำโดยไม่ได้ตั้งใจ

๘. อะภาวิตา ไม่ทำให้เจริญ หมายความว่า เป็นคนไม่ฝึกฝนเรียนรู้กระบวน การและขั้นตอนในการงาน มักทำไปตามคำบอกกล่าวหรือบังคับ ไม่สนใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาฝีมือให้ดีขึ้น หรือไม่หวังเอาดีในการงานนั้น

๙. อะพะหุลีกะตา ไม่ทำให้เคยชิน หมายความว่า เป็นคนที่ไม่ทำการงานนั้นให้เกิดความเคยชิน ทำให้ไม่มีความชำนาญในการงานนั้น ฝีมือในการทำงานจึงไม่พัฒนาและไม่สามารถยกระดับผลงานให้สูงขึ้นได้

๑๐. อะนะธิฏฐานัง ไม่มีความตั้งใจ หมายความว่า ไม่มีความคิดริเริ่มหรือวางแผนงานว่าจะดำเนินการทำงานนั้น ๆ อย่างไร งานจึงจะสำเร็จได้ด้วยดี มีความประณีตและสะอาดเรียบร้อย แต่มักทำไปอย่างเลื่อนลอย

๑๑. อะนะนุโยโค ไม่หมั่นประกอบ หมายความว่า เป็นคนไม่หมั่นกระทำการงานนั้น ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้เกิดความชำนาญ ทำแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอด หรือตำข้าวสารกรอกหม้อ ในยามฉุกเฉินเท่านั้น ถ้ายังไม่จำเป็นก็ไม่จับไม่ทำ จึงไม่มีความชำนาญคล่องแคล่วในการงานนั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |