| |
พระพุทธวจนะเกี่ยวกับโลภะ   |  

โลภสูตร

[ว่าด้วยการละโลภะ]

พระสูตรนี้พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่รู้ยิ่งไม่กำหนดรู้โลภะ ไม่ยังจิตให้คลายกำหนัดในโลภะ ยังละโลภะไม่ได้เด็ดขาด ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนภิกษุผู้รู้ยิ่ง กำหนดรู้โลภะ ยังจิตให้คลายกำหนัดในโลภะ ละโลภะได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้ในพระสูตรแล้ว จึงได้ตรัสประพันธ์คาถาดังนี้ว่า

ชนผู้เห็นแจ้งทั้งหลาย รู้ชัดด้วยดีซึ่งความโลภอันเป็นเหตุให้สัตว์ผู้โลภไปสู่ทุคติ ละเสียได้แล้ว ครั้นละได้แล้ว ย่อมไม่มาสู่โลกนี้อีกในกาลไหน ๆ

เนื้อความนี้ พระพุทธเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล

ตัณหาสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งภวตัณหา ย่อมไม่ปรากฏ ในกาลก่อนแต่กาลนี้ ภวตัณหาไม่มี ภายหลังจึงมี เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวคำอย่างนี้ว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ภวตัณหา มีข้อนี้เป็นปัจจัยจึงปรากฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า ภวตัณหามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของภวตัณหา ควรกล่าวว่า ได้แก่ อวิชชา แม้อวิชชาเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของอวิชชา ควรกล่าวว่า ได้แก่ นิวรณ์ ๕ แม้นิวรณ์ ๕ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของนิวรณ์ ๕ ควรกล่าวว่า ได้แก่ ทุจริต ๓ แม้ทุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของทุจริต ๓ ควรกล่าวว่า ได้แก่ การไม่สำรวมอินทรีย์ แม้การไม่สำรวมอินทรีย์เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการไม่สำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่า ได้แก่ ความไม่มีสติสัมปชัญญะ แม้ความไม่มีสติสัมปชัญญะเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า ได้แก่ การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย แม้การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ควรกล่าวว่า ได้แก่ ความไม่มีศรัทธา แม้ความไม่มีศรัทธาเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา ควรกล่าวว่า ได้แก่ การไม่ฟังพระสัทธรรม แม้การไม่ฟังพระสัทธรรมเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการไม่ฟังพระสัทธรรม ควรกล่าวว่า ได้แก่ การไม่คบสัตบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลายด้วยประการดังนี้ การไม่คบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังพระสัทธรรมให้บริบูรณ์ การไม่ฟังพระสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีศรัทธาให้บริบูรณ์ ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ย่อมยังนิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์ นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์ อวิชชาที่บริบูรณ์ ย่อมยังภวตัณหาให้บริบูรณ์ ภวตัณหานี้มีอาหารอย่างนี้และบริบูรณ์อย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขา เมื่อฝนตกหนัก ๆ อยู่ น้ำย่อมไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธารและลำห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธารและลำห้วยที่เต็ม ย่อมยังหนองน้ำให้เต็ม หนองน้ำที่เต็มย่อมยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็ม ย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็ม ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็ม ย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนี้มีอาหารอย่างนี้และเต็มเปี่ยมอย่างนี้ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่คบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังพระสัทธรรมให้บริบูรณ์ ฯลฯ อวิชชาที่บริบูรณ์ย่อมยังภวตัณหาให้บริบูรณ์ ภวตัณหานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าววิชชาและวิมุตติว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ ควรกล่าวว่า ได้แก่ โพชฌงค์ ๗ แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของโพชฌงค์ ๗ ควรกล่าวว่า ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหารมิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔ ควรกล่าวว่า ได้แก่ สุจริต ๓ แม้สุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสุจริต ๓ ควรกล่าวว่า ได้แก่ การสำรวมอินทรีย์ แม้การสำรวมอินทรีย์เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่า ได้แก่ สติสัมปชัญญะ แม้สติสัมปชัญญะเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า ได้แก่ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย แม้การทำไว้ในใจโดยแยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการทำไว้ในใจโดยแยบคาย ควรกล่าวว่า ได้แก่ ศรัทธา แม้ศรัทธาเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า ได้แก่ การฟังพระสัทธรรม แม้การฟังพระสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังพระสัทธรรม ควรกล่าวว่า ได้แก่ การคบหาสัตบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การคบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังพระสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังพระสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขา เมื่อฝนตกหนัก ๆ อยู่ น้ำย่อมไหลไปตามที่ลุ่ม ยังซอกเขาลำธารและลำห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธารและลำห้วยที่เต็ม ย่อมยังหนองน้ำให้เต็ม หนองน้ำที่เต็มย่อมยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็มย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็ม ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็ม ย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนี้มีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การคบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังพระสัทธรรมให้บริบูรณ์ ฯลฯ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล

ตัณหาสูตร [๑]

[ว่าด้วยเหตุให้เกิดตัณหา ๔ อย่าง]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเกิดของตัณหา ๔ อย่างนี้ เหตุเกิดของตัณหา ๔ อย่าง คืออะไร คือ ตัณหาเมื่อเกิดขึ้นแก่ภิกษุย่อมเกิดเพราะจีวรบ้าง เกิดเพราะบิณฑบาตบ้าง เกิดเพราะเสนาสนะบ้าง เกิดเพราะความมีน้อยหรือมีมากอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง นี้แลเหตุเกิดของตัณหา ๔ อย่าง

คนมีตัณหาเป็นเพื่อน เวียนว่ายเป็นไปอย่างนี้อย่างนั้นสิ้นกาลนาน ไม่ล่วงพ้นวัฏสงสารไปได้ ภิกษุรู้โทษอันนี้แล้ว รู้ว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ย่อมเป็นผู้มีสติสิ้นตัณหา ไม่มีความยึดถือที่เป็นไปนั้น โลกทั้งหมดเป็นไปตาม อำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ ตัณหา

ตัณหาสูตร [๒]

เทวดากราบทูลถามว่า

“โลกอันอะไรหนอย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

“โลกอันตัณหาย่อมนำไป อันตัณหาย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือตัณหา”

แสดงให้เห็นว่า โลกคือขันธ์ ๕ ที่สมมติว่าเป็นเราเป็นเขานั้น ย่อมเป็นไปตามอำนาจแห่งตัณหา ในชีวิตประจำวันเราแสวงหาสิ่งที่ดี ที่สวยงาม ที่เราชอบ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เพราะตัณหา [โลภะ] เมื่อมีตัณหา ย่อมประกอบกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เพราะตัณหาเป็นปัจจัย ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด เสือกไสไปในสังสารวัฏด้วยอำนาจของตัณหา ดังนั้น เมื่อดับตัณหา ย่อมดับโลกคือ ขันธ์ ๕ ย่อมไม่ต้องเกิดอีก แต่ที่ต้องเกิด ต้องแสวงหาสิ่งต่าง ๆ ก็เพราะอำนาจของธรรมอย่างหนึ่งคือตัณหาเป็นผู้กระตุ้นเตือนให้เป็นไป

ตัณหาสูตร [๓]

[ว่าด้วยตัณหาเป็นดังข่าย]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงตัณหาเช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ซ่านไป เกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อสัตว์โลก ซึ่งพัวพันนุงนังเหมือนกลุ่มด้ายอันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปม เป็นเหมือนหญ้าปล้องและหญ้ามุงกระต่าย ไม่ไห้ล่วงพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏไปได้ เธอทั้งหลายจงฟังจงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลรับพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตัณหาเป็นนดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ซ่านไป เกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อสัตว์โลก ซึ่งพัวพันนุงนังเหมือนกลุ่มด้ายอันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปม เป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ให้ล่วงพ้น อบาย ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏไปได้นั้น เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้ อาศัยขันธปัญจกะะภายใน ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้ อาศัยขันธปัญจกะภายนอก ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการ อันอาศัยขันธปัญจกะภายในเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย คือ

[๑] เมื่อมีความถือว่า เรามี [๒] ย่อมมีความถือว่าเราเป็นอย่างนี้

[๓] เราเป็นอย่างนั้น [๔] เราเป็นอย่างอื่น

[๕] เราเป็นอยู่ [๖] เราไม่เป็นอยู่

[๗] เราพึงเป็น [๘] เราพึงเป็นอย่างนี้

[๙] เราพึงเป็นอย่างนั้น [๑๐] เราพึงเป็นอย่างอื่น

[๑๑] แม้ไฉนเราพึงเป็น [๑๒] แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างนี้

[๑๓] แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างนั้น [๑๔] แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างอื่น

[๑๕] เราจักเป็น [๑๖] เราจักเป็นอย่างนี้

[๑๗] เราจักเป็นอย่างนั้น [๑๘] เราจักเป็นอย่างอื่น

ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้ อาศัยขันธปัญจกะภายใน ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการ อันอาศัยขันธปัญจกะภายนอกเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย คือ

[๑] เมื่อมีความถือว่า เรามี ด้วยขันธปัญจกะนี้

[๒] ย่อมมีความถือว่า เราเป็นอย่างนี้ ด้วยขันธปัญจกะนี้

[๓] เราเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกะนี้

[๔] เราเป็นอย่างอื่น ด้วยขันธปัญจกะนี้

[๕] เราเป็นอยู่ ด้วยขันธปัญจกะนี้

[๖] เราไม่เป็นอยู่ ด้วยขันธปัญจกะนี้

[๗] เราพึงเป็น ด้วยขันธปัญจกะนี้

[๘] เราพึงเป็นอย่างนี้ ด้วยขันธปัญจกะนี้

[๙] เราพึงเป็นอย่างนั้น ด้วยขันธปัญจกะนี้

[๑๐] เราพึงเป็นอย่างอื่น ด้วยขันธปัญจกะนี้

[๑๑] แม้ไฉนเราพึงเป็น ด้วยขันธปัญจกะนี้

[๑๒] แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างนี้ ด้วยขันธปัญจกะนี้

[๑๓] แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างนั้น ด้วยขันธปัญจกะนี้

[๑๔] แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างอื่น ด้วยขันธปัญจกะนี้

[๑๕] เราจักเป็น ด้วยขันธปัญจกะนี้

[๑๖] เราจักเป็นอย่างนี้ ด้วยขันธปัญจกะนี้

[๑๗] เราจักเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกะนี้

[๑๘] เราจักเป็นอย่างอื่น ด้วยขันธปัญจกะนี้

ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้ อาศัยขันธปัญจกะภายนอกและขันธปัญจกะภายใน ด้วยประการฉะนี้ จึงรวมเรียกว่า ตัณหาวิจริต ๓๖ ที่เป็นอดีต ๓๖ อนาคต ๓๖ ปัจจุบัน ๓๖ จึงรวมเป็นตัณหาวิจริต ๑๐๘ ด้วยประการฉะนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตัณหานี้แลเป็นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ซ่านไป เกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อสัตว์โลก ซึ่งพัวพันนุงนังเหมือนด้ายอันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปม เป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ให้ล่วงพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต และสังสาระไปได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |