| |
ลักษณะของผู้ที่สามารถทำลายอวิชชาได้ ๖ ประการ   |  

๑. สะมาปัตติกุสะโล ฉลาดในการเข้าสมาธิ หมายความว่า บุคคลผู้มีปัญญา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในสภาวะแห่งสมาธิ ซึ่งเป็นสภาวะแห่งความสงบของจิต ต้องรู้เท่าทันสภาวะของความสงบนั้น โดยไม่หลงงมงายหรือยึดติดอยู่ในความสุขอันเกิดจากความสงบแต่ละขั้นและพอใจอยู่เพียงนั้นเท่านั้น ต้องรู้ว่าความสงบนั้นเป็นเพียงสังขารธรรมที่ถึงอาการสงบเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ใช่ความสงบเย็นอย่างถาวร มีความเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อรู้เท่าทันอย่างนี้ ย่อมสามารถพัฒนาสภาพของสมาธิให้ประณีตยิ่งขึ้นได้

๒. ฐิติกุสะโล ฉลาดในการตั้งอยู่ของสมาธิ หมายความว่า บุคคลผู้มีปัญญา ย่อมสามารถดำรงอยู่ในสมาธิหรือเข้าฌานสมาบัติได้เท่าเวลาที่กำหนดไว้ เพราะได้ฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนาสภาพของสมาธิให้เป็นวสีภาวะ คือ เกิดความชำนาญอยู่เสมอ

๓. วุฏฐานะกุสะโล ฉลาดในการออกจากสมาธิ หมายความว่า บุคคลผู้มีความชำนาญในวสีภาวะของสมาธิหรือของฌานสมาบัติ ย่อมสามารถเข้าฌานและออกจากฌานได้ตามกำหนดเวลาที่ตั้งใจไว้โดยไม่ติดขัด เพราะมีความฉลาดในวิธีการแห่งสมาบัตินั้นเป็นอย่างดี

๔. กัลละตากุสะโล ฉลาดในความพร้อมมูลแห่งสมาธิ หมายความว่า เป็นผู้มีความรอบรู้ในองค์ประกอบของสมาธิ รวมทั้งเหตุแห่งความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วของสมาธิว่า สมาธิหรือฌานสมาบัติจะเศร้าหมองไปเพราะธรรมอะไร และจะบริสุทธิ์ผ่องใสได้เพราะธรรมอะไร สามารถกำจัดเหตุแห่งความเศร้าหมองนั้นเสียแล้วส่งเสริมเหตุแห่งความผ่องแผ้วของสมาธิให้เกิดขึ้นได้

๕. โคจะระกุสะโล ฉลาดในอารมณ์ของสมาธิ หมายความว่า บุคคลผู้มีปัญญาย่อมมีความรอบรู้ในเรื่องอารมณ์ของสมาธิหรือของฌานสมาบัติว่า อารมณ์อะไรสามารถใช้เจริญฌานได้ถึงขั้นใด อารมณ์อะไรไม่สามารถใช้เจริญฌานให้เกิดขึ้นได้ และความรู้ในนิมิตของสมาธิแต่ละระดับว่า สมาธิในระดับใดมีนิมิตเป็นอย่างไร นิมิตนั้นย่อได้ขยายได้หรือไม่ เป็นบัญญัตินิมิตหรือปรมัตถนิมิต เป็นนิมิตจริงหรือนิมิตเทียม เป็นต้น จึงสามารถปรับสภาพจิตให้เข้ากับนิมิตนั้นได้ หรือละทิ้งนิมิตเทียมเสีย ยึดถือเอาเฉพาะนิมิตแท้ แล้วน้อมจิตไปเฉพาะในนิมิตแท้อย่างเดียว

๖. สะมาธิสสะ อะภินีหาระกุสะโล ฉลาดในอภินิหารแห่งสมาธิ หมายความว่า บุคคลผู้มีปัญญาฉลาดในหนทางแห่งสมาธิ ย่อมรู้ในอภินิหารของสมาธิว่า การเจริญฌานด้วยอารมณ์อะไร ทำให้เกิดฤทธิ์หรือเกิดอภินิหารอย่างไร ฌานสมาบัติในระดับใด มีอภินิหารเป็นไปอย่างไรบ้าง เป็นต้น จึงสามารถเจริญฌานให้เกิดอภินิหารนั้น ๆ ได้

บุคคลผู้มีความฉลาดในธรรมเหล่านั้น ย่อมไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสตัณหา ย่อมสามารถชำระตนเองให้หมดจดจากอำนาจของอวิชชาได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |