| |
การยิ้มและการหัวเราะ ๖ ประการ   |  

การยิ้มและการหัวเราะนั้น เป็นจิตตชรูปที่เกิดขึ้นโดยอาศัยกามชวนจิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ๑๓ ดวงเท่านั้น ได้แก่ โลภโสมนัส ๔ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลโสมนัส ๔ และมหากิริยาโสมนัส ๔ ซึ่งมีอาการเป็นไป ๖ ประเภท คือ

๑. สิตะ การยิ้มอยู่แต่ในหน้า โดยไม่ปรากฏไรฟัน [รัศมีแห่งฟันไม่ปรากฏออกมา] เป็นการยิ้มของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น และเป็นการยิ้มด้วยกิริยาจิต ๕ ดวง ได้แก่ หสิตุปปาทจิต ๑ และมหากิริยาโสมนัส ๔ ดวงใดดวงหนึ่งเท่านั้น

๒. หสิตะ การยิ้มพอเห็นไรฟัน [มีรัศมีแห่งฟันปรากฏออกมา] เป็นการยิ้มที่เกิดจากจิตของพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน และปุถุชน แต่การยิ้มชนิดนี้ นอกจากพระอรหันต์แล้ว ย่อมเป็นการยิ้มที่ประกอบด้วยเหตุอันเป็นบุญ หรือเหตุอันเป็นบาปเสมอ กล่าวคือ การยิ้มที่ประกอบด้วยกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ซึ่งเป็นการยิ้มด้วยจิต ๑๓ ดวง ได้แก่ โลภโสมนัส ๔ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลโสมนัส ๔ และมหากิริยาโสมนัส ๔ ดวงใดดวงหนึ่ง ตามสมควรแก่บุคคลนั้น ๆ

๓. วิหสิตะ การหัวเราะมีเสียงเบา ๆ เป็นการหัวเราะที่เกิดจากจิตของปุถุชน และพระเสกขบุคคล ๓ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ย่อมเป็นการหัวเราะที่ประกอบด้วยเหตุอันเป็นบุญหรือเป็นบาปเสมอ ซึ่งเป็นการหัวเราะด้วยจิต ๘ ดวง ได้แก่ โลภโสมนัส ๔ และมหากุศลโสมนัส ๔ ดวงใดดวงหนึ่ง ตามสมควรแก่บุคคลนั้น ๆ

๔. อติหสิตะ การหัวเราะมีเสียงดังมาก เป็นการหัวเราะที่เกิดจากจิตของปุถุชน พระโสดาบัน และพระสกทาคามี ย่อมเป็นการหัวเราะที่ประกอบด้วยเหตุอันเป็นบุญหรือเป็นบาปเสมอ ซึ่งเป็นการหัวเราะด้วยจิต ๘ ดวง ได้แก่ โลภโสมนัส ๔ มหากุศลโสมนัส ๔ ดวงใดดวงหนึ่ง ตามสมควรแก่บุคคลนั้น ๆ

๕. อปหสิตะ การหัวเราะจนไหวโยกไปทั้งกาย เป็นการหัวเราะที่เกิดจากจิตของปุถุชนโดยเฉพาะ ย่อมเป็นการหัวเราะที่ประกอบด้วยเหตุอันเป็นบุญหรือเป็นบาปเสมอ ซึ่งเป็นการหัวเราะด้วยจิต ๘ ดวง ได้แก่ โลภโสมนัส ๔ มหากุศลโสมนัส ๔ ดวงใดดวงหนึ่ง ตามสมควรแก่บุคคล และเหตุการณ์ต่าง ๆ

๖. อุปหสิตะ การหัวเราะจนน้ำตาไหล เป็นการหัวเราะที่เกิดจากจิตของปุถุชนเท่านั้น ย่อมเป็นการหัวเราะที่ประกอบด้วยเหตุอันเป็นบุญหรือเป็นบาปเสมอ ซึ่งเป็นการหัวเราะด้วยจิต ๘ ดวง ได้แก่ โลภโสมนัส ๔ มหากุศลโสมนัส ๔ ดวงใดดวงหนึ่งเท่านั้น

จึงสรุปได้ว่า การยิ้มหรือการหัวเราะต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วนั้น ย่อมเกิดจากจิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนาเท่านั้น จะเกิดพร้อมด้วยโทมนัสสเวทนาหรืออุเบกขาเวทนาไม่ได้ เพราะการยิ้มหรือการหัวเราะนั้น ย่อมเป็นอาการแห่งความดีใจหรือความภาคภูมิใจนั่นเอง ถึงแม้บุคคลนั้นจะยิ้มหรือหัวเราะแบบแห้ง ๆ ไม่สดใสก็ดี ยิ้มหรือหัวเราะพร้อมกับอาการซึมเศร้า อันเนื่องมาจากมีเหตุปัจจัยอื่นมาบั่นทอนก็ดี หรือแสดงอาการหัวเราะและอาการร้องไห้ออกมาในเวลาเดียวกันก็ตาม แต่สภาพของจิตที่เป็นเหตุให้เกิดอาการเหล่านั้น ย่อมเป็นสภาพจิตที่ต่างกัน กล่าวคือ สภาพจิตที่ทำให้เกิดอาการยิ้มหรืออาการหัวเราะนั้น ต้องเป็นจิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนาเท่านั้น สภาพจิตที่ทำให้เกิดอาการเฉย ๆ ต้องเป็นจิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาเท่านั้น และสภาพจิตที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าหรือร้องไห้นั้น ต้องเป็นจิตที่เกิดพร้อมด้วยโทมนัสสเวทนาเท่านั้น แต่เพราะสภาพของจิตนั้น เป็นธรรมชาติที่มีอาการเกิดดับเป็นไปอย่างรวดเร็วดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น จึงทำให้เกิดจิตตชรูปที่เป็นอาการยิ้มแย้มแบบแห้ง ๆ พร้อมด้วยความเฉยเมย หรือทั้งหัวเราะและร้องไห้ไปพร้อมกันได้ แต่ก็เป็นจิตคนละขณะหรืออยู่คนละวิถีนั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |