ไปยังหน้า : |
๑. นัตถิ ทินนัง เห็นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล
๒. นัตถิ ยิฏฐัง เห็นว่า ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล
๓. นัตถิ หุตัง เห็นว่า การบูชาเซ่นสรวงไม่มีผล
๔. นัตถิ สุกะตะทุกกะฏานัง กัมมานัง ผะลัง วิปาโก เห็นว่า วิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่ว ที่ทำแล้ว ไม่มีผล
๕. นัตถิ อะยัง โลโก เห็นว่า โลกนี้ไม่มี คือ สัตว์ที่ตายแล้ว จะมาเกิดในโลกนี้ ไม่มี
๖. นัตถิ ปะโร โลโก เห็นว่า โลกหน้าไม่มี คือ สัตว์ที่ตายแล้ว จะไปเกิดในโลกหน้าอีก ไม่มี
๗. นัตถิ มาตา เห็นว่า มารดาไม่มีคุณ คือ การทำดีทำชั่วต่อมารดาไม่มีผล
๘. นัตถิ ปิตา เห็นว่า บิดาไม่มีคุณ คือ การทำดีทำชั่วต่อบิดาไม่มีผล
๙. นัตถิ สัตตา โอปะปาติกา เห็นว่า สัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นเอง เติบโตขึ้นทันทีไม่มี
๑๐. นัตถิ โลเก สะมะณะพ๎ราห๎มะณา สะมัคคะตา สัมมาปะฏิปันนา อัตตะนา สัจฉิกัต๎วา อิมัง โลกัง วิภาเวต๎วา ปะเรสัง ปะเวเทนติ เห็นว่า สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ที่ดำเนินไปโดยชอบ ปฏิบัติชอบแล้วกระทำให้แจ้งรู้เห็นตามเป็นจริงด้วยตนเอง ยังโลกนี้ให้สว่าง แล้วประกาศบอกแก่บุคคลอื่นนั้น ไม่มีอยู่ในโลกเจ.๑๔
เมื่อบุคคลมีความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่กล่าวมานี้ โลภมูลจิต ที่เป็น ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น ตามสมควรแก่เหตุปัจจัย
ผู้มีนัตถิกทิฏฐินี้เป็นผู้ปฏิเสธผล เท่ากับปฏิเสธเหตุแห่งกุศลและอกุศลกรรมไปด้วย นับเป็นทิฏฐิพิเศษ ย่อมเกิดกับบุคคลผู้มิได้สดับพระสัทธรรม
นัตถิกทิฏฐิทั้ง ๑๐ อย่างนี้ เป็นสัคคาวรณ์คือห้ามสวรรค์ และเป็นมัคคาวรณ์คือห้ามมรรคผลนิพพาน เป็นทิฏฐิของ อชิตะ เกสกัมพล หนึ่งในครูทั้ง ๖
ส่วนสัมมาทิฏฐิ ๑๐ อย่างนั้น ตรงกันข้ามกับนัตถิกทิฏฐิ ๑๐ ประการนี้ คือ เปลี่ยนจาก นัตถิ เป็น อัตถิ เช่น อัตถิ ทินนัง เห็นว่าการให้ทานมีผล เป็นต้น