| |
บทสรุปเรื่องปสาทรูป ๕   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๑๘๘ ได้แสดงสรุปเนื้อหาของปสาทรูป ๕ ไว้ดังต่อไปนี้

ปสาทรูป คือ รูปใส

อีกนัยหนึ่ง ปสาทรูป คือ รูปอันเป็นที่ปรากฏของนิมิตอารมณ์ มีดวงจันทร์เป็นต้นโดยสภาวะของตนคล้ายกับฝังลึกลง หมายถึง รูปใสที่เกิดจากกรรมซึ่งมีสภาพเหมือนกระจกใสแวววับ ฯ

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว ปสาทรูปจึงมีความหมาย ๒ ประการ คือ

๑. รูปใส ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ปสีทตีติ ปสาทา” แปลความว่า รูปใดย่อมใส เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า ปสาท

๒. รูปอันเป็นที่ปรากฏของนิมิตอารมณ์ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ปสีทนฺติ เอตฺถ นิมิตฺตารมฺมณานิ สนฺทิสฺสนฺตีติ ปสาทา” แปลความว่า นิมิตอารมณ์ทั้งหลายย่อมปรากฏได้ในรูปที่มีความใสนี้ เพราะเหตุนั้น รูปที่มีความใสอันเป็นเหตุให้นิมิตอารมณ์ทั้งหลายปรากฏได้นี้ จึงชื่อว่า ปสาท

จักขุปสาทรูปเป็นต้นเหล่านี้ มีลักษณะใสซึ่งเกิดจากกรรมที่ต้องการจะเห็น เป็นต้นเป็นเหตุ หรือมีลักษณะคือความใสของมหาภูตรูปที่ควรกระทบกับรูปารมณ์ เป็นต้น

จักขุปสาทรูปดำรงซึมซาบเยื่อตาอยู่ ๗ ชั้น เหมือนน้ำมันซึมซับปุยนุ่น ๗ ชั้น ในสถานที่ที่เห็นได้ ซึ่งเป็นที่เกิดของสรีระสัณฐานของผู้ยืนอยู่ตรงหน้า มีขนาดเท่าหัวเล็น อยู่ตรงกลางแววตาดำที่มีตาขาวแวดล้อม

โสตปสาทรูปดำรงซึมซาบอยู่ตลอดสถานที่ที่มีขนสีแดงเล็กงอกขึ้นคล้ายวงแหวนภายในช่องหู

ฆานปสาทรูปดำรงซึมซาบอยู่ตลอดสถานที่ที่มีสัณฐานดั่งกีบเท้าแพะภายในช่องจมูก

ชิวหาปสาทรูปดำรงซึมซาบอยู่ตลอดสถานที่ที่มีสัณฐานดั่งปลายกลีบดอกบัวท่ามกลางลิ้นที่ประกอบด้วยอวัยวะสัณฐาน [คือลิ้น]

ชิวหาปสาทรูปดำรงซึมซาบอยู่ตลอดสถานที่ที่มีสัณฐานดั่งปลายกลีบดอกบัวท่ามกลางลิ้นที่ประกอบด้วยอวัยวะสัณฐาน [คือลิ้น]

ปสาทรูปทั้ง ๕ ย่อมให้สำเร็จความเป็นวัตถุและเป็นทวารของจิตที่เกิดทางปัญจทวารตามสมควร ธาตุทั้ง ๔ อย่างย่อมกระทำอุปการะแก่ปสาทรูปอย่างหนึ่ง ๆ ด้วยหน้าที่คือการทรงไว้ การเกาะกุม การสุกงอม และการเคลื่อนไหว เปรียบเหมือนพระพี่เลี้ยง ๔ คน ที่คอยบำรุงเลี้ยงดูขัตติยกุมารด้วยหน้าที่ คือ การอุ้ม ให้สรงสนาน แต่งพระองค์ และถวายงานพัด ทั้งอุตุ จิต และอาหารก็อุปถัมภ์ปสาทรูปประดุจพระราชบิดา พระเชษฐา และพระพี่นางอุปถัมภ์ขัตติยกุมารอยู่ ชีวิตินทรีย์ย่อมตามคุ้มครองปสาทรูปเป็นอย่างดีเปรียบประดุจหมอหลวงทิศาปาโมกข์ที่พระราชาทรงแต่งตั้งไว้ ตามคุ้มครองขัตติยกุมารอยู่ แม้อุปาทายรูปมีสี [วัณณรูป] เป็นต้นก็แวดล้อมปสาทรูป เปรียบเหมือนบุตรอำมาตย์ผู้เกิดร่วมกัน [สหชาตกับพระกุมาร] แวดล้อมขัตติยกุมารอยู่ ฉันนั้น

ขึ้นชื่อว่า จิตของเหล่าสัตว์เป็นสภาพอันวิจิตร สัญญาวิจิตรเพราะความวิจิตรแห่งจิต ตัณหาวิจิตรเพราะความวิจิตรแห่งสัญญา กรรมวิจิตรเพราะความวิจิตรแห่งตัณหา มหาภูตรูปที่เกิดจากกรรมย่อมวิจิตรเพราะความวิจิตรแห่งกรรม ปสาทรูปเหล่านี้มีความวิจิตรแตกต่างกัน เพราะความวิจิตรแห่งมหาภูตรูป ความจริง แม้ปสาทรูปจะเป็นรูปใส แต่บางอย่างก็ควรให้รูป [รูปารมณ์] กระทบ ไม่ควรให้เสียง [สัททารมณ์] เป็นต้นกระทบ บางอย่างควรให้เสียงเป็นต้นกระทบ แต่ไม่ควรให้รูป [วัณณรูป] เป็นต้นกระทบ เพราะเหตุนั้น ปสาทรูปจึงมีลักษณะไม่ระคนกันเองหรือระคนกับรูปอื่น ด้วยประการฉะนี้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |