| |
คู่ที่ ๑๑ อวินิพโภครูป กับ วินิพโภครูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีฎีการุ.๕๓๑ ท่านได้แสดงอวินิพโภครูปและวินิพโภครูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

คำว่า วณฺโณ [สี] เป็นชื่อของรูปารมณ์

พระอนุรุทธาจารย์เรียกอาหารรูปว่า โอชา [สารอาหาร]

คำว่า วินิพโภครูป คือ รูปที่แยกจากกันได้ หมายความว่า ถูกแยกไว้เป็นอย่าง ๆ โดยฐานะ สถานที่ และเหตุเกิด

คำว่า อวินิพโภคะ คือ แยกจากกันไม่ได้

คำว่า อวินิพโภครูป ก็คือ รูปที่แยกจากกันไม่ได้นั่นเอง

ในอวินิพโภครูปนี้ อาจารย์นันทเถระกล่าวว่า กลิ่น รส และโอชาแยกกันได้ในบางที่ จึงประสงค์เอาเฉพาะอวินิพโภครูป ๕ อย่างเท่านั้น ข้อความนี้จักปรากฏต่อไป

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๕๓๒ ท่านได้แสดงความหมายของอวินิพโภครูปและวินิพโภครูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

ชื่อว่า วรรณะ ด้วยอรรถว่า อันจักขุพึงยล คือพึงเห็น

ชื่อว่า โอชะ ด้วยอรรถว่า ยังรูปให้เกิดในลำดับที่ตนเกิด

รูป ๘ อย่าง ชื่อว่า อวินิพโภครูป เพราะไม่มีความพรากจากกันและกัน คือ ความเป็นไปแยกจากกันเป็นอย่าง ๆ แม้ในอารมณ์บางอย่างไม่ได้ ถึงแม้มติของผู้ที่ชอบพูดว่า ไม่มีกลิ่นเป็นต้นในรูปโลก ก็ถูกท่านอาจารย์ทั้งหลายคัดค้านเสียแล้ว ในปกรณ์นั้น ๆ

ท่านพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะได้แสดงอวินิพโภครูปและวินิพโภครูปรุ.๕๓๓ ไว้ดังต่อไปนี้

มหาภูตรูป ๔ รูปารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ อาหารรูป รวม ๘ รูปนี้ ชื่อว่า อวินิพโภครูป เพราะทั้ง ๘ รูปเหล่านี้ มีสภาพแยกจากกันไม่ได้ ต้องเกิดร่วมกันเสมอ แม้ในรูปที่เล็กที่สุด เช่น ปรมาณูเม็ดหนึ่ง ก็ต้องประกอบด้วยอวินิพโภครูป ๘ นี้ หมายความว่า ในบรรดารูปทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี้ จะขาดเสียซึ่งอวินิพโภครูป ๘ ไม่ได้เลย อย่างน้อยที่สุดก็ต้องประกอบด้วยอวินิพโภครูปทั้ง ๘ รูปนี้เสมอไป

ส่วนรูปที่เหลืออีก ๒๐ รูปนอกนั้น เป็นรูปที่แยกกันเกิดขึ้นได้ ไม่ได้เกิดร่วมกันทั้ง ๒๐ รูป คงเกิดขึ้นร่วมกันได้แต่เฉพาะหมู่พวกของตนเท่านั้น เพราะฉะนั้น รูป ๒๐ รูปเหล่านี้ จึงได้ชื่อว่า วินิพโภครูป และวินิพโภครูปเหล่านี้ แม้ว่าจะแยกกันเกิดขึ้นได้ก็จริง แต่ก็ต้องเกิดร่วมกันกับอวินิพโภครูปทั้ง ๘ นั้นเสมอไป

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๓๔ ได้แสดงเรื่องอวินิพโภครูปและวินิพโภครูปไว้ ดังต่อไปนี้

อวินิพโภครูป หมายถึง รูปที่แยกจากกันไม่ได้ มี ๘ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ อาหารรูป ๑

วินิพโภครูป หมายถึง รูปที่แยกจากกันได้ มี ๒๐ รูป ได้แก่ รูปที่เหลืออีก ๒๐ [เว้นอวินิพโภครูป ๘]

[อธิบายความว่า]

มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ และอาหารรูป ๑ รวมเป็น ๘ รูปนี้ ชื่อว่า อวินิพโภครูป รูปทั้ง ๘ เหล่านี้ต้องเกิดขึ้นร่วมกันเสมอ ไม่ว่าจะเกิดจากสมุฏฐานใดก็ตาม จึงเป็นรูปที่แยกจากกันไม่ได้ หมายความว่า บรรดารูปทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี้ แม้รูปนั้นจะเล็กที่สุด มีปริมาณเท่าปรมาณูเม็ดหนึ่งก็ตาม ก็ต้องประกอบด้วยอวินิพโภครูป ๘ นี้เป็นอย่างน้อย จะขาดจากอวินิพโภครูป ๘ เหล่านี้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น อวินิพโภครูปเหล่านี้จึงเป็นรูปที่แยกจากกันไม่ได้

ส่วนรูปที่เหลืออีก ๒๐ รูปนั้น เป็นรูปที่แยกจากกันได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดร่วมกัน คงเกิดร่วมกันได้เฉพาะกลุ่มของตนเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วินิพโภครูป ซึ่งวินิพโภครูปเหล่านี้แม้จะแยกกันเกิดขึ้นก็จริง แต่เมื่อเกิดขึ้น ต้องเกิดร่วมกับอวินิพโภครูป ๘ เสมอ จะเกิดตามลำพังเฉพาะวินิพโภครูป ๒๐ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเฉพาะกลุ่มของตนไม่ได้เลย

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

ในอธิการว่าด้วยเรื่องอวินิพโภครูปและวินิพโภครูปนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมเนื้อหาและคำอธิบายมาประมวลอธิบายขยายความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

อวินิพโภครูป หมายถึง รูปที่แยกจากกันไม่ได้ มี ๘ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ [ปถวีธาตุคือธาตุดิน ๑ อาโปธาตุคือธาตุน้ำ ๑ เตโชธาตุคือธาตุไฟ ๑ วาโยธาตุคือธาตุลม ๑] วัณณรูปคือรูปารมณ์ ได้แก่ สีต่าง ๆ ๑ คันธรูปคือคันธารมณ์ ได้แก่ กลิ่นต่าง ๆ ๑ รสรูปคือ รสารมณ์ ได้แก่ รสต่าง ๆ ๑ อาหารรูปคือโอชา ได้แก่ สารอาหารที่อยู่ในสิ่งต่าง ๆ ๑ หมายความว่า อวินิพโภครูปทั้ง ๘ เหล่านี้ เป็นรูปที่ไม่สามารถเกิดแยกจากกันได้ ต้องเกิดร่วมกันเสมอ ไม่ว่าจะเกิดจากสมุฏฐานใด ในบรรดาสมุฏฐานทั้ง ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ในบรรดารูปทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี้หรือในโลกไหน ๆ ก็ตาม ย่อมมีอวินิพโภครูป ๘ เหล่านี้เกิดร่วมอยู่ด้วยเสมอ แม้ในอากาศที่มองเห็นเป็นความว่างเปล่า หรือแม้ในรูปที่เล็กที่สุด เช่น ปรมาณูเม็ดหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีอวินิพโภครูป ๘ เหล่านี้เกิดร่วมอยู่ด้วยทุกรูปทุกอณูและปรมาณู โดยจะขาดเสียรูปใดรูปหนึ่งไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น รูปทั้ง ๘ เหล่านี้จึงได้ชื่อว่า อวินิพโภครูป

วินิพโภครูป หมายถึง รูปที่แยกจากกันได้ มี ๒๐ รูป ได้แก่ รูปที่เหลืออีก ๒๐ [เว้นอวินิพโภครูป ๘] หมายความว่า รูปที่เหลืออีก ๒๐ รูป ที่นอกจากอวินิพโภครูป ๘ เหล่านี้ ย่อมสามารถเกิดแยกจากกันได้ ไม่ได้เกิดร่วมกันทั้ง ๒๐ รูปเสมอไป คงเกิดร่วมกันแต่เฉพาะในหมวดหมู่หรือกลาปของตนเท่านั้น แต่ก็ต้องเกิดร่วมกับอวินิพโภครูป ๘ นั้นเสมอ จะเกิดตามลำพัง โดยเฉพาะวินิพโภครูปเท่านั้นไม่ได้ [ดังจะกล่าวต่อไปในเรื่องกลาปรูป] ในบรรดาวินิพโภครูป ๒๐ นั้น สัททารมณ์ย่อมปรากฏทางโสตทวาร ส่วนรูปที่เหลืออีก ๑๙ รูป มีสภาพเป็นธัมมารมณ์ย่อมปรากฏทางมโนทวารเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |