| |
คู่ที่ ๑๐ โคจรัคคาหกรูป กับ อโคจรัคคาหกรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๕๒๖ ท่านได้แสดงโคจรัคคาหกรูปและ อโคจรัคคาหกรูปไว้ ดังต่อไปนี้

รูป ๕ อย่าง คือ ปสาทรูป ๕ มีจักขุปสาทรูป [และโสตปสาทรูป] เป็นต้น ย่อมรับอารมณ์ด้วยการไม่สัมผัสวัตถุ ส่วนปสาทรูปอีก ๓ มีฆานปสาทรูปเป็นต้น ย่อมรับอารมณ์ด้วยการสัมผัสวัตถุ ชื่อว่า โคจรัคคาหิกรูป [รูปที่รับอารมณ์ได้]

อารมณ์ที่สัมผัสวัตถุ หมายถึง อารมณ์ที่เกิดขึ้นแนบสนิทชิดกับปสาทรูป

อารมณ์ที่ไม่สัมผัสวัตถุ หมายถึง อารมณ์ที่เกิดขึ้นพ้นจากวัตถุแม้เพียงปลายผม

ถามว่า เหตุใดจักขุประสาทเป็นต้น ๒ อย่าง [จักขุประสาทกับโสตประสาท] จึงรับอารมณ์ที่ไม่สัมผัสวัตถุ และฆานประสาท เป็นต้น ๓ อย่าง [ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท] จึงรับอารมณ์ที่สัมผัสวัตถุ ?

ตอบว่า เพราะมีเหตุปัจจัยต่างกัน หมายความว่า แสงสว่างเป็นเหตุให้จักขุประสาทรับรู้รูป และอากาศ [วิวรากาส] เป็นเหตุให้โสตประสาทรับรู้เสียง ถ้าจักขุประสาทกับรูปเกิดขึ้นแนบชิดกัน เครื่องอุปถัมภ์คือแสงสว่างย่อมไม่ได้โอกาส ถ้าโสตประสาทกับเสียงเกิดขึ้นแนบชิดกัน เครื่องอุปถัมภ์คืออากาศก็ไม่ได้โอกาสเช่นเดียวกัน

ส่วนวาโยธาตุ อาโปธาตุ และปถวีธาตุ เป็นเหตุให้ฆานประสาทเป็นต้น ๓ อย่าง [ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท] รับรู้กลิ่น รับรู้รส รับรู้สัมผัส วาโยธาตุ คือ ธาตุลมในจมูกที่สุดดมกลิ่น เป็นเหตุให้กลิ่นสัมผัสกับวัตถุรูป [ฆานวัตถุ] อาโปธาตุ คือ น้ำที่เปียกลิ้น เป็นเหตุให้รสสัมผัสกับวัตถุรูป [ชิวหาวัตถุ] เพราะรสแผ่ซ่านสู่ลิ้นที่แห้งไม่ได้ และปถวีธาตุย่อมเป็นเหตุให้เกิดการกระทบ [ถัทธปถวี] เพราะแสงสว่างหรือธุลีที่อาศัยปถวีธาตุซึ่งอ่อนกำลัง แม้สัมผัสกายก็ไม่กระทบกายประสาท [ต้องเป็นปถวีธาตุที่มีความแข็งเท่านั้น จึงจะสัมผัสกับกายประสาทได้]

โดยประการดังนี้ ปสาทรูปย่อมรับรู้อารมณ์ต่างกัน ด้วยการสัมผัสหรือไม่สัมผัสกับวัตถุ เพราะมีเหตุปัจจัยต่างกัน ด้วยประการฉะนี้

ในบรรดารูปเหล่านั้น ลำดับแรก การที่จักขุปสาทรับเอาอารมณ์ที่ยังไม่สัมผัส [วัตถุ] ย่อมประจักษ์ชัดเจน เพราะจักขุประสาทไม่สามารถเห็นสีตาหรือโคนคิ้วที่อยู่ใกล้ได้ แต่สามารถเห็นสีที่ใหญ่โตมีดวงจันทร์เป็นต้นหรือสีที่ถูกปิดบัง มีแก้วผลึกเป็นต้น ในที่ไกลได้ ทั้งการกำหนดทิศทางของจักขุประสาทก็ปรากฏชัดด้วย

ถามว่า โสตประสาทรับเอาอารมณ์ที่ยังไม่สัมผัส [วัตถุ] ย่อมปรากฏอย่างไร เพราะเสียงแต่ที่ไกลต้องใช้เวลานานจึงจะได้ยิน ทั้งเสียงที่เกิดขึ้นทางทิศตะวันตก เมื่อมีพระเจดีย์ใหญ่เป็นต้นคั่นอยู่ ย่อมได้ยินทางทิศใต้บ้าง ทางทิศเหนือบ้าง หรือไม่ได้ยินเลยบ้าง ?

ตอบว่า กลุ่มเสียงที่เกิดขึ้นปรากฏชัดแก่บุคคลที่ยืนอยู่ใกล้ ตั้งแต่คนแรกจนถึงคนสุดท้ายตามลำดับ และกำลังแห่งการกระทบ [ที่โสตประสาท] ก็มีกำลัง ชวนวิถีจิตที่รับรู้ว่าเราฟังอยู่ ย่อมดำเนินไปอย่างรวดเร็วต่อเนื่องไม่ขาดสาย ส่วนบุคคลที่ยืนอยู่ไกล จะมีกำลังกระทบน้อย จึงไม่ปรากฏชัดในเบื้องแรก จะชัดเจนได้โดยความเป็นกลุ่มเสียงในท่ามกลางหรือที่สุด ต่อเมื่อผ่านไปนาน ชวนวิถีจิตที่รับรู้จึงจะดำเนินไปได้ พวกเขาจึงสำคัญว่า ได้ยินเสียงเบาหรือใช้เวลานานกว่าจะได้ยิน

เสียงย่อมดำเนินไปตามธาตุที่อาศัยต่อ ๆ มา เมื่อดำเนินไปอยู่เช่นนี้ ได้ดำรงอยู่ในที่แผ่ไปแล้ว จึงกระทบกับโสตปสาทนับพันของบุคคลที่ฟัง ซึ่งยืนอยู่ในที่สามารถได้ยินเสียง เมื่อมีเจดีย์ใหญ่เป็นต้นคั่นอยู่ ย่อมมากระทบกับโสตประสาท จากที่แผ่ไปทางด้านทิศใต้หรือทิศเหนือ ซึ่งมีอากาศเป็นช่องโดยตรง ถ้าเสียงเบามาก ย่อมไม่ถูกได้ยินบ้าง เมื่อเสียงดำเนินไปอยู่เช่นนี้ ย่อมไม่เกิดขึ้นแนบชิดที่โสตประสาท จึงไม่สัมผัสกับวัตถุ ส่วนเสียงที่เกิดขึ้นแนบชิด [กับโสตประสาท] บุคคลจะได้ยินไม่ได้ ถ้าเสียงสัมผัสกับวัตถุได้ เสียงภายในท้องก็จะถูกได้ยินทางข้างนอกไม่ได้ เหมือนกลิ่นภายในท้องที่รับรู้ทางภายนอกไม่ได้ และการกำหนดทิศทางของเสียง ย่อมมีไม่ได้เหมือนกลิ่น [ที่บุคคลกำหนดทิศทางได้]

ในคัมภีร์วิภาวินีพิจารณ์ท่านได้แสดงไว้ว่า “ถามว่า จักขุประสาทกับโสตประสาททั้ง ๒ นั้นรับเอาอารมณ์โดยเคลื่อนไปสู่สถานที่เกิดอารมณ์หรือ? ตอบว่า หากเป็นเช่นนั้น รูปและเสียงพึงเป็นอารมณ์ของจักขุประสาทกับโสตประสาททั้ง ๒ ได้ ในการอธิษฐาน [ของผู้ทรงทิพยจักขุและทิพยโสตะ]” ข้อความนั้นไม่งาม เพราะไม่มีความสงสัยในการไปสู่สถานที่เกิดอารมณ์ของจักขุประสาทเป็นต้นทั้ง ๒ อย่างรุ.๕๒๗

โคจรคาหิกรูป คือ รูปที่รับอารมณ์ หมายความว่า รับนิมิตอารมณ์ที่มาปรากฏ เพราะเป็นรูปใสกระจ่าง

ส่วนในคัมภีร์วิภาวินีท่านกล่าวว่า [ชื่อว่า โคจรคาหิกรูป] เพราะเป็นที่ตั้งของจิตแล้วมีสภาพรับอารมณ์นั้น ๆ

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๕๒๘ ท่านได้แสดงความหมายของโคจรัคคาหกรูปและอโคจรัคคาหกรูปไว้ดังต่อไปนี้

บทว่า อสมฺปตฺตวเสน มีความว่า ด้วยอำนาจแห่งโคจร [อารมณ์] ที่ยังไม่มาถึงตน หรือด้วยอำนาจแห่งตนยังไม่ถึงประเทศแห่งอารมณ์ ด้วยบทว่า จักขุและโสตะอันรูปและเสียงยังไม่มาถึงตน หรือจักขุและโสตะนั้นยังไม่ถึงซึ่งรูปและเสียงนั้นด้วยตนเอง ย่อมรับเอาอารมณ์นั้นได้ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงประพันธ์คาถานี้ไว้ว่า

ก็ในวัตถุเหล่านี้ จักขุและโสตะย่อมรับอารมณ์ที่ยังไม่ถึงได้

เพราะความเป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ในโคจรที่มีสิ่งอื่นคั่นใน

ระหว่าง หรือมีขนาดใหญ่ จริงอย่างนั้น จักขุย่อมเห็นรูปที่ตั้งอยู่

ในประเทศที่ไกล ทั้งที่อยู่ภายในแห่งวัตถุมีแก้วผลึกเป็นต้น

ทั้งที่ใหญ่ มีรูปแห่งภูเขา เป็นต้น เสียงที่ไปในอากาศธาตุเป็นต้น

แม้ที่เป็นไปในภายในแห่งหนังท้องก็ดี ที่ดังมีเสียงแห่งระฆังเป็นต้น

ก็ดี ย่อมเป็นโคจรแห่งโสตะได้ ถ้าจะพูดว่า จักขุและโสตะนั้น

ไปถึงประเทศแห่งอารมณ์แล้ว ซ่านไปรับอารมณ์นั้นได้ไซร้

รูปและเสียงนั้นพึงเป็นโคจรแห่งจักขุและโสตะนั้น แม้ในเพราะ

อันแล่นไปสู่สถานที่ที่ตั้งอาศัย ถ้ารูปและเสียงนั้นไปถึงความตั้งอยู่

กับด้วยอินทรีย์ เพราะเนื่องด้วยภูตรูปได้ไซร้ รูปที่เกิดแต่กรรม

จิตและโอชะ และเสียงที่เกิดแต่จิต ย่อมไม่เป็นโคจรแห่งจักขุและ

โสตะเหล่านั้น เพราะว่า รูปและเสียงเหล่านั้นไม่เกิดในภายนอก

อนึ่ง รูปและเสียงเหล่านั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้

ในพระบาลีโดยไม่แปลกกันว่า เป็นอารมณ์แห่งจักขุและโสตะ

เหล่านั้นแล ถ้าจักขุและโสตะทั้ง ๒ นี้ ย่อมรับเอาแต่อารมณ์

ที่ใกล้ตนเท่านั้นไซร้ จักขุก็จะพึงเห็นดวงตาและโคนแห่งขนตาได้

เช่นเดียวกัน อนึ่ง การกำหนดทิศและประเทศแห่งเสียงก็จะพึงมีไม่ได้

และการยิงลูกศรให้ตกไปในหูของตนแห่งนายขมังธนูผู้ยิงตามเสียงก็จะพึงมี

รูป ๕ อย่าง ชื่อว่า โคจรคาหิกรูป เพราะมีความเป็นธรรมชาติอันวิญญาณตั้งอาศัยแล้วรับอารมณ์นั้น ๆ เป็นสภาพ รูปนอกจากนี้ คือ รูป ๒๓ อย่าง ชื่อว่า อโคจรคาหิกรูป เพราะไม่มีการรับอารมณ์

ท่านพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ได้แสดงสนิทัสสนรูปและอนิทัสสนรูปรุ.๕๒๙ ไว้ดังต่อไปนี้

ปสาทรูป ๕ ชื่อว่า โคจรัคคาหกรูป เพราะเป็นรูปที่รับปัญจารมณ์ได้ หมายความว่า จักขุปสาทรับรูปารมณ์ ทำให้เกิดการเห็นได้ โสตปสาทรับสัททารมณ์ ทำให้เกิดการได้ยินได้ ฆานปสาทรับคันธารมณ์ ทำให้เกิดการรู้กลิ่นได้ ชิวหาปสาทรับรสารมณ์ ทำให้เกิดการรู้รสได้ กายปสาทรับโผฏฐัพพารมณ์ ทำให้เกิดการรู้สัมผัสถูกต้องได้

ในบรรดาโคจรัคคาหกรูปทั้ง ๕ อย่างนั้น แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ

๑. อสัมปัตตโคจรัคคาหกรูป หมายความว่า รูปที่รับอารมณ์ที่ยังมาไม่ถึง ได้แก่ จักขุปสาทรูป กับ โสตปสาทรูป

๒. สัมปัตตโคจรัคคาหกรูป หมายความว่า รูปที่รับอารมณ์ที่มาถึงแล้ว ได้แก่ ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป

อธิบายความว่า จักขุปสาทย่อมรับได้เฉพาะรูปารมณ์ที่ยังมาไม่ถึงเท่านั้น ถ้ารูปารมณ์นั้นเข้ามาถึงตนแล้ว จักขุปสาทย่อมไม่สามารถรับรูปารมณ์นั้นได้ กล่าวคือ ไม่สามารถมองเห็นได้นั่นเอง เช่น เมื่อเรายกมือขึ้นตรงหน้าเราในระยะที่สมควร ตาของเราย่อมมองเห็นมือได้ แต่ถ้าเราเขยิบมือนั้นเข้ามาจนถึงตาแล้ว ตาย่อมมองไม่เห็นมือนั้น โสตปสาทก็เช่นเดียวกัน ย่อมรับได้เฉพาะเสียงที่ยังมาไม่ถึงประสาทหูเท่านั้น ถ้าเสียงนั้นเข้าถึงโสตปสาทที่อยู่ภายในช่องหูแล้ว โสตปสาทย่อมไม่สามารถรับเสียงนั้นได้ กล่าวคือ ได้ยินไม่ชัดเจนนั่นเอง เพราะที่ได้ยินกันนั้น ไม่ใช่เสียงที่เข้าถึงโสตปสาท แต่เป็นเสียงที่อยู่ในระยะที่สมควรแก่การได้ยินเท่านั้น เพราะฉะนั้น จักขุปสาทและโสตปสาททั้ง ๒ นี้ จึงชื่อว่า อสัมปัตตโคจรัคคาหกรูป แปลว่า รูปที่รับอารมณ์ที่ยังมาไม่ถึงตน

ส่วนฆานปสาท ชิวหาปสาท และกายปสาท ทั้ง ๓ นี้ ต้องรับอารมณ์ที่มาถึงตนแล้วเท่านั้น ถ้าอารมณ์นั้นยังมาไม่ถึงตน ย่อมไม่สามารถรับได้ กล่าวคือ ฆานปสาทต้องรับเอาคันธารมณ์ที่เข้ามาถึงตนแล้วจึงจะรู้กลิ่นได้ ถ้าคันธารมณ์หรือกลิ่นนั้นยังไม่เข้ามากระทบถึงฆานปสาทแล้ว ย่อมไม่สามารถรู้กลิ่นได้ ชิวหาปสาทต้องรับเอารสารมณ์ที่มาถึงแล้ว จึงจะรู้รสได้ ถ้ารสารมณ์หรือรสนั้นยังไม่เข้ามากระทบถึงตนแล้ว ชิวหาปสาทย่อมไม่สามารถรู้รสนั้นได้ กายปสาทต้องรับเอาโผฏฐัพพารมณ์ที่มาถึงตนแล้ว จึงจะรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ได้ ถ้าโผฏฐัพพารมณ์นั้นยังไม่เข้ามากระทบถึงกายปสาทแล้ว ย่อมไม่สามารถรู้สึกถึงเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ได้ เพราะฉะนั้น ปสาทรูปทั้ง ๓ นี้ จึงชื่อว่า สัมปัตตโคจรัคคาหกรูป แปลว่า รูปที่รับอารมณ์ที่มาถึงตนแล้ว

ส่วนรูปที่เหลืออีก ๒๓ รูป ชื่อว่า อโคจรัคคาหกรูป เพราะเป็นรูปที่ไม่สามารถรับกระทบกับอารมณ์ได้นั่นเอง

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๓๐ ได้แสดงเรื่องโคจรัคคาหกรูปและอโคจรัคคาหกรูปไว้ ดังต่อไปนี้

โคจรัคคาหกรูป หมายถึง รูปที่สามารถรับปัญจารมณ์ได้มี ๕ รูปได้แก่ปสาทรูป ๕

อโคจรัคคาหกรูป หมายถึง รูปที่ไม่สามารถรับปัญจารมณ์ได้ มี ๒๓ รูป ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๓ [เว้นปสาทรูป ๕]

[อธิบายความว่า]

ปสาทรูป ๕ ชื่อว่า โคจรัคคาหกรูป เพราะเป็นรูปที่มีความใสสามารถรับกระทบกับปัญจารมณ์ได้ กล่าวคือ

จักขุปสาทสามารถรับรูปารมณ์ ทำให้เกิดการเห็น

โสตปสาทสามารถรับสัททารมณ์ ทำให้เกิดการได้ยิน

ฆานปสาทสามารถรับคันธารมณ์ ทำให้เกิดการรู้กลิ่น

ชิวหาปสาทสามารถรับรสารมณ์ ทำให้เกิดการรู้รส

กายปสาทสามารถรับโผฏฐัพพารมณ์ ทำให้เกิดการรู้สัมผัส

เพราะฉะนั้น ปสาทรูปทั้ง ๕ นี้ จึงชื่อว่า โคจรัคคาหกรูป และโคจรัคคาหกรูปนี้ มี ๒ ชนิด คือ

๑. อสัมปัตตโคจรัคคาหกรูป หมายถึง รูปที่สามารถรับอารมณ์ที่ยังมาไม่ถึงตนได้ มี ๒ รูป ได้แก่ จักขุปสาทรูป และ โสตปสาทรูป

๒. สัมปัตตโคจรัคคาหกรูป หมายถึง รูปที่สามารถรับอารมณ์ที่มาถึงตนแล้ว คือ กระทบแล้วนั่นเอง มี ๓ รูป ได้แก่ ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป และกายปสาทรูป

ธรรมดาจักขุปสาทย่อมสามารถรับรูปารมณ์ได้โดยอาศัยแสงสว่างกระทบถูกต้องสิ่งของนั้นแล้วสะท้อนมากระทบกับจักขุปสาท ทำให้เกิดการเห็นรูปารมณ์นั้นขึ้นมา ไม่ใช่ว่าสิ่งของที่แสดงรูปารมณ์นั้นจะต้องมากระทบกับจักขุปสาทโดยตรงจึงจะเห็นได้ ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่า จักขุปสาทย่อมรับได้เฉพาะรูปารมณ์ที่ยังมาไม่ถึงตน โสตปสาทก็เช่นเดียวกัน สามารถรับสัททารมณ์ได้โดยอาศัยช่องว่างหรือลมพัดพามา เช่น เสียงที่เกิดจากการตีระฆังดังมาให้ได้ยินนั้น ระฆังและโสตปสาทย่อมอยู่ห่างกันในระยะอันสมควร จึงจะสามารถได้ยิน จึงกล่าวได้ว่า โสตปสาทนั้นย่อมรับได้เฉพาะสัททารมณ์ที่ยังมาไม่ถึงตน เท่านั้น เพราะฉะนั้น จักขุปสาทและโสตปสาททั้ง ๒ นี้ จึงชื่อว่า อสัมปัตตโคจรัคคาหกรูป

ส่วนฆานปสาท ชิวหาปสาท และกายปสาททั้ง ๓ นี้ ต้องมีอารมณ์มาถึงแล้ว โดยการกระทบซึ่งกันและกัน ถ้าอารมณ์เหล่านั้นยังมาไม่ถึง กล่าวคือ ยังไม่กระทบซึ่งกันและกันแล้ว ย่อมไม่สามารถรับอารมณ์นั้นได้ หมายความว่า ฆานปสาทต้องรับคันธารมณ์ที่มาถึงตนคือกระทบกันแล้ว จึงรู้กลิ่นได้ ชิวหาปสาทต้องรับรสารมณ์ที่มาถึงตนแล้ว คือกระทบกันแล้ว จึงจะรู้รสได้ กายปสาทต้องรับโผฏฐัพพารมณ์ที่มาถึงตนแล้ว คือ กระทบกันแล้ว จึงจะรู้สัมผัสได้ ถ้าคันธารมณ์ รสารมณ์ และโผฏฐัพพารมณ์ยังมาไม่ถึงตน กล่าวคือ ยังไม่เข้ามากระทบกับปสาทรูปนั้น ๆ แล้ว ย่อมไม่สามารถรู้กลิ่น รู้รส และรู้สัมผัสได้เลย เพราะฉะนั้น ปสาทรูปทั้ง ๓ คือ ฆานปสาท ชิวหาปสาท และกายปสาท จึงได้ชื่อว่า สัมปัตตโคจรัคคาหกรูป

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

ในอธิการว่าด้วยเรื่องโคจรัคคาหกรูปและอโคจรัคคาหกรูปนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมเนื้อหาและคำอธิบายมาประมวลอธิบายขยายความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

๑. โคจรัคคาหกรูป [หรือ โคจรคาหิกรูป] หมายถึง รูปที่สามารถรับกระทบกับปัญจารมณ์ได้ มี ๕ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ หมายความว่า ปสาทรูปทั้ง ๕ นี้เป็นรูปที่สามารถรับกระทบกับรูปที่เป็นอารมณ์ซึ่งมีสภาวะที่กระทบกันได้แล้วทำให้เกิดกระบวนการรับรู้อารมณ์นั้น ๆ ได้ กล่าวคือ จักขุปสาทรูปสามารถรับกระทบกับรูปารมณ์แล้วทำให้เกิดกระบวนการรับรู้ของจักขุทวารวิถีคือการเห็นรูปได้ โสตปสาทรูปสามารถรับกระทบกับสัททารมณ์แล้วทำให้เกิดกระบวนการรับรู้ของโสตทวารวิถีคือการได้ยินเสียงได้ ฆานปสาทรูปสามารถรับกระทบกับคันธารมณ์แล้วทำให้เกิดกระบวนการรับรู้ของ ฆานทวารวิถีคือการรู้กลิ่นได้ ชิวหาปสาทรูปสามารถรับกระทบกับรสารมณ์แล้วทำให้เกิดกระบวนการรับรู้ของชิวหาทวารวิถีคือการรู้รสได้ กายปสาทรูปสามารถรับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์แล้วทำให้เกิดกระบวนการรับรู้ของกายทวารวิถีคือการรู้สัมผัสได้ เพราะฉะนั้น ปสาทรูปทั้ง ๕ นี้ จึงได้ชื่อว่า โคจรัคคาหกรูป [หรือโคจรคาหิกรูป] ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ

๑.๑ อสัมปัตตโคจรัคคาหกรูป หมายความว่า เป็นรูปที่สามารถรับกระทบกับอารมณ์ที่ยังมาไม่ถึงตนได้ มี ๒ รูป ได้แก่ จักขุปสาทรูป และโสตปสาทรูป

อธิบายความว่า จักขุปสาทรูปย่อมสามารถรับกระทบกับรูปารมณ์ได้โดยอาศัยแสงสว่างที่กระทบถูกต้องกับสิ่งของนั้น ๆ แล้วสะท้อนมากระทบกับจักขุปสาทรูป ทำให้เกิดการเห็นรูปารมณ์ขึ้น ไม่ใช่ว่าสิ่งของที่แสดงรูปารมณ์นั้นจะต้องมากระทบกับจักขุปสาทรูปโดยตรงแต่ประการใด จึงอาจกล่าวได้ว่า จักขุปสาทรูปย่อมรับกระทบได้เฉพาะรูปารมณ์ที่ยังมาไม่ถึงตนคือยังไม่เข้ามากระทบถึงตนเท่านั้น โสตปสาทรูปก็เช่นเดียวกัน ย่อมสามารถรับกระทบได้เฉพาะสัททารมณ์ที่ยังมาไม่ถึงตนคือสิ่งที่เป็นฐานปรากฏเสียงนั้นยังไม่เข้ามากระทบถึงตนเท่านั้น โดยอาศัยช่องว่างและลมพัดพาเสียงนั้นเข้ามา เช่น เสียงที่เกิดจากการตีระฆังดังมาให้ได้ยินนั้น ระฆังและโสตปสาทรูปย่อมอยู่ห่างกันในระยะพอสมควร จึงจะสามารถได้ยินชัดเจน ถ้าระฆังกับโสตปสาทรูปมาประชิดติดกันแล้ว ย่อมไม่สามารถได้ยินเสียงระฆังนั้นได้ จึงกล่าวได้ว่า โสตปสาทรูปย่อมรับได้เฉพาะสัททารมณ์ที่ยังมาไม่ถึงตน ถ้าสัททารมณ์นั้นมาอยู่ใกล้ตนเกินไป ย่อมได้ยินไม่ชัดเจน เช่น เวลาที่คนพูดกรอกหูดัง ๆ ย่อมทำให้เกิดอาการแสบแก้วหูและได้ยินไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้น จักขุปสาทรูปและโสตปสาทรูป ทั้ง ๒ อย่างนี้ จึงได้ชื่อว่า อสัมปัตตโคจรัคคาหกรูป

๑.๒ สัมปัตตโคจรัคคาหกรูป หมายความว่า เป็นรูปที่สามารถรับกระทบกับอารมณ์ที่มาถึงตนแล้ว คือ มีอารมณ์มากระทบถึงปสาทรูปนั้น ๆ แล้วนั่นเอง มี ๓ รูป ได้แก่ ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป

อธิบายความว่า ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป และกายปสาทรูป ทั้ง ๓ นี้ ต้องมีอารมณ์มากระทบถึงตนแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถรับกระทบกับอารมณ์นั้นได้ ถ้าอารมณ์นั้นยังมาไม่ถึง คือ ยังไม่ได้กระทบถึงตนแล้วไซร้ ปสาทรูปทั้ง ๓ อย่างนี้ย่อมไม่สามารถรับกระทบกับอารมณ์นั้นได้ กล่าวคือ ฆานปสาทรูปจะรับคันธารมณ์ได้ ก็ต่อเมื่อคันธารมณ์นั้นมากระทบที่ฆานปสาทรูปแล้วเท่านั้น จึงจะทำให้เกิดกระบวนการรับรู้คันธารมณ์คือรู้กลิ่นได้ ชิวหาปสาทรูปจะรับรสารมณ์ได้ ก็ต่อเมื่อรสารมณ์คือรสนั้นมากระทบที่ชิวหาปสาทรูปแล้ว จึงจะทำให้เกิดกระบวนการรับรู้รสารมณ์คือการรับรู้รสได้ กายปสาทรูปจะรับโผฏฐัพพารมณ์ได้ ก็ต่อเมื่อโผฏฐัพพารมณ์นั้นมากระทบที่กายปสาทรูปแล้ว จึงจะทำให้เกิดกระบวนการรับรู้โผฏฐัพพารมณ์คือการรู้สัมผัสต่าง ๆ ได้ ถ้าคันธารมณ์ยังไม่ได้กระทบกับฆานปสาทรูปแล้ว ย่อมไม่สามารถจะรับรู้คันธารมณ์คือรู้กลิ่นนั้นได้ ถ้ารสารมณ์ยังไม่ได้กระทบกับชิวหาปสาทรูปแล้ว ย่อมไม่สามารถจะรับรู้รสารมณ์คือรสนั้นได้ ถ้าโผฏฐัพพารมณ์ยังไม่ได้กระทบกับกายปสาทรูปแล้ว ย่อมไม่สามารถจะรับรู้โผฏฐัพพารมณ์คือสัมผัสนั้น ๆ ได้ เพราะฉะนั้น ปสาทรูปทั้ง ๓ อย่างนี้ จึงได้ชื่อว่า สัมปัตตโคจรัคคาหกรูป

๒. อโคจรัคคาหกรูป หมายถึง รูปที่ไม่สามารถรับกระทบกับปัญจารมณ์ได้ มี ๒๓ ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๓ [เว้นปสาทรูป ๕] หมายความว่า รูปทั้ง ๒๓ รูปที่นอกจากปสาทรูป ๕ นั้น เป็นรูปที่ไม่สามารถรับกระทบกับปัญจารมณ์ตามที่กล่าวแล้วได้ แต่เป็นรูปที่มีสภาพเป็นอารมณ์ กล่าวคือ วัณณรูปคือสีต่าง ๆ ย่อมมีสภาพเป็นรูปารมณ์ สัททรูปคือเสียงต่าง ๆ ย่อมมีสภาพเป็นสัททารมณ์ คันธรูปคือกลิ่นต่าง ๆ ย่อมมีสภาพเป็นคันธารมณ์ รสรูปคือรสต่าง ๆ ย่อมมีสภาพเป็นรสารมณ์ ปถวีธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมมีสภาพเป็นโผฏฐัพพารมณ์ และรูปที่เหลืออีก ๑๖ รูป ที่เรียกว่า สุขุมรูป ๑๖ นั้น ย่อมมีสภาพเป็นธัมมารมณ์ที่กระทบกับภวังคจิต ทำให้เกิดกระบวนการรับรู้ทางมโนทวารเท่านั้น

อนึ่ง รูปทั้ง ๒๘ นั้น ย่อมสามารถปรากฏเป็นธัมมารมณ์แก่มโนทวารวิถีจิตได้ทั้งหมด กล่าวคือ ในขณะที่นึกคิดพิจารณารูปเหล่านั้นในทางใจ โดยไม่ได้อาศัยปสาทรูป ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะปัญจารมณ์ที่เป็นอดีตและอนาคต และรูปที่เหลือทั้งหมดที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ย่อมปรากฏเป็นธัมมารมณ์แก่มโนทวารวิถีจิตได้เท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |