| |
เหตุปัจจัยที่ทำให้รูปเกิด   |  

รูปธรรมทั้งหลาย เกิดจากเหตุปัจจัย ๔ ประการ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร เกิดจากปัจจัย ๔ อย่างบ้าง ๓ อย่างบ้าง ๒ อย่างบ้าง อย่างเดียวบ้าง หมายความว่า ถ้าเป็นรูปกายของสัตว์มีชีวิต ก็เกิดจากปัจจัยทั้ง ๔ อย่าง คือ

๑. กรรม หมายถึง การกระทำต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น รูปที่เกิดจากกรรม เรียกว่า กัมมชรูป ได้แก่ รูปร่างสัณฐาน สีสันวรรณะ อวัยวะน้อยใหญ่ เพศหญิงเพศชาย ของสัตว์ทั้งหลาย ตลอดถึงสภาพความมีชีวิตของสัตว์ทั้งหลายที่เกี่ยวกับรูป

๒. จิต หมายถึง จิตที่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายแสดงปฏิกิริยาต่าง ๆ ออกมา รูปที่เกิดจากจิต เรียกว่า จิตตชรูป ได้แก่ การทรงตัวอยู่ได้ การหายใจเข้าออก การเคลื่อนไหวอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อย ตลอดถึงการเต้นของหัวใจ เป็นต้น ล้วนแต่เป็นปฏิกิริยาของจิตทั้งนั้น ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เป็นไป ถ้าขาดจิตเสียแล้ว สัตว์ทั้งหลาย ก็ไม่ต่างอะไรจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต

๓. อุตุ หมายถึง อุณหภูมิ คือ ความร้อน ความเย็น เป็นต้น ที่เป็นปัจจัยให้รูปต่าง ๆ เกิดขึ้น รูปที่เกิดจากอุตุ เรียกว่า อุตุชรูป ได้แก่ อุณหภูมิภายในและภายนอกของสัตว์ทั้งหลาย ทำให้สัตว์ทั้งหลายทรงตัวอยู่ได้ และดำเนินชีวิตไปได้ ถ้าขาดอุณหภูมิที่พอเหมาะแล้ว สัตว์ทั้งหลาย ก็มีชีวิตอยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน

๔. อาหาร หมายถึง อาหารที่เป็นปัจจัยให้รูปต่าง ๆ เกิดขึ้น รูปที่เกิดจากอาหาร เรียกว่า อาหารชรูป ได้แก่ กัมมชอาหาร คือ อาหารธาตุที่เกิดจากกรรมซึ่งอยู่ภายในร่างกายสัตว์ เรียกว่า อัชฌัตตโอชา ที่จะเป็นตัวรองรับอาหารที่อยู่ภายนอก ซึ่งสัตว์บริโภคเข้าไป เรียกว่า พหิทธโอชา ฉะนั้น การที่สัตว์แต่ละชนิดจะบริโภคอาหารชนิดใดเข้าไปได้นั้น อาหารชนิดนั้น ต้องมีสภาพที่เข้ากันได้กับอัชฌัตตโอชาที่อยู่ข้างในร่างกายของสัตว์นั้นด้วย มิฉะนั้นแล้ว อาหารชนิดนั้นอาจไม่เป็นประโยชน์แก่สัตว์นั้นก็ได้ ด้วยเหตุนี้ สัตว์แต่ละชนิด หรือแม้แต่มนุษย์ บางสังคมบางท้องถิ่น หรือบางคน ก็บริโภคอาหาร เครื่องดื่ม ได้ไม่เหมือนกัน เพราะกรรมที่สร้างอัชฌัตตโอชามาไม่เหมือนกันนั่นเอง

ในเรื่องรูปนี้ จะได้แสดงรายละเอียดในปริจเฉทที่ ๖ ว่าด้วยเรื่องรูปปรมัตถ์ ตอนที่ว่าด้วยเรื่องรูปสมุฏฐานนัย ผู้สนใจพึงศึกษาจากปริจเฉทที่ ๖ ต่อไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |