ไปยังหน้า : |
พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๒๓๖ ได้แสดงสรุปความเรื่องวิสยรูปและโคจรรูปไว้ดังต่อไปนี้
รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ และโผฏฐัพพารมณ์ทั้ง ๓ [ปถวีโผฏฐัพพารมณ์ เตโชโผฏฐัพพารมณ์ และวาโยโผฏฐัพพารมณ์] รวมเป็น ๗ รูปเหล่านี้ มีชื่อเรียกว่า วิสยรูป เพราะเป็นรูปที่เป็นอารมณ์ให้แก่จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และทางกาย โดยตรง และที่ชื่อว่า โคจรรูป เพราะเป็นที่ท่องเที่ยวไปของจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นทางทวารทั้ง ๖ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า
“คาโว จรนฺติ เอตฺถาติ โคจรา [วา] โคจรสทิสาติ โคจรา” แปลความว่า โคทั้งหลาย ย่อมท่องเที่ยวไปในที่นั้น เพราะเหตุนั้น ที่นั้น จึงชื่อว่า โคจร ได้แก่ สถานที่ที่โคทั้งหลายท่องเที่ยวไป [หรือ] รูปเหล่าใดเป็นที่ท่องเที่ยวไปแห่งฉทวาริกจิตรุ.๒๓๗ เหมือนเป็นที่ท่องเที่ยวไปแห่งโคทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า โคจร
วจนัตถะตามที่แสดงมานี้ เป็นการแสดงโดยสทิสูปจารนัย คือ เป็นการแสดงโดยการเปรียบเทียบเท่านั้น
อีกนัยหนึ่ง แสดงโดยมุขยนัย คือ นัยโดยตรง ดังนี้
“คาโว จรนฺติ เอตฺถาติ โคจรํ” แปลความว่า อินทรีย์ทั้งหลาย มีจักขุนทรีย์เป็นต้น ย่อมท่องเที่ยวอยู่ในอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นนั้น เพราะเหตุนั้น อารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นนั้น จึงชื่อว่า โคจร
วจนัตถะตามที่แสดงมานี้ เป็นการแสดงโดยมุขยนัย คือ เป็นการแสดงตามสภาวะโดยตรง เพราะว่า โคจรูปหรือวิสยรูปทั้งหลายนั้น ย่อมเป็นอารมณ์ของมนินทรีย์คือจิตทั้งหลาย กล่าวคือ รูปารมณ์เป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณจิต สัททารมณ์เป็นอารมณ์ของโสตวิญญาณจิต คันธารมณ์เป็นอารมณ์ของฆานวิญญาณจิต รสารมณ์เป็นอารมณ์ของชิวหาวิญญาณจิต ปถวี เตโช และวาโยโผฏฐัพพารมณ์เป็นอารมณ์ของกายวิญญาณจิต เพราะเหตุนั้น จึงได้ชื่อว่า โคจรรูป
ในที่นี้ คำว่า “โค” แปลว่า อินทรีย์ ส่วนคำว่า “โคจร”กับ“อารมณ์” มีความหมายอย่างเดียวกัน
โคจรรูปทั้ง ๕ [หรือ ๗] อย่างนี้ พึงทราบว่า เป็นรูปารมณ์เป็นต้นซึ่งมีลักษณะกระทบที่จักขุปสาทรูปเป็นต้นตามลำดับ
บทสรุปของผู้เขียน:
วิสยรูป หมายถึง รูปที่เป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้โดยตรง ตามสมควรแก่ทวารนั้น ๆ
วิสยะ แปลว่า อำนาจ, วิสยรูป จึงหมายถึง รูปที่เป็นอารมณ์ ซึ่งมีอำนาจสามารถดึงดูดจิตและเจตสิกให้ไปรับรู้ตนเองได้
วิสยรูป หรือ โคจรรูป นี้ ถ้านับโดยจำนวนรูปแล้ว มี ๗ รูป เรียกว่า วิสยรูป ๗ แต่เนื่องจากโผฏฐัพพารมณ์ คือ ปถวี เตโช วาโย โผฏฐัพพารมณ์นั้น เป็นมหาภูตรูป ๓ ที่ได้แสดงไปแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อจะเรียกชื่อรูปที่เป็นอารมณ์เหล่านี้โดยเฉพาะแล้ว ก็มักนิยมเรียกว่า “โคจรรูป ๔” [ซึ่งไม่นับ ปถวี เตโช วาโย โผฏฐัพพารมณ์อีกต่างหาก] ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวว่า วิสยรูป มีจำนวน ๗ รูป และ โคจรรูป มีจำนวน ๔ รูป ด้วยประการฉะนี้
อนึ่ง คำว่า “โค” ที่แปลว่า อินทรีย์ นั้น หมายถึง จิตที่เกิดทางทวาร ๖ เพื่อรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ทางทวารของตน ๆ เพราะฉะนั้น คำว่า “โคจร” กับ “อารมณ์” จึงมีความหมายอย่างเดียวกัน และรูปทั้ง ๔ รูปมีวัณณรูปเป็นต้น จึงได้ชื่อว่า โคจรรูป เพราะเป็นรูปที่เป็นอารมณ์ให้แก่อินทรีย์คือจิตทั้งหลายนั่นเอง
วิสยรูปกับโคจรรูปทั้ง ๒ ชื่อนี้ มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือ หมายถึง รูปที่เป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิกทางทวาร ๕ โดยเฉพาะทวารของตน ๆ นั่นเอง