| |
ความหมายของชิวหาปสาทรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๑๖๔ ได้แสดงความหมายของชิวหาปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

ชิวหา คือ รูปที่เรียกรสอันเป็นเหตุของชีวิต เพราะน้อมไปในรสอันเป็นเหตุของชีวิต ที่เรียกว่า ชีวิตะ

อีกนัยหนึ่ง ชิวหา คือ รูปที่นำชีวิตให้เป็นไป

อีกนัยหนึ่ง ชิวหา คือ รูปที่ทำให้เหล่าสัตว์นำชีวิตให้ดำเนินไป กล่าวคือ ทำให้เป็นไปได้ เพราะให้สำเร็จการดำเนินไปของชีวิต

อีกนัยหนึ่ง ชีติ คือ ความชนะ หรือ ความแพ้

ชิวหา คือ รูปที่นำความชนะหรือความแพ้ หรือที่ทำให้เหล่าสัตว์นำความชนะหรือความแพ้ [คือเป็นเหตุให้ได้รับผลดีหรือผลเสีย] หมายถึง ชิวหาปสาทรูปพร้อมทั้งสัณฐาน [ลิ้น] ดังพระพุทธพจน์แสดงว่า

ปุริสสฺส หิ ชาตสฺส    กุทารี ชายเต มุเข
ยาย ฉินฺทติ อตฺตานํ    พาโล ทุพฺภาสิตํ ภณํรุ.๑๖๕

แปลความว่า

มีดพร้า [คือลิ้น] ย่อมเกิดในปากของบุรุษ [หมายถึงคน] เป็นสิ่งที่

เชือดเฉือนคนพาลผู้กล่าวผรุสวาทอยู่

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว คำว่า ชิวหา ย่อมมีความหมาย ๕ ประการคือ

๑. รูปที่เรียกรสอันเป็นเหตุของชีวิตมา ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ชีวิตํ อวฺหายตีติ ชิวฺหา” แปลความว่า รูปใดย่อมเรียกรสมา เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่าชิวหา

๒. รูปที่นำชีวิตไป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ชีวิตํ วหตีติ ชิวฺหา” แปลความว่า รูปใดย่อมนำชีวิตไป เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า ชีวิต

๓. รูปที่ทำให้เหล่าสัตว์นำชีวิตไป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ชีวิตํ วหนฺติ เอตายาติ ชิวฺหา” แปลความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมนำชีวิตไปได้ด้วยรูปนั้น เพราะเหตุนั้น รูปอันเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายนำชีวิตไปได้ จึงชื่อว่า ชิวหา

๔. รูปที่นำความชนะหรือความแพ้ไป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ชิตึ วหตีติ ชิวฺหา” แปลความว่า รูปใดย่อมนำความชนะหรือความแพ้ไป เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า ชิวหา

๕. รูปที่ทำให้เหล่าสัตว์นำความชนะหรือความแพ้ไป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า ชิตึ วหนฺติ เอตายาติ ชิวฺหา” แปลความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมนำความชนะหรือความแพ้ไปได้ด้วยรูปนั้น เพราะเหตุนั้น รูปอันเป็นเหตุแห่งการนำความชนะหรือความแพ้ของสัตว์ทั้งหลายไป จึงชื่อว่า ชิวหา

ในที่นี้ ชิวหาปสาทรูป ได้ชื่อว่า ชิวหา เพราะเกิดร่วมกับสัณฐาน [คือลิ้น]รุ.๑๖๖

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๑๖๗ ท่านได้แสดงความหมายของชิวหาปสาทรูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

ชิวหาประสาท ซึมซาบตลอดประเทศมีสัณฐานดังปลายกลีบอุบล ในท่ามกลางชิวหา [ลิ้น] ฯ

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะรุ.๑๖๘ ได้แสดงความหมายของชิวหาปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า ชิวหา นี้แยกออกเป็น ๒ บท คือ ชีวิต+อวฺหา คำว่า ชีวิต แปลว่า อายุ แต่ในที่นี้แปลว่า รส เพราะอายุที่จะตั้งอยู่ได้นั้นก็ต้องอาศัยรส คือ การกินอาหารต่าง ๆ มีเปรี้ยว หวาน เป็นต้นเข้าไป อายุจึงจะตั้งอยู่ได้นาน เพราะฉะนั้น จึงยกเอาชีวิตที่เป็นชื่อของอายุอันเป็นผลของรสนั้นขึ้นตั้งไว้ในเหตุคือรส แล้วเรียกรสต่าง ๆ นั้นว่า ชีวิต แต่เป็นการเรียกโดย ผลูปจารนัย คือ นัยโดยอ้อม

คำว่า อวฺหา แปลว่า เรียก เมื่อรวมกับคำว่า ชีวิต แล้ว ก็หมายถึงเรียกรสต่าง ๆ นั้นเอง เพราะธรรมชาติของชิวหาปสาทนี้ย่อมเกี่ยวเนื่องในรสต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่พอใจของชิวหาวิญญาณให้มาสู่ตน

เมื่อรวมคำว่า ชีวิต กับคำว่า อวฺหา เข้าด้วยกันแล้ว ก็เป็น ชิวฺหา คือ บทว่า ชีวิต นั้น แปลง อี เป็น อิ, วิ กับ ตะ ทั้ง ๒ นี้ลบทิ้งเสีย คำว่า อวฺหา ลบ อะ ออก เหลือแต่ วฺหา ฉะนั้น เมื่อรวมแล้วจึงเป็น ชิวฺหา ภาษาไทยเป็น ชิวหา แปลว่า ธรรมชาติที่เรียกมาซึ่งรส

ชิวหาปสาทนี้เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรม มีความใสบริสุทธิ์เป็นเครื่องรับรสต่าง ๆ ตั้งอยู่ท่ามกลางลิ้นที่มีสัณฐานเหมือนปลายกลีบดอกอุบล มีหน้าที่ให้สำเร็จกิจ ๒ อย่าง คือ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งชิวหาวิญญาณจิตอย่างหนึ่ง และเป็นทวาร คือ ประตูหรือช่องทางในการรับรู้รสารมณ์แห่งชิวหาทวารวิถีจิตอย่างหนึ่ง

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๑๖๙ ได้แสดงความหมายของชิวหาปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

ชิวหาปสาทรูป เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีความสดใส สามารถรับรสต่าง ๆ ได้ และเป็นเหตุให้อายุยืน ฯ

คำว่า ชิวหา นี้แยกศัพท์ได้เป็น ๒ ศัพท์ คือ ชีวิต+อวฺหา = ชิวฺหา

คำว่า ชีวิต แปลว่า อายุ แต่ในที่นี้แปลว่า รส เพราะอายุจะตั้งอยู่ได้นั้น ต้องอาศัยรสเปรี้ยว หวาน เผ็ด เค็ม เป็นต้น ที่ได้จากการกินอาหารต่าง ๆ เป็นต้น อายุจึงจะตั้งอยู่ได้นาน ด้วยเหตุนี้จึงยกเอาคำว่า ชีวิต เป็นชื่อของอายุ เพราะเป็นผลของรสนั้นขึ้นตั้งไว้ โดยอาศัยเหตุคือรส แล้วเรียกรสต่าง ๆ นั้นว่า ชีวิต ซึ่งเป็นการเรียกโดยอ้อม

คำว่า อวฺหา แปลว่า เรียก มารวมกับคำว่า ชีวิต แล้วก็หมายถึงเรียกรสต่าง ๆ นั่นเอง เพราะธรรมดาชิวหาปสาทรูปย่อมน้อมอยู่ในรสชาติต่าง ๆ อันเป็นที่พอใจของชิวหาวิญญาณให้มาสู่ตน เมื่อรวมบทว่า ชีวิต กับ อวฺหา เข้าด้วยกันแล้ว ก็เป็น ชิวฺหา

ชิวหาปสาทรูปนี้เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นรูปที่มีความใสเป็นเครื่องรับรสต่าง ๆ ได้ ตั้งอยู่ในท่ามกลางลิ้น มีสัณฐานเหมือนปลายกลีบดอกอุบล มีหน้าที่ให้สำเร็จกิจ ๒ ประการ คือ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งชิวหาวิญญาณจิตประการหนึ่ง กับเป็นทวารอันเป็นที่เกิดแห่งชิวหาทวารวิถีอีกประการหนึ่ง

บทสรุปของผู้เขียน :

จากความหมายและคำอธิบายดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น สามารถสรุปเนื้อความได้ดังต่อไปนี้

ชิวหาปสาทรูป หมายถึง รูปธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรม มีความใสสามารถรับกระทบกับรสารมณ์ คือ รสต่าง ๆ ได้ และเป็นเหตุให้อายุยืน หมายความว่า สัตว์ทั้งหลาย [ที่ต้องบริโภคอาหาร] ยังบริโภคอาหารเข้าไปได้เพียงใด ชีวิตของสัตว์เหล่านั้นก็ยังเป็นอยู่ได้เพียงนั้น ถ้ามนุษย์คนใดหรือสัตว์ตนใด บริโภคอาหารเข้าไปได้น้อย ไม่เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย ชีวิตของบุคคลนั้นก็อ่อนกำลังลง และเมื่อใดที่บริโภคอาหารเข้าไปไม่ได้แล้ว ชีวิตของบุคคลนั้นย่อมถึงความสิ้นสลายไปในที่สุด เพราะฉะนั้น ชิวหาปสาทรูปนี้ จึงชื่อว่า เป็นเหตุนำมาซึ่งชีวิต ดังกล่าวแล้ว ชิวหาปสาทรูปนี้ซึมซาบอยู่ในก้อนเนื้อที่เกิดจากกรรม ที่เรียกว่า กัมมชกลาป ที่มีความพร้อมที่จะรับกระทบกับรสารมณ์คือรสได้ ซึ่งก้อนเนื้อนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางเนื้อลิ้น มีสัณฐานเหมือนปลายกลีบดอกอุบล อันสามารถให้สำเร็จกิจ ๒ ประการ คือ

๑. เป็นวัตถุคือเป็นสถานที่อาศัยเกิดแห่งชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง พร้อมด้วยเจตสิกที่ประกอบ [สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗]

๒. เป็นทวารคือเป็นประตูหรือเป็นช่องทางให้ชิวหาทวารวิถีจิตหรือชิวหาทวาริกจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ กามาวจรจิต ๔๖ ดวง [เว้นจักขุวิญญาณจิต ๒ โสตวิญญาณจิต ๒ ฆานวิญญาณจิต ๒ กายวิญญาณจิต ๒] เกิดขึ้นรับคันธารมณ์ คือ รสต่าง ๆ ที่ปรากฏทางลิ้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |