| |
อัตตทัณฑสุตตนิทเทสที่ ๑๕   |  

ว่าด้วยมานะลักษณะต่าง ๆ เจ.๑๗

ชื่อว่ามานะ ในคำว่า พึงกำหนดรู้มานะ คือ มานะอย่างหนึ่งได้แก่ความฟูขึ้นแห่งจิต

มานะ ๒ อย่าง ได้แก่ มานะในความยกตน ๑ มานะในความข่มผู้อื่น ๑

มานะ ๓ อย่าง ได้แก่ มานะว่าเราดีกว่าเขา ๑ มานะว่าเราเสมอเขา ๑ มานะว่า เราเลวกว่าเขา ๑

มานะ ๔ อย่าง ได้แก่ บุคคลให้มานะเกิดเพราะลาภ ๑ ให้มานะเกิดเพราะยศ ๑ ให้มานะเกิดเพราะสรรเสริญ ๑ ให้มานะเกิดเพราะสุข ๑

มานะ ๕ อย่าง ได้แก่ บุคคลให้มานะเกิดว่า เราได้รูปที่ชอบใจ ๑ ให้มานะเกิดว่า เราได้เสียงที่ชอบใจ ๑ ให้มานะเกิดว่า เราได้กลิ่นที่ชอบใจ ๑ ให้มานะเกิดว่า เราได้รสที่ชอบใจ ๑ ให้มานะเกิดว่า เราได้โผฏฐัพพะที่ชอบใจ ๑

มานะ ๖ อย่าง ได้แก่ บุคคลให้มานะเกิดเพราะความถึงพร้อมแห่งจักษุ ๑ ให้มานะเกิดเพราะความถึงพร้อมแห่งหู ๑ ให้มานะเกิดเพราะความถึงพร้อมแห่งจมูก ๑ ให้มานะเกิดเพราะความถึงพร้อมแห่งลิ้น ๑ ให้มานะเกิดเพราะความถึงพร้อมแห่งกาย ๑ ให้มานะเกิดเพราะความถึงพร้อมแห่งใจ ๑

มานะ ๗ อย่าง ได้แก่ ความถือตัว ๑ ความดูหมิ่น ๑ ความถือตัวและความดูหมิ่น ๑ ความถือตัวต่ำ ๑ ความถือตัวสูง ๑ ความถือตัวว่าเรามั่งมี ๑ ความถือตัวผิด ๑

มานะ ๘ อย่าง ได้แก่ บุคคลให้ความถือตัวเกิดเพราะลาภ ๑ ให้ความถือตัวต่ำเกิดเพราะความเสื่อมลาภ ๑ ให้ความถือตัวเกิดเพราะยศ ๑ ให้ความถือตัวต่ำเกิดเพราะความเสื่อมยศ ๑ ให้ความถือตัวเกิดเพราะความสรรเสริญ ๑ ให้ความถือตัวต่ำเกิดเพราะความนินทา ๑ ให้ความถือตัวเกิดเพราะสุข ๑ ให้ความถือตัวต่ำเกิดเพราะทุกข์

มานะ ๙ อย่าง ได้แก่ มานะว่าเราดีกว่าคนที่ดี ๑ มานะว่า เราเสมอกับคนที่ดี ๑ มานะว่า เราเลวกว่าคนที่ดี ๑ มานะว่า เราดีกว่าผู้เสมอกัน ๑ มานะว่า เราเสมอกับผู้เสมอกัน ๑ มานะว่า เราเสมอกับผู้เลว ๑ มานะว่า เราดีกว่าผู้เลว ๑ มานะว่า เราเสมอกับผู้เลว ๑ มานะว่า เราเลวกว่าผู้เลว

มานะ ๑๐ อย่าง ได้แก่ บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังมานะให้เกิดเพราะชาติบ้าง เพราะโคตรบ้าง ฯลฯ เพราะวัตถุอื่น ๆ บ้าง ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว ความเป็นผู้ถือตัว ความกำเริบขึ้น ความฟูขึ้น มานะดังว่าธงไชย มานะอันประคองจิตไว้ ความที่จิตใคร่ดังว่า ธงยอดเห็นปานนี้ นี้เรียกว่า มานะ

คำว่า พึงกำหนดรู้มานะ ความว่า พึงกำหนดรู้มานะด้วยปริญญา ๓ คือ ญาตปริญญาตีรณปริญญา ปหานปริญญา ญาตปริญญาเป็นไฉน? นรชนย่อมรู้จักมานะ คือ ย่อมรู้ ย่อมเห็นว่า นี้เป็นมานะอย่างหนึ่ง ได้แก่ความฟูขึ้นแห่งจิตเป็นมานะ ๒ อย่าง ได้แก่มานะในการยกตน มานะในการข่มผู้อื่น ฯลฯ นี้เป็นมานะ ๑๐ อย่าง ได้แก่ บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังมานะให้เกิดเพราะชาติบ้าง เพราะโคตรบ้าง ฯลฯ เพราะวัตถุอื่นๆ บ้าง นี้ชื่อว่า ญาตปริญญา. ตีรณปริญญา เป็นไฉน? นรชนรู้อย่างนี้แล้วย่อมพิจารณามานะโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ ฯลฯ โดยอุบายเป็นเครื่องสลัดทุกข์ นี้ชื่อว่า ตีรณปริญญา. ปหานปริญญาเป็นไฉน? นรชนพิจารณาอย่างนี้แล้ว ย่อมละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งมานะ นี้ชื่อว่าปหานปริญญา. คำว่า พึงกำหนดรู้มานะ คือ พึงกำหนดรู้มานะด้วยปริญญา ๓ นี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงกำหนดรู้มานะ

ความประพฤติผลุนผลัน ในคำว่า พึงประพฤติเว้นจากความผลุนผลัน เป็นไฉน? ความประพฤติด้วยราคะแห่งคนผู้กำหนัด ความประพฤติด้วยโทสะแห่งคนผู้ขัดเคืองความประพฤติด้วยโมหะแห่งคนผู้หลง ความประพฤติด้วยมานะแห่งคนที่มานะผูกพัน ความประพฤติด้วยทิฏฐิแห่งคนผู้ถือมั่น ความประพฤติด้วยอุทธัจจะแห่งคนผู้ถึงความฟุ้งซ่าน ความประพฤติด้วยวิจิกิจฉาแห่งคนผู้ถึงความไม่ตกลง ความประพฤติด้วยอนุสัยแห่งคนผู้ถึงโดยเรี่ยวแรง ชื่อว่าความประพฤติผลุนผลัน [แต่ละอย่าง] นี้ชื่อว่า ความประพฤติผลุนผลัน. คำว่าพึงประพฤติเว้นจากความผลุนผลัน ความว่า นรชนพึงเป็นผู้งด เว้น เว้นเฉพาะ ออก สลัดออกพ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องด้วยความประพฤติผลุนผลัน พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ พึงประพฤติ เที่ยวไป ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงประพฤติเว้นจากความผลุนผลัน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

นรชนพึงออกจากความพูดเท็จ ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป พึงกำหนดรู้มานะ และพึงประพฤติเว้นจากความผลุนผลัน

ไม่พึงยินดีสังขารเก่า ไม่พึงทำความชอบใจในสังขารใหม่ เมื่อสังขารเสื่อมไป ก็ไม่พึงเศร้าโศก ไม่พึงเป็นผู้อาศัยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง

คำว่า ไม่พึงยินดีสังขารเก่า ความว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่ล่วงแล้ว เรียกว่า สังขารเก่า. บุคคลไม่ควรยินดี ไม่ควรบ่นถึง ไม่ควรติดใจ ซึ่งสังขารทั้งหลายที่ล่วงแล้วด้วยสามารถแห่งตัณหา ด้วยสามารถแห่งทิฏฐิ พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไปให้ถึงความไม่มี ซึ่งความชอบใจ ความบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดถือ ความถือมั่นเพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงยินดีสังขารเก่า

คำว่า ไม่พึงทำความชอบใจสังขารใหม่ ความว่า รูป เวทนา สัญญา สังขารวิญญา เป็นปัจจุบัน เรียกว่า สังขารใหม่ ไม่ควรทำความชอบใจ ความพอใจ ความรักความกำหนัด ในสังขารทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน ด้วยสามารถแห่งตัณหา ด้วยสามารถแห่งทิฏฐิ คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดพร้อม ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดเฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่พึงทำความชอบใจในสังขารใหม่

คำว่า เมื่อสังขารเสื่อมไป ไม่พึงเศร้าโศก ความว่า เมื่อสังขารเสื่อมไปเสียไป ละไป แปรไป หายไป อันตรธานไป ไม่พึงเศร้าโศก ไม่พึงลำบากใจ ไม่พึงถือมั่นไม่พึงร่ำไร ไม่พึงทุบอกคร่ำครวญ ไม่พึงถึงความหลงใหล คือ เมื่อจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหากาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุล คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขจีวรบิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เสื่อมไป เสียไป ละไป แปรไป หายไปอันตรธานไป ไม่พึงเศร้าโศก ไม่พึงลำบากใจ ไม่พึงถือมั่น ไม่พึงร่ำไร ไม่พึงทุบอกคร่ำครวญ ไม่พึงถึงความหลงใหล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อสังขารเสื่อมไป ไม่พึงเศร้าโศก


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |