| |
โสภณจิตและอโสภณจิต   |  

จิตทั้งหมดจำแนกโดยโสภณเภทนัย เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. อโสภณจิต หมายถึง จิตที่นอกเหนือจากโสภณจิต หมายความว่า อโสภณจิตนี้เป็นจิตที่ไม่ใช่เป็นโสภณจิต หรือเป็นจิตที่ไม่ได้เกิดพร้อมด้วยโสภณเจตสิก มีจำนวน ๓๐ ดวง ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๑๘ เรียกว่า อโสภณจิต ๓๐

๒. โสภณจิต หมายถึง จิตที่มีสภาพสวยงาม หรือเป็นจิตที่เกิดพร้อมด้วยโสภณเจตสิก หมายความว่า โสภณจิตนี้ล้วนเป็นจิตที่มีสภาพที่ดีงามเพราะประกอบด้วยโสภณเจตสิกอันเป็นธรรมที่มีสภาพดีงามทั้งสิ้น มี ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง ได้แก่ กามาวจรโสภณจิต ๒๔ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ เรียกว่า โสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑

ดังที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์เถระเจ้า ได้แสดงคาถาสังคหะที่ ๖ ไว้ดังต่อไปนี้

(๖) ปาปาเหตุกะมุตตานิ โสภะณานีติ วุจจะเร
เอกูนะสัฏฐี จิตตานิ อะเถกะนะวุตีปิ วา ฯ

แปลความว่า

จิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงที่นอกจากอกุศลจิตและอเหตุกจิตนั้น เรียกว่าโสภณจิต

อธิบายความว่า

ในคาถาบทนี้ แสดงให้ทราบถึงชื่อของจิต ๒ ประการ คือ จิต ๕๙ หรือ ๙๑ ชื่อว่า โสภณจิต อกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๑๘ รวม ๓๐ ดวงนี้ ชื่อว่า อโสภณจิต

การแสดงว่า โสภณจิต นั้น เป็นการแสดงโดยตรง เพราะโสภณจิตนั้น เป็นจิตที่ดีงาม ไม่มีโทษภัยแต่ประการใด

ส่วนการแสดงว่า อโสภณจิต นั้น เป็นการแสดงโดยอ้อม เพราะอโสภณจิตนั้น มีทั้งจิตที่เป็นโทษภัยโดยตรง ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ และจิตที่เป็นทุกข์ ได้แก่ อกุศลวิปากจิต ๗ ซึ่งเป็นจิตที่เป็นผลของอกุศลจิตเกิดขึ้นเพื่อรับอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา อันเป็นความทุกข์ ส่วนอเหตุกกุศลวิปากจิตนั้นเป็นวิบากของกุศลจิต เกิดขึ้นเพื่อรับรู้อิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนา และอเหตุกกิริยาจิตที่เกิดขึ้นเพียงเพื่อทำหน้าที่ของตน ๆ ซึ่งเป็นหน้าที่เพียงเล็กน้อยนั้นให้สำเร็จลงไปเท่านั้น โดยไม่ต้องทำการขวนขวายมากนัก นอกจากนี้ ในอเหตุกกิริยาจิต ยังมี หสิตุปปาทจิต ซึ่งเป็นจิตของพระอรหันต์อยู่ด้วย พระอรหันต์ทั้งหลายนั้น ท่านไม่มีความคิดจิตใจที่เป็นอกุศลอยู่อีกแล้ว

ด้วยเหตุนี้ การทำ การพูด และความคิด ของท่านนั้น จึงล้วนแต่เป็นความดีงาม แต่จิตนั้นเป็นกิริยาจิต คือ เป็นจิตที่ไม่มีการส่งผลเป็นวิบากแต่อย่างใด ฉะนั้น การที่จัดพวกอเหตุกกุศลวิปากจิตและอเหตุกกิริยาจิตเหล่านี้ เข้าในจำพวกอโสภณจิตด้วยนั้น เพราะจิตเหล่านี้ ไม่ได้ประกอบด้วยโสภณเจตสิก อันเป็นเจตสิกธรรมฝ่ายดีงาม จึงเรียกว่า อโสภณจิต

เพราะฉะนั้น อโสภณจิตนี้ จึงแปลได้แต่เพียงว่า เป็นจิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยโสภณเจตสิก หรือ เป็นจิตที่ไม่ได้เกิดพร้อมด้วยโสภณเจตสิก หรือเป็นจิตที่นอกเหนือจากจิตที่สวยงามเท่านั้น จะแปลว่า จิตที่ไม่ดีไม่งามนั้นไม่ได้ ดังเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |