| |
อายุวัฒนสูตร   |  

อายุวัฒนสูตร

[ยาอายุวัฒนะ ๗]

บุคคลผู้ต้องการมีอายุยืนโดยที่ยังสามารถดำรงสติสัมปชัญญะไว้ได้โดยไม่หลงลืมและช่วยเหลือตัวเองได้ตามสมควร หรือต้องการทำชีวิตที่มีอยู่ให้มีคุณค่า ต้องปฏิบัติในธรรม ๗ ประการ ที่เรียกว่า ยาอายุวัฒนะ คือ

๑. อุฏฐานวุตติ มีความขยันหมั่นเพียร

๒. สติมา มีสติ

๓. สุจิกัมมการี มีการงานสะอาด

๔. นิสัมมการี ใคร่ครวญแล้วจึงทำ

๕. สัญญมา มีความสำรวมระวังตนอยู่เสมอ

๖. ธัมมชีวี ดำเนินชีวิตโดยธรรม

๗. อัปปมัตตา ไม่ประมาท

ดังที่มาในกุมภโฆสกวัตถุ อัปปมาทวรรค ขุททกนิกาย ธัมมปทัฏฐกถา พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

๑. อุฏฐานวุตติ เป็นผู้มีความเพียรบากบั่นเป็นเหตุลุกขึ้น หมายความว่า เป็นผู้ตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่หลับใหลด้วยความประมาท มีความเพียรอย่างต่อเนื่อง เรียกว่า อุฏฐานวุตติ แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตด้วยความพากเพียรติดต่อกันโดยไม่ขาดสาย

๒. สติมา เป็นบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสติ หมายความว่า มีความระลึกรู้ก่อนทำ ก่อนพูด ก่อนคิด ระลึกให้รู้ทั่วถึงเหตุและผล ตลอดถึงข้อเด่นข้อด้อย หรือผลดีผลเสียของสิ่งนั้น ๆ ก่อนแล้ว จึงทำ พูด คิด ออกไป ย่อมไม่เกิดความผิดพลาด หรือเสียหายใด ๆ ขึ้นในภายหลัง ทำให้เป็นผู้มีชีวิตไม่ด่างพร้อย มีชีวิตไม่เศร้าหมอง เป็นอุดมชีวิต เรียกว่า สติมา แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยสติ

๓. สุจิกัมมการี บุคคลผู้ประกอบด้วยการงานอันหาโทษมิได้ หมายความว่า การงานทั้งหลายที่ไม่มีความผิดทั้งทางโลกและทางธรรม ไม่ว่าจะเป็นการงานทางกาย การงานทางวาจา หรือการงานทางใจก็ตาม เป็นการงานที่ปราศจากโทษ บุคคลผู้มีการงานอันไม่มีโทษเช่นนี้ เรียกว่า สุจิกัมมการี แปลว่า ผู้มีการงานสะอาด หรือ คนใจซื่อมือสะอาด

๔. นิสัมมการี เป็นผู้กระทำการด้วยความใคร่ครวญ หมายความว่า การใช้ปัญญาไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนว่า ถ้าผลอย่างนี้จักมี เราต้องทำเหตุอย่างนี้ หรือเมื่อเราทำเหตุอย่างนี้แล้ว ผลที่ได้รับย่อมจักเป็นเช่นนี้ เป็นต้นแล้วจึงลงมือกระทำการงานตามที่ได้ใคร่ครวญดีแล้ว เปรียบเหมือนแพทย์ผู้ทำการตรวจดูต้นเหตุของโรคก่อนแล้ว จึงลงมือทำการรักษาเยียวยาโรคนั้น ฉันนั้น บุคคลเช่นนี้ เรียกว่า นิสัมมการี แปลว่า ผู้ใคร่ครวญให้ดีก่อนแล้วจึงลงมือทำ

๕. สัญญมา เป็นผู้มีความสำรวมดีแล้วด้วยไตรทวาร หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่ประมาทเปิดช่องทางทวารทั้ง ๓ ให้แก่กิเลสทั้งหลาย แต่ย่อมคุ้มครองป้องกันไตรทวารนั้นเป็นอย่างดี คือ ทางกายทวาร เป็นผู้ประพฤติอยู่ในกายสุจริต ๓ ทางวจีทวาร เป็นผู้ประพฤติอยู่ในวจีสุจริต ๔ และทางมโนทวาร เป็นผู้ประพฤติอยู่ในมโนสุจริต ๓ เป็นผู้สำรวมคอยระวังใจไม่ให้กำหนัดในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ระวังใจไม่ให้ขัดเคืองในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ระวังใจไม่ให้หลงไปในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง และระวังใจไม่ให้มัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา บุคคลเช่นนี้ เรียกว่า สัญญมา แปลว่า ผู้สำรวมดีแล้ว

๖. ธัมมชีวี เป็นผู้เลี้ยงชีวิตด้วยสุจริตธรรม หมายความว่า บุคคลผู้มีธรรมทั้งทางโลกและทางธรรม ในฝ่ายคฤหัสถ์นั้น เป็นผู้งดเว้นจากการคดโกงโดยประการต่าง ๆ มีการคดโกงด้วยตาชั่ง เป็นต้นแล้วพยายามหาเลี้ยงชีพด้วยการงานอันชอบธรรมทั้งหลาย มีการทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ค้าขาย เป็นต้น ฝ่ายบรรพชิตนั้น เป็นผู้งดเว้นจากการหาเลี้ยงชีพด้วยอเนสนากรรมเจ.๑๑ ทั้งหลายมี เวชกรรมเจ.๑๒ และทูตกรรมเจ.๑๓ เป็นต้น แล้วหาเลี้ยงชีพด้วยภิกขาจารวัตรโดยชอบธรรม บุคคลทั้ง ๒ ประเภทนี้ เรียกว่า ธัมมชีวี แปลว่า ผู้มีชีวิตประกอบด้วยคุณธรรม หรือเรียกว่า สารชีวี แปลว่า ผู้มีชีวิตที่เป็นแก่นสาร

๗. อัปปมัตตา เป็นผู้ไม่ประมาท หมายความว่า เป็นผู้ไม่ประมาทในกิจทั้งปวง ทั้งทางโลกและทางธรรม เมื่อสรุปแล้ว ได้แก่ ความไม่ประมาทในสถานทั้ง ๔ คือ ไม่ประมาทในการละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต ๑ ไม่ประมาทในการละวจีทุจริต ประพฤติวจีสุจริต ๑ ไม่ประมาทในการละมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต ๑ และไม่ประมาทในการละความเห็นผิด ทำความเห็นให้ถูกต้อง ๑ บุคคลเช่นนี้ เรียกว่า อัปปมัตตชีวี แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท

เมื่อบุคคลประพฤติได้เช่นนี้ อายุ คือ ชีวิตินทรีย์ก็ดี ยศคือความเป็นใหญ่ก็ดี โภคะคือความมีโภคสมบัติก็ดี สัมมานะคือความนับถือก็ดี กิตติคือความมีเกียรติก็ดี ปสังสาคือความยกย่องสรรเสริญก็ดี ย่อมเจริญแก่บุคคลนั้นโดยส่วนเดียว ไม่มีความเสื่อมเข้ามาเยี่ยมเยือนและย่ำยีเลย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |