| |
วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของกายปสาทรูป   |  

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๑๗๙ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของกายปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

กายปสาทมีวจนัตถะแสดงว่า “กุจฺฉิตานํ เกสาทีนํ ปาปธมฺมานญฺจ อาโยติ กาโย” แปลความว่า รูปใดเป็นที่ประชุมแห่งส่วนต่าง ๆ มีผม เป็นต้นที่น่าเกลียด และเป็นที่ประชุมแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น รูปนั้น ชื่อว่า กายะ ได้แก่ ร่างกายทั้งหมด

บทสรุปของผู้เขียน :

วจนัตถะหรือคำจำกัดความของกายปสาทรูป มี ๒ ความหมาย คือ

๑. หมายถึง รูปชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรม มีความใส สามารถรับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ คือ สัมผัสต่าง ๆ มี เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง เป็นต้นได้ ได้แก่ กายปสาทรูป

๒. หมายถึง รูปอันเป็นที่ประชุมแห่งส่วนต่าง ๆ มีผม เป็นต้น และเป็นที่ประชุมแห่งอกุศลธรรมต่าง ๆ ได้แก่ ร่างกายทั้งหมด

เพราะฉะนั้น คำว่า กาย มีวจนัตถะแสดงว่า “กุจฺฉิตานํ เกสาทีนํ ปาปธมฺมานญฺจ อาโยติ กาโย”แปลความว่า รูปใดเป็นที่ประชุมแห่งส่วนต่าง ๆ มีผม เป็นต้น และเป็นที่ประชุมแห่งอกุศลธรรมต่าง ๆ เพราะฉะนั้น รูปนั้น ชื่อว่า กายะ หมายถึง ร่างกายทั้งหมด

สมดังหลักฐานที่ปรากฏในคัณฑสูตร สีหนาทวรรค อังคุตตรนิกาย นวกนิบาตรุ.๑๘๐ แสดงว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนฝีที่เกิดขึ้นหลายปี ฝีนั้นพึงมีปากแผล ๙ แห่ง มีปากแผลที่ยังไม่แตก ๙ แห่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะพึงไหลออกจากปากแผลนั้น สิ่งนั้นเป็นของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียดทั้งนั้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งพึงไหลเข้า สิ่งนั้นเป็นของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียดทั้งนั้น ข้อนี้ฉันใด คำว่า ฝีนี้แล เป็นชื่อของกายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด มีความไม่เที่ยง ต้องลูบไล้นวดฟั้น มีความกระจัดกระจายเป็นธรรมดา กายนั้นมีปากแผล ๙ แห่ง มีปากแผลที่ยังไม่แตก ๙ แห่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมไหลออกจากปากแผลนั้น สิ่งนั้นเป็นของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียดทั้งนั้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมไหลเข้า สิ่งนั้นเป็นของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียดทั้งนั้น ฉันนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงเบื่อหน่ายในกายนี้”

สำหรับกายปสาทรูป ที่เรียกว่า กาย นั้น เป็นการเรียกโดยอ้อม คือ ยกเอาคำว่า กาย อันเป็นชื่อของร่างกายทั้งหมดมาตั้งในกายปสาทที่เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายนั้น อีกนัยหนึ่ง กายปสาทรูป ที่ชื่อว่า กาย นั้น ก็เป็นการแสดงโดยอ้อม คือ ยกเอาคำว่า กาย ที่เป็นชื่อของร่างกาย อันเป็นที่เกิดแห่งกายปสาทรูปมาเข้ากับกายปสาทรูปซึ่งเป็นผู้อาศัยเกิดอีกทีหนึ่ง ซึ่งแปลว่า รูปอันเป็นที่ประชุมแห่งส่วนต่าง ๆ มีผม เป็นต้น และเป็นที่ประชุมแห่งอกุศลธรรมต่าง ๆ แต่ความจริงแล้ว คำว่า กายปสาทรูป แปลว่า รูปอันเกิดจากกรรม มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ซึ่งมีความใสและสามารถรับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ต่าง ๆ ได้ อันเป็นสถานที่เกิดของกายวิญญาณจิต ๒ ดวงและเจตสิกที่ประกอบ [สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗] และเป็นทวารคือเป็นประตูหรือช่องทางในการรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ของกายทวารวิถีจิตหรือกายทวาริกจิตทั้งหลายเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |