| |
การกำหนดธาตุโดยอาการต่าง ๆ   |  

ก็อีกนัยหนึ่ง พึงกำหนดธาตุโดยอาการแม้เหล่านี้ คือ

๑. โดยอรรถแห่งคำ ๒. โดยเป็นกอง

๓. โดยแยกละเอียด ๔. โดยลักษณะเป็นต้น

๕. โดยสมุฏฐาน ๖. โดยเป็นสภาพต่างกันและเหมือนกัน

๗. โดยอาการที่แยกและไม่แยก ๘. โดยเข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้

๙. โดยภายในภายนอกแปลกกัน ๑๐. โดยประมวล

๑๑. โดยปัจจัย ๑๒. โดยไม่ใส่ใจกัน

๑๓. โดยแยกกันโดยปัจจัย

ในอาการเหล่านั้น พระโยคีบุคคลเมื่อใฝ่ใจ โดยอรรถแห่งคำ พึงใฝ่ใจโดยอรรถแห่งคำด้วยสามารถที่ต่างกันและเสมอกันอย่างนี้ว่า ชื่อว่า ดิน เพราะแผ่ไป ชื่อว่า น้ำ เพราะเอิบอาบให้ชุ่มอยู่หรือให้เต็มอยู่ ชื่อว่า ไฟ เพราะอบให้ร้อน ชื่อว่า ลม เพราะพัดให้ไหว แต่ว่าโดยไม่ต่างกัน ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน และเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์และเป็นที่อัดทุกข์ไว้

พึงทราบวินิจฉัย โดยเป็นกอง ดังต่อไปนี้ ปถวีธาตุนี้ใด ท่านแสดงโดยอาการ ๒๐ โดยนัยเป็นต้นว่า ผม ขน และอาโปธาตุนี้ใด ท่านแสดงโดยอาการ ๑๒ โดยนัยเป็นต้นว่า ดี เสลด ในธาตุเหล่านั้น เพราะที่มีสมมุติว่าผมได้ เพราะประชุมธรรม ๘ ประการ คือ สี กลิ่น รส โอชา และมหาภูตธาตุทั้ง ๔ เพราะแยกสิ่งเหล่านั้นจากกันเสีย ย่อมไม่มีสมมุติว่า ผม เพราะเหตุนั้น คำว่า ผม เป็นเพียงสักแต่ว่ากองแห่งธรรมทั้ง ๘ คำว่า ขน เป็นต้นก็เช่นกัน อนึ่ง ในส่วนเหล่านี้ ส่วนใดมีกรรมเป็นสมุฏฐาน ส่วนนั้นจัดว่าเป็นกองแห่งธรรม ๑๐ รวมทั้งชีวิตินทรีย์และภาวะเข้าด้วย ทั้งยังนับว่า ปถวีธาตุ อาโปธาตุ ด้วยอำนาจที่มา พึงใฝ่ใจโดยเป็นกองอย่างนี้

พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า โดยแยกละเอียด ดังต่อไปนี้ ก็ปถวีธาตุที่ป่นเป็นชนิดเล็กอย่างยิ่ง เป็นดุจธุลีละเอียด อันพระโยคีบุคคลกำหนดอยู่โดยอย่างกลางในสรีระนี้ พึงมีประมาณได้ทะนานหนึ่ง ปถวีธาตุนั้นอันอาโปธาตุประมาณกึ่งทะนานนั้นยึดไว้แล้ว อันเตโชธาตุเลี้ยงรักษาแล้ว อันวาโยธาตุพัดให้หวั่นไหวแล้ว จึงไม่เรี่ยรายไม่กระจัดกระจาย ปถวีธาตุนี้ เมื่อไม่เรี่ยรายไม่กระจัดกระจาย ย่อมเข้าถึงการกำหนดว่า เพศหญิง เพศชายเป็นต้นเป็นอเนก และประกาศความผอมอ้วนสูงต่ำแข็งแรงและอ่อนแอเป็นต้น ฝ่ายอาโปธาตุในร่างกายนี้ ถึงความเป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบตั้ง อยู่ในดินอันไฟตามรักษา อันลมพัดให้เคลื่อนไหว จึงไม่เรี่ยราย ไม่กระจัดกระจาย เมื่อไม่เรี่ยรายไม่กระจัดกระจาย จึงแสดงอาการที่เป็นไปต่างกัน โดยความเป็นเพศหญิงเพศชายเป็นต้น และประกาศความเป็นผู้ผอมอ้วนสูงต่ำแข็งแรงและอ่อนแอเป็นต้น ส่วนเตโชธาตุในร่างกายนี้ มีอาการร้อนอ้าว มีลักษณะร้อนอ้าว สำหรับย่อยสิ่งที่รับประทานและสิ่งที่ดื่มเป็นต้น ตั้งอยู่ในดินอันน้ำยึดไว้ อันลมพัดให้เคลื่อนไหว ย่อมยังกายนี้ให้อบอุ่น และนำมาซึ่งวรรณสมบัติแก่กายนั้น อนึ่ง กายนี้อันเตโชธาตุนั้นให้อบอุ่นแล้วย่อมไม่แสดงอาการเน่า ก็วาโยธาตุในสรีระนี้ซ่านไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ มีลักษณะเบ่งขึ้นและให้ไหวได้ ตั้งอยู่ในดิน อันน้ำยึดไว้ อันไฟตามรักษา ย่อมยังกายนี้ให้เคลื่อนไหวได้ อนึ่ง กายนี้อันธาตุลมนั้นอุ้มแล้วจึงไม่ซวนเซไป ตั้งอยู่ตรง ๆ ได้อาศัยวาโยธาตุอื่นอีกพัดสม่ำเสมอแล้ว ย่อมแสดงวิญญัติในอิริยาบถ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน ย่อมคู้เข้าเหยียดออก ยังมือและเท้าให้เคลื่อนไหวได้ ยนต์คือธาตุนี้เช่นเดียวกับรูปกล มีมายาสำหรับล่อลวงชนพาลโดยความเป็นหญิงและชายเป็นต้น เป็นไปอยู่ดังแถลงมานี้ พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยละเอียด ดังบรรยายมานี้แล

พึงทราบวินิจฉัยในมาติกา โดยลักษณะเป็นต้น ดังต่อไปนี้ พระโยคีนึกถึงธาตุทั้ง ๔ อย่างนี้ว่า ปถวีธาตุมีลักษณะอย่างไร ? มีอะไรเป็นรส ? มีอะไรเป็นเครื่องปรากฏ ? ดังนี้แล้ว พึงใส่ใจโดยลักษณะเป็นต้นอย่างนี้ว่า ปถวีธาตุมีลักษณะแข้นแข็ง มีการตั้งอยู่เป็นรส มีการรับไว้เป็นเครื่องปรากฏ อาโปธาตุมีความหลั่งไหลเป็นลักษณะ มีการพอกพูนเป็นรส มีการยึดไว้เป็นเครื่องปรากฏ เตโชธาตุมีความร้อนเป็นลักษณะ มีการให้อบอุ่นเป็นรส มีการเพิ่มให้ถึงซึ่งความอ่อนนุ่มเป็นเครื่องปรากฏ วาโยธาตุมีการเคลื่อนไหวเป็นลักษณะ มีการเบ่งขึ้นได้เป็นรส มีการยักย้ายเป็นเครื่องปรากฏ

ในมาติกาว่า โดยสมุฏฐาน พึงทราบวินิจฉัยว่า ส่วน ๓๒ มีผมเป็นต้นเหล่านี้ใด ท่านแสดงแล้วด้วยสามารถแสดงปถวีธาตุเป็นต้นโดยพิสดาร ในส่วนเหล่านั้น ส่วน ๔ เหล่านี้ อาหารใหม่ อาหารเก่า หนอง มูตร มีฤดูเป็นสมุฏฐานแล ส่วน ๔ เหล่านี้ คือ น้ำตา เหงื่อ น้ำลาย น้ำมูก มีฤดูและจิตเป็นสมุฏฐาน ไฟซึ่งเป็นตัวย่อยอาหารที่บริโภคเป็นต้น มีกรรมเป็นสมุฏฐานแล ลมหายใจออกเข้ามีจิตเป็นสมุฏฐาน ที่เหลือนอกนั้นทั้งหมด มีสมุฏฐาน ๔ พึงใฝ่ใจโดยสมุฏฐาน ด้วยอาการอย่างนี้

ในมาติกาว่า โดยเป็นสภาพต่างกันและเหมือนกัน พึงทราบวินิจฉัยว่า ธาตุทั้งหมดต่างกันโดยลักษณะของตนเป็นต้น คือ ปถวีธาตุก็มีลักษณะ รส และอาการปรากฏอันหนึ่งต่างหาก อาโปธาตุเป็นต้นก็มีลักษณะ รส และอาการปรากฏอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ก็ธาตุเหล่านี้แม้จะเป็นสภาพต่างกัน ด้วยสามารถลักษณะเป็นต้นอย่างนี้ก็ดี และด้วยสามารถแห่งสมุฏฐาน มีกรรมสมุฏฐานเป็นต้นก็ดี ย่อมชื่อว่าเป็นอย่างเดียวกัน ด้วยสามารถเป็นรูป มหาภูต ธาตุ ธรรม และเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น จริงอยู่ ธาตุทุกอย่างชื่อว่าเป็นรูป เพราะไม่ต้องลักษณะจำต้องอวด ชื่อว่า มหาภูตรูป เพราะเหตุมีความปรากฏ โดยความเป็นของใหญ่ เป็นต้น

ก็ในคำว่า มีความปรากฏเป็นของใหญ่เป็นต้น อธิบายว่า ก็ธาตุเหล่านี้ ท่านเรียกว่า มหาภูต เพราะเหตุเหล่านี้ คือ

๑. เพราะความปรากฏเป็นของใหญ่

๒. เพราะความเป็นสภาพเหมือนกับมหาภูต

๓. เพราะจำต้องบริหารมาก

๔. เพราะมีวิการมาก

๕. เพราะเป็นของมีจริงโดยความเป็นของใหญ่

ในอาการเหล่านั้น คำว่า เพราะความปรากฏเป็นของใหญ่ คือ ธาตุนี้เป็นธรรมชาติปรากฏเป็นของใหญ่ ทั้งในสันดานที่ไม่มีใจครอง ทั้งในสันดานที่มีใจครอง บรรดาสันดานทั้ง ๒ เหล่านั้น ความเป็นของปรากฏโดยความเป็นของใหญ่แห่งมหาภูตเหล่านั้น ในสันดานที่ไม่มีใจครอง ข้าพเจ้า [พระพุทธโฆสาจารย์] ได้อธิบายมาแล้วแล ในพุทธานุสสตินิเทศโดยนัยเป็นต้นว่า แผ่นดินนี้ท่านคำนวณแล้วโดยกำหนดส่วนหนาได้เท่านี้ คือ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ ฯ ฝ่ายในสันดานที่มีใจครอง เป็นสภาพปรากฏเป็นของใหญ่จริง ด้วยสามารถสรีระแห่งปลา เต่า เทวดา มานพ อสูร เป็นต้น สมดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทรมีอัตภาพยาวประมาณ ๑๐๐ โยชน์รุ.๑๒๒ ดังนี้เป็นต้น

ในมาติกาว่า เพราะเป็นสภาพเหมือนกับมหาภูต มีวินิจฉัยว่า ก็ธาตุเหล่านี้ตนเองเป็นของไม่เขียวเลย แต่แสดงอุปาทายรูปที่มีเขียวได้ ตนเองเป็นสภาพไม่เหลือง แต่แสดงอุปาทายรูปที่มีสีเหลืองได้ ตนเองเป็นสภาพไม่แดงเลย แต่แสดงอุปาทายรูปที่มีสีแดงได้ ตนเองเป็นภาพไม่ขาวเลย แต่แสดงอุปาทายรูปที่มีสีขาวได้ เปรียบเหมือนนักเล่นกล แสดงน้ำซึ่งไม่ใช่แก้วมณีแท้ ๆ ให้กลายเป็นแก้วมณีได้ แสดงก้อนดินซึ่งไม่ใช่ทองจริง ๆ ให้กลายเป็นทองได้ และเหมือนอย่างตนเองไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่นก ก็แสดงเป็นยักษ์บ้าง เป็นนกบ้าง เพราะเหตุนั้น จึงได้ชื่อว่า มหาภูต เพราะเป็นเหมือนมหาภูตนักเล่นกล อนึ่ง เปรียบเหมือนมหาภูตมียักษ์เป็นต้น เข้าสิงผู้ใดแล้ว ภายในภายนอกของผู้นั้น อันมหาภูตเหล่านั้นจะเข้าไปได้ก็หาไม่ และมหาภูตเหล่านั้นจะไม่สิงผู้นั้นตั้งอยู่ก็หาไม่ ฉันใด แม้มหาภูตรูปเหล่านี้ก็ฉันนั้น อันกันและกันย่อมเข้าได้ เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ภายในภายนอกของกันและกันก็หาไม่ และมหาภูตรูปเหล่านี้มิใช่จะไม่อาศัยกันและกันตั้งอยู่ก็หาไม่ ฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง ธาตุเหล่านี้ ชื่อว่า เป็นมหาภูต แม้เพราะเป็นธรรมชาติที่เสมอกับมหาภูตมียักษ์เป็นต้น โดยความเป็นฐานะที่ไม่ควรคิด อนึ่ง เปรียบเหมือนมหาภูต กล่าวคือ ยักษิณี ปกปิดภาวะอันน่ากลัวของตนไว้ โดยการปลอมแปลงสีและสัณฐานที่น่าพึงพอใจ ลวงสัตว์ทั้งหลาย ฉันใด แม้มหาภูตรูปเหล่านี้ก็ฉันนั้น ปิดลักษณะตามธรรมดาของตนอันต่างด้วยอาการมีอาการที่ตนเป็นของแข้นแข็ง เป็นต้น ด้วยผิวพรรณที่น่าพึงพอใจ ด้วยสัณฐานแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ที่น่าพึงพอใจ และด้วยการกระดุกกระดิกได้แห่งมือเท้าและนิ้วที่น่าพึงพอใจ ในสรีระหญิงและชาย เป็นต้น ลวงพาลชนอยู่มิให้เห็นความเป็นจริงของตน เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า มหาภูต แม้เพราะเป็นของเสมอกับมหาภูต คือ นางยักษิณี เป็นต้น เพราะเป็นสภาพที่หลอกลวง

ในคำว่า เพราะจำต้องบริหารมาก มีอธิบายว่า เพราะเป็นสิ่งที่จำต้องรักษาด้วยปัจจัยเป็นอันมาก จริงอยู่ มหาภูตรูปเหล่านี้เป็นไปแล้วด้วยปัจจัยทั้งหลายมีเครื่องกินและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้นเป็นอันมาก เพราะจำต้องนำเข้าไปทุก ๆ วัน เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า มหาภูต อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า มหาภูต แม้เพราะเป็นภูตที่จำต้องบริหารมาก

ในคำว่า เพราะมีวิการมาก มีอธิบายว่า จริงอยู่ มหาภูตเหล่านี้ ที่เป็นอุปาทินนกะก็ดี อนุปาทินนกะก็ดี ย่อมเป็นภูตที่มีวิการมาก ในภูต ๒ ชนิดนั้น อาการที่วิการมากของอนุปาทินนกะย่อมปรากฏในเมื่อกัปป์ [ถูกทำลาย] ย่อยยับ ส่วนอาการที่วิการมากของอุปาทินนกะปรากฏในเวลาธาตุกำเริบ ความจริงเป็นเช่นนั้น เมื่อโลกไหม้อยู่ด้วยความร้อนแห่งเปลวไฟ เปลวไฟพุ่งขึ้นแต่ภาคพื้น ลุกขึ้นจนกระทั่งพรหมโลก เมื่อใด โลกจักฉิบหายด้วยน้ำอันกำเริบแล้ว เมื่อนั้น จักรวาลประมาณแสนโกฏิหนึ่ง จะละลายชั่วประเดี๋ยว เมื่อใด โลกจักฉิบหายด้วยธาตุลมกำเริบ เมื่อนั้น จักรวาลประมาณแสนโกฏิหนึ่ง จักวอดวายชั่วประเดี๋ยว กายถูกงูปากไม้กัด ย่อมแข็งกระด้าง ฉันใด เพราะปถวีธาตุกำเริบ กายนั้นก็เป็นดังอยู่ในปากงูปากไม้ ฉันนั้น กายถูกงูปากเน่ากัด ย่อมเน่าเปื่อย ฉันใด เพราะอาโปธาตุกำเริบ กายนั้นก็เป็นดังอยู่ในปากงูปากเน่า ฉันนั้น กายถูกงูปากไฟกัด ย่อมร้อนรุ่ม ฉันใด เพราะเตโชธาตุกำเริบ กายนั้นเป็นดังอยู่ในปากงูปากไฟ ฉันนั้น กายถูกงูปากศัสตรากัด ย่อมขาดไป ฉันใด เพราะวาโยธาตุกำเริบ กายนั้นก็เป็นดังอยู่ในปากงูปากศัสตรา ฉันนั้น ภูตมีวิการมาก ดังนี้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า มหาภูต

ในคำว่า เพราะเป็นของมีอยู่โดยความเป็นของใหญ่ ก็ภูตเหล่านี้ ชื่อว่า เป็นของใหญ่ เพราะจำต้องประคับประคองด้วยความพยายามอย่างใหญ่ และชื่อว่า มีจริง เพราะมีอยู่ชัด ๆ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า มหาภูต เพราะเป็นของมีจริงโดยความเป็นของใหญ่

ธาตุเหล่านี้แม้ทั้งหมด ชื่อว่า เป็นมหาภูต เพราะเหตุมีความเป็นของปรากฏโดยความเป็นของใหญ่เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ธาตุทุกอย่างไม่ล่วงลักษณะธาตุไปได้ เพราะทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน และเพราะเป็นฐานแห่งทุกข์ และเพราะอัดทุกข์ไว้ และชื่อว่า ธรรม เพราะทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนและเข้าไปทรงอยู่ได้ชั่วขณะอันสมควรแก่ตน ชื่อว่า ไม่เที่ยง เพราะอรรถว่า สิ้นไป ชื่อว่า เป็นทุกข์ เพราะอรรถว่า น่าพรั่นพรึง ชื่อว่า มิใช่ตน เพราะอรรถว่า ไม่มีสาระ

ตามนัยนี้ แม้ธาตุทุกอย่าง ชื่อว่า เป็นอย่างเดียวกัน ด้วยสามารถที่เป็นรูป เป็นมหาภูต เป็นเหตุ เป็นธรรม และเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นต้น พระโยคีบุคคลผู้พึงใฝ่ใจโดยต่างกันและเหมือนกัน โดยอาการอย่างนี้

ในข้อมาติกาว่า โดยอาการที่แยกจากกันและไม่แยก พึงทราบวินิจฉัยว่า ธาตุเหล่านี้ทั้งหมด ต้องเกิดพร้อมกันเท่านั้น เพราะความที่กลาปทั้งหมด แม้ในสุทธัฏฐกกลาป [กลาปที่มี ๘ รูป] เป็นต้น ล้วนไม่แยกปเทสกัน [อวินิพโภคะ] แต่ธาตุชื่อว่า แยกจากกัน [วินิพโภคะ] โดยลักษณะ พระโยคีบุคคลพึงใฝ่ใจโดยอาการที่แยกจากกันและไม่แยกจากกันโดยอาการอย่างนี้

ในข้อมาติกาว่า โดยเข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้ มีวินิจฉัยว่า ในบรรดาธาตุเหล่านี้ แม้จะไม่แยกจากกันอย่างอธิบายมาแล้วก็ดี ธาตุ ๒ ตอนต้น ชื่อว่า สภาค คือ เข้ากันได้ เพราะเป็นของหนักเหมือนกัน ธาตุตอนหลังก็จัดเป็นสภาคกันเหมือนกัน เพราะเป็นของเบา แต่ธาตุตอนต้นกับธาตุตอนหลัง และธาตุตอนหลังกับธาตุตอนต้น จัดเป็นวิสภาคกัน คือ เข้ากันไม่ได้ เพราะข้างฝ่ายหนึ่งหนัก ฝ่ายหนึ่งเบา พระโยคีบุคคลพึงใฝ่ใจโดยเข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้โดยอาการอย่างนี้

ในข้อมาติกาว่า โดยภายในและภายนอกแปลกกัน พึงทราบวินิจฉัยว่า ธาตุภายใน ย่อมเป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณวัตถุ วิญญัติ และอินทรีย์ เป็นสภาพที่เกี่ยวเนื่องกับอิริยาบถ มีสมุฏฐาน ๔ ธาตุภายนอกมีประการผิดตรงกันข้ามจากที่กล่าวแล้ว พระโยคีบุคคลพึงใฝ่ใจโดยธาตุภายในและภายนอกแปลกกัน ดังบรรยายมานี้

ในข้อมาติกาว่า โดยประมวล พึงทราบวินิจฉัยว่า ปถวีธาตุมีกรรมเป็นสมุฏฐาน รวมเป็นอันเดียวกันกับธาตุนอกจากนี้ ซึ่งมีกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะไม่มีความต่างกันโดยสมุฏฐาน ที่มีจิตเป็นต้นเป็นสมุฏฐาน ร่วมเป็นอันเดียวกับธาตุซึ่งมีจิตเป็นต้นเป็นสมุฏฐานเหมือนกัน พระโยคีบุคคลพึงใฝ่ใจโดยรวมกัน ดังบรรยายมานี้

ในข้อมาติกาว่า โดยปัจจัย พึงทราบวินิจฉัยว่า ปถวีธาตุอันน้ำยึดไว้ อันไฟตามรักษาไว้ อันลมให้เคลื่อนไหว เป็นปัจจัยเป็นที่ตั้งอาศัยแห่งมหาภูตทั้ง ๓ อาโปธาตุตั้งอาศัยดิน อันไฟตามรักษา อันลมให้เคลื่อนไหว เป็นปัจจัยเป็นเครื่องยึดแห่งมหาภูตทั้ง ๓ เตโชธาตุตั้งอาศัยดิน อันน้ำยึดไว้ อันลมให้เคลื่อนไหว เป็นปัจจัยเป็นเครื่องอบอุ่นแห่งมหาภูตทั้ง ๓ วาโยธาตุตั้งอาศัยดิน อันน้ำยึดไว้ อันไฟให้อบอุ่น เป็นปัจจัยเป็นเหตุให้เคลื่อนไหวแห่งมหาภูตทั้ง ๓ พระโยคีบุคคลพึงใฝ่ใจโดยเป็นปัจจัย ดังบรรยายมานี้

ในข้อมาติกาว่า โดยไม่รู้จักกัน พึงทราบวินิจฉัยว่า ในบรรดาธาตุทั้ง ๔ นี้ ปถวีธาตุย่อมไม่รู้สึกว่า เราคือปถวีธาตุ หรือว่าเราเป็นที่ตั้งเป็นปัจจัยแห่งมหาภูตทั้ง ๓ แม้ธาตุ ๓ นอกนี้ก็ไม่รู้สึกว่า ปถวีธาตุเป็นปัจจัยเป็นที่ตั้งของพวกเรา ในธาตุทั้งปวงมีนัยเช่นเดียวกันนี้ พระโยคีบุคคลพึงใฝ่ใจโดยไม่รู้จักกัน ดังบรรยายมานี้

ในข้อมาติกาว่า โดยวิภาคของปัจจัย พึงทราบวินิจฉัยว่า ก็ปัจจัยของธาตุมี ๔ คือ กรรม จิต ฤดู อาหาร ในปัจจัยทั้ง ๔ นั้น กรรมนั่นแหละย่อมเป็นปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลายที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน มิใช่ปัจจัยอื่นมีจิต เป็นต้น ส่วนจิตเป็นต้นย่อมเป็นปัจจัยแม้แห่งธาตุทั้งหลายที่มีจิตเป็นต้นเป็นสมุฏฐาน มิใช่ปัจจัยนอกนี้ อนึ่ง กรรมย่อมเป็นตัวชนกปัจจัย คือ ปัจจัยที่บันดาลให้เกิดแห่งธาตุทั้งหลายที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นอุปนิสสยปัจจัยโดยอ้อมแห่งธาตุทั้งหลายที่เหลือ จิตย่อมเป็นตัวชนกปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลายที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นปัจฉาชาตปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัย แห่งธาตุทั้งหลายที่เหลือ อาหารย่อมเป็นตัวชนกปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลายที่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน เป็นอาหารปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัย แห่งธาตุทั้งหลายที่เหลือ ฤดูย่อมเป็นตัวชนกปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลายที่มีฤดูเป็นสมุฏฐาน เป็นอัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัย แห่งธาตุทั้งหลายที่เหลือ มหาภูตมีกรรมเป็นสมุฏฐาน ย่อมเป็นปัจจัยของมหาภูตทั้งหลายที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานบ้าง ที่มีจิตเป็นต้นเป็นสมุฏฐานบ้าง มหาภูตที่มีจิตเป็นสมุฏฐานก็ดี ที่มีอาหารเป็นสมุฏฐานก็ดี ที่มีฤดูเป็นสมุฏฐานก็ดี ย่อมเป็นปัจจัยแห่งมหาภูตทั้งหลาย ที่มีฤดูเป็นสมุฏฐาน ที่มีกรรมเป็นต้นเป็นสมุฏฐานบ้างเช่นกัน

ในบรรดาปัจจัยทั้ง ๔ เหล่านั้น ปถวีธาตุมีกรรมเป็นสมุฏฐาน ย่อมเป็นปัจจัย แห่งธาตุนอกนี้ที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ด้วยสามารถสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัยแห่งธาตุนอกนี้ และด้วยสามารถเป็นที่ตั้งอาศัยแห่งธาตุนอกนี้ แต่มิใช่เป็นปัจจัย ด้วยสามารถเป็นตัวบันดาลให้เกิด คือ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งมหาภูตที่มีสันตติ ๓ นอกนี้ ด้วยสามารถเป็นนิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัย มิใช่เป็นปัจจัยด้วยสามารถเป็นที่พำนัก และมิใช่เป็นปัจจัยด้วยสามารถชนกปัจจัย

ในจำพวกธาตุเหล่านี้ ฝ่ายอาโปธาตุ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธาตุ ๓ นอกนี้ ด้วยสหชาตปัจจัยเป็นต้น และด้วยสามารถเป็นเครื่องยึดไว้ มิใช่ด้วยสามารถเป็นชนกปัจจัย คือ เป็นปัจจัยแห่งธาตุ ๓ นอกนี้ ที่มีสันตติ ๓ ด้วยสามารถเป็นนิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัย มิใช่เป็นปัจจัยด้วยสามารถเป็นเครื่องยึดไว้ มิใช่เป็นปัจจัยด้วยสามารถเป็นตัวชนกปัจจัย

ในจำพวกธาตุเหล่านี้ ส่วนเตโชธาตุ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธาตุ ๓ นอกนี้ ด้วยสามารถเป็นสหชาตปัจจัยเป็นต้น และด้วยสามารถเป็นเครื่องให้อบอุ่น มิใช่เป็นปัจจัยด้วยสามารถเป็นชนกปัจจัย คือ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งมหาภูตนอกนี้ ซึ่งมีสันตติ ๓ ด้วยสามารถเป็นนิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัยเท่านั้น มิใช่ด้วยสามารถเป็นเครื่องให้อบอุ่น มิใช่ด้วยสามารถเป็นชนกปัจจัย

ในจำพวกธาตุเหล่านี้ ส่วนวาโยธาตุ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธาตุ ๓ นอกนี้ ด้วยสามารถสหชาตปัจจัยเป็นต้น และด้วยสามารถเป็นเหตุเคลื่อนไหว มิใช่ด้วยสามารถชนกปัจจัย คือ เป็นปัจจัยแห่งมหาภูต ซึ่งมีสันตติ ๓ นอกนี้ ด้วยสามารถเป็นนิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัยเท่านั้น มิใช่ด้วยสามารถเป็นเหตุเคลื่อนไหว มิใช่ด้วยสามารถชนกปัจจัย แม้ในปถวีธาตุเป็นต้น ซึ่งมีจิตอาหาร และฤดูเป็นต้นเป็นสมุฏฐาน ก็มีนัยนี้เหมือนกัน ก็แหละ บรรดาธาตุเหล่านี้ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของปัจจัยมีสหชาตปัจจัยเป็นต้นดังพรรณนามานี้ ธาตุ ๓ อาศัยธาตุ ๑ เป็นไปโดยอาการ ๔ อย่าง ธาตุ ๑ อาศัยธาตุ ๓ และธาตุ ๒ อาศัยธาตุ ๒ ย่อมเป็นไปโดยอาการ ๖ อย่าง

จริงอยู่ ในปถวีธาตุเป็นต้น ธาตุ ๓ อาศัยธาตุ ๑ ย่อมเป็นไปโดยอาการ ๔ อย่าง อย่างนี้คือ ธาตุ ๓ อาศัยธาตุ ๑ อนึ่ง ในปถวีธาตุเป็นต้น ธาตุ ๑ อาศัยธาตุ ๓ ธาตุนอกนี้ ตามนัยนี้ ธาตุอันเดียว อาศัยธาตุอื่น ๓ จึงเป็นไปโดยอาการ ๔ อย่าง อนึ่ง ธาตุ ๒ ข้างปลายอาศัยธาตุ ๒ ข้างต้น และธาตุ ๒ ข้างต้นอาศัยธาตุ ๒ ข้างปลาย ธาตุที่ ๒ และธาตุที่ ๔ อาศัยธาตุที่ ๑ และที่ ๓ ธาตุที่ ๑ ที่ ๓ อาศัยธาตุที่ ๒ และที่ ๔ ธาตุที่ ๒ ที่ ๓ อาศัยธาตุที่ ๑ และที่ ๔ และธาตุที่ ๑ และธาตุที่ ๔ อาศัยธาตุที่ ๒ และที่ ๓ ตายนัยนี้ ธาตุ ๒ อาศัยธาตุ ๒ ย่อมเป็นไปโดยอาการ ๖ อย่าง

ในธาตุเหล่านั้น ปถวีธาตุเป็นปัจจัยแห่งการยันในเวลาก้าวไปและถอยกลับเป็นต้น ปถวีธาตุนั้นแหละประสมกับอาโปธาตุ อันอาโปธาตุซึมซาบแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการให้ดำรงมั่น ฝ่ายอาโปธาตุประสมกับปถวีธาตุ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งอันมิให้กระจัดกระจาย และเตโชธาตุประสมกับวาโยธาตุย่อมเป็นปัจจัยแห่งอันยกขึ้น ฝ่ายวาโยธาตุประสมกับเตโชธาตุ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการเดินและวิ่งได้เร็ว พระโยคีบุคคลพึงใฝ่ใจโดยวิภาคของปัจจัยดังบรรยายมานี้ ก็แม้เมื่อพระโยคีบุคคลใฝ่ใจด้วยสามารถอรรถวิเคราะห์เป็นต้นอย่างนี้ ธาตุทั้งหลายย่อมปรากฏโดยเป็นส่วนหนึ่ง ๆ เมื่อท่านรำพึงและใฝ่ใจธาตุเหล่านั้นเนือง ๆ อุปจารสมาธิย่อมเกิดตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ อุปจารสมาธินี้นั้นถึงความนับว่าจตุธาตุววัตถาน เพราะเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งญาณที่กำหนดธาตุ ๔


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |