| |
เหตุให้เกิดสติ มี ๑๗ ประการ   |  

ในคัมภีร์มิลินทปัญหา ท่านแสดงไว้ว่าสติเกิดขึ้นเพราะเหตุ ๑๗ ประการ คือ

๑. สติเกิดเพราะการรู้ยิ่ง หมายความว่า เมื่อบุคคลมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งใดอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งดีแล้ว ย่อมสามารถกำหนดระลึกนึกถึงสิ่งนั้นได้อย่างฉับพลัน แต่ถ้าบุคคลใดไม่ค่อยมีความรู้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว เวลาจะทำ จะพูด จะคิดนึกถึง ก็เป็นไปไม่ได้ง่าย หรือระลึกนึกไม่ถึง [คิดไม่ออก] ทำให้จนมุมต่อปัญหาเหล่านั้น

๒. สติเกิดเพราะทรัพย์ หมายความว่า เมื่อบุคคลมีทรัพย์สมบัติเป็นที่เพียงพอแก่ความจำเป็นของตนแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นเกิดความสบายใจ ปลอดโปร่งโล่งใจ ไม่ต้องห่วงกังวล ให้เกิดความฟุ้งซ่านรำคาญใจ หรือทำให้จิตมีความสงบ เกิดสติระลึกรู้การงานต่าง ๆ อันเป็นกุศลได้โดยสะดวก ไม่ต้องเก็บกดความรู้สึกไว้ให้เกิดความตึงเครียด

๓. สติเกิดเพราะความรู้สึกอันโอฬาร [คือความรู้สึกยิ่งใหญ่] หมายความว่า เมื่อบุคคลมีความรอบรู้ในสิ่งต่าง ๆ อย่างกว้างขวางแล้ว ย่อมทำให้ใช้สติระลึกรู้ในสิ่งเหล่านั้นได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึงตามไปด้วย แต่ถ้าบุคคลมีความรู้น้อย หรือรู้คับแคบไป สติย่อมระลึกได้คับแคบตามกำลังความรู้นั้นด้วย

๔. สติเกิดเพราะความรู้สึกนึกคิดถึงความสุขที่เคยได้รับได้ประสบมาแล้ว หมายความว่า เมื่อบุคคลนึกถึงความสุขสบายที่ได้เคยเสวยมาแล้ว ย่อมรู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจ สบายใจ ทำให้สติเกิดขึ้น และระลึกไปในการงานที่ดีงามต่าง ๆ พร้อมทั้งหล่อเลี้ยงจิตใจให้เกิดความชุ่มชื่น และเพิ่มพลังให้มุ่งตรงต่อสู้กับอุปสรรคความยากลำบากต่อไปได้เป็นอย่างดี

๕. สติเกิดเพราะความรู้สึกนึกคิดถึงความทุกข์ที่เคยได้รับได้ประสบมาแล้ว หมายความว่า เมื่อบุคคลบางคนระลึกนึกคิดถึงความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ ที่ได้เคยประสบ เคยได้สัมผัส ได้เสวยมาแล้ว ย่อมเกิดความเข็ดขยาดต่อความทุกข์นั้น ๆ แล้วสำรวมระวังมิให้เกิดความผิดพลาด อันจะนำมาซึ่งความทุกข์เช่นนั้นอีก พยายามพิจารณาให้รู้ถึงเหตุผล ข้อดี ข้อเสียของสิ่งนั้น ๆ หรือการงานนั้น ๆ ให้ถี่ถ้วนก่อนแล้วจึงเลือกทำแต่ข้อดี กำจัดข้อเสียออกไป เมื่อทำอย่างนี้ สติย่อมเกิดและเพิ่มพูนยิ่งขึ้น

๖. สติเกิดเพราะนิมิต คือ เหตุการณ์ที่เหมือนกับเหตุการณ์ที่ได้ประสบพบเห็นมา หมายความว่า เมื่อบุคคลเห็นนิมิตต่าง ๆ ที่คล้ายกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแก่ตนเอง ทั้งนิมิตดี และนิมิตร้าย ย่อมเกิดสติระลึกรู้ถึงต้นสายปลายเหตุ แล้วพยายามหาทางป้องกันนิมิตร้าย ดำเนินตามแนวทางแห่งนิมิตดีอย่างเดียว

๗. สติเกิดเพราะนิมิต คือ เหตุการณ์ที่ไม่เหมือนกับเหตุการณ์ที่ได้ประสบพบเห็นมา หมายความว่า เมื่อบุคคลได้ประสบกับนิมิตแปลก ๆ ที่ตนไม่เคยประสบมาก่อน ย่อมทำให้เกิดสติพิจารณา ตั้งข้อสังเกตหาต้นตอหรือต้นสายปลายเหตุ และเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งได้ประสบพบเห็นมาแล้ว สาวหาเหตุหาผลให้พบ หรือหาทางออกในทางที่ดี ที่ปลอดภัยให้ได้ เมื่อใช้สติระลึกรู้บ่อย ๆ สติย่อมเพิ่มพูนสมรรถภาพมากขึ้น ทำให้เป็นคนช่างคิด ช่างสงสัย เกิดวิจารณญาณ มีความรู้สึกนึกคิดที่ประณีตขึ้นเรื่อย ๆ

๘. สติเกิดเพราะความระลึกรู้ตามถ้อยคำของคนอื่น [คนอื่นบอกให้แล้วระลึกตามได้] หมายความว่า บุคคลบางคนเป็นผู้ไม่ค่อยฝึกฝนสติด้วยตนเอง แต่อาศัยผู้อื่นคอยตักเตือนจึงระลึกได้ ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนนิสัยจากการเป็นคนประมาทเลินเล่อมาเป็นผู้ที่สำรวมระวัง และสามารถสำเหนียกระลึกรู้สึกตัว ตามคำบอกเล่า ตักเตือน หรือคำตำหนิของผู้อื่น เมื่อผิดแล้วย่อมแก้ตัวให้ดีขึ้นใหม่ได้

๙. สติเกิดเพราะการกำหนดเครื่องหมาย [คือจำเครื่องหมายที่ตนทำไว้ได้] หมายความว่า บุคคลบางคนเป็นผู้มักหลงลืม มักจำอะไรไม่ค่อยได้ ย่อมคิดหาวิธีการในการกำหนดจดจำ โดยทำเครื่องหมายไว้ ในสิ่งของหรืองานการที่ตนทำ หรือหลักวิชาที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียน ทำให้สามารถระลึกรู้สิ่งเหล่านั้นได้ เมื่อได้เห็นเครื่องหมายเหล่านั้นแล้วย่อมสามารถจำได้

๑๐. สติเกิดเพราะความรู้สึกได้ หมายความว่า เมื่อบุคคลรู้สึกตัวได้ ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง จากปัจจัยภายนอกก็ดี จากปัจจัยภายในก็ดี ที่กระตุ้นเตือนให้เกิดความรู้สึกตัว ย่อมสามารถตั้งสติได้ แล้วคอยควบคุมดูแลมิให้เผลอสติ และระลึกรู้เหตุผลของสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบคอบ สติย่อมมีกำลังเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะดี สามารถระลึกรู้ได้อย่างเท่าทันอารมณ์และเหตุการณ์ต่าง ๆ

๑๑. สติเกิดเพราะการจำได้ หมายความว่า บุคคลที่สามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ไว้ได้ดี ไม่ค่อยหลงลืม ย่อมสามารถระลึกรู้ได้ และบอกได้อย่างแม่นยำ โดยไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ทั้งยังเป็นฐานให้สตินำมาขบคิดพิจารณารู้ถึงเหตุผล ข้อดีข้อด้อย ข้อเสียของสิ่งนั้น ๆ ย่อมทำให้สติมีกำลังกล้าแข็งมากขึ้น

๑๒. สติเกิดเพราะการนับการฝึกหัดคิด หมายความว่า การที่บุคคลหมั่นนับสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ และคิดพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ ย่อมทำให้เกิดสติได้ง่าย เมื่อสติเกิดขึ้นบ่อย ๆ ย่อมเป็นอุปการะต่อการงานต่าง ๆ ทั้งคดีโลกและคดีธรรม ทำให้เป็นผู้มีทักษะในการนับและการคิดคำนวนได้อย่างว่องไว

๑๓. สติเกิดเพราะการทรงจำไว้ หมายความว่า การที่บุคคลทรงจำอะไรไว้ได้มาก ไม่ว่าจะเป็นหลักความรู้ทางโลก หรือหลักความรู้ทางธรรม ตลอดถึงบทสวดต่าง ๆ ที่บุคคลนั้นทรงจำไว้ได้ ย่อมทำให้เกิดสติระลึกรู้ นำมาขบคิด และหาทักษะในการประกอบกิจการงานต่าง ๆ ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จนเป็นผู้ชำนาญในกิจการงานด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

๑๔. สติเกิดเพราะการอบรม หมายความว่า การที่บุคคลหมั่นอบรมฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ หรือได้รับการฝึกฝนอบรมจากบุคคลผู้เป็นกัลยาณมิตรอยู่เสมอ ย่อมทำให้เกิดทักษะในการรู้สึกนึกคิดพิจารณาและรู้จักผิดชอบชั่วดี เป็นผู้มีสติกำกับอยู่เสมอ มักทำอะไรไม่ค่อยผิดพลาดและประสบผลสำเร็จในกิจการงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

๑๕. สติเกิดเพราะการบันทึกไว้ในสมุด [ใบลาน] หมายความว่า การบันทึกไว้เพื่อกันลืม ย่อมเป็นหนทางให้เกิดสติได้ทางหนึ่ง เพราะแต่ละบุคคลย่อมมีขีดความสามารถ หรือสมรรถภาพในการจดจำได้จำกัด เมื่อเกินวิสัยแล้วย่อมไม่สามารถจดจำไว้ได้ ต้องอาศัยการบันทึกไว้ในสมุดบันทึกหรือในใบลานในสมัยก่อน เมื่อต้องการทราบสิ่งใด ก็เปิดสมุดหรือหนังสือออกดู ย่อมได้รู้ความหมาย และค่อย ๆ จดจำได้ต่อไป

๑๖. สติเกิดเพราะทรัพย์ที่เก็บไว้ หมายความว่า บุคคลที่พยายามเก็บออมรอมริบทรัพย์สมบัติไว้สำหรับใช้สอยในยามจำเป็น ย่อมทำให้มีความอุ่นใจ มีความปลอดโปร่งโล่งใจ สบายใจ สามารถคิดอ่านอรรถธรรมได้อย่างลึกซึ้ง และเมื่อเห็นทรัพย์สิ่งของที่เก็บไว้ ย่อมสามารถระลึกรู้ได้ว่า สิ่งนี้ใช้ในกิจการงานนี้ สิ่งนั้นใช้ในกิจการงานนั้น สิ่งนี้มีประโยชน์ด้านนี้ สิ่งนั้นมีประโยชน์ด้านนั้น ดังนี้เป็นต้น

๑๗. สติเพราะการนึกถึงสิ่งที่เคยรู้เคยเห็นมาแล้ว หมายความว่า การที่บุคคลเป็นผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก มีประสบการณ์ในชีวิตมาอย่างดีพอแล้ว ย่อมสามารถระลึกนึกคิดพิจารณา คำนวณคาดคะเนประสบการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ทำให้สามารถใช้สตินึกคิดพิจารณาให้รู้ว่า สิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี สิ่งใดมีประโยชน์ สิ่งใดมีโทษ แล้วดำเนินชีวิตไปในทางที่เป็นประโยชน์ เว้นจากทางที่ไม่เป็นประโยชน์เสีย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |