| |
ลักขณาทิจตุกะของมุทุตาเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของมุทุตาเจตสิกทั้ง ๒ อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์ที่พิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. กายะจิตตะถัทธะตาวูปะสะมะลักขะณา มีความสงบจากความกระด้างของจิตเจตสิก เป็นลักษณะ หมายความว่า มุทุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ เป็นสภาวธรรมที่เป็นความสงบระงับจากความกระด้างของจิตและเจตสิกอันเนื่องมาจากอำนาจอกุศลธรรมเข้าประกอบ อกุศลนั้นแม้บุคคลจะรู้สึกชอบใจ สะใจ เป็นต้นก็ตาม แต่สภาพของอกุศลนั้นย่อมมีสภาพหยาบกระด้าง ด้วยอำนาจอกุศลเจตสิกที่เข้าประกอบ ทำให้จิตขุ่นมัว เศร้าหมอง หรือมืดบอดทางปัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ การทำ การพูด การคิดของบุคคลนั้นแม้จะออกมาอย่างเฟื่องฟู ดูเผิน ๆ เหมือนจะสดสวยงดงาม แต่ก็เป็นความเศร้าหมองของจิต ทำให้จิตมีความหยาบกระด้างตามไปด้วย ถ้าบุคคลใดปลูกความคิดให้เกิดขึ้นโดยอาศัยอกุศลเจตสิกเป็นเครื่องกระตุ้นอยู่เสมอ จิตใจของบุคคลนั้นย่อมมีสภาพหยาบกระด้างมากขึ้นตามไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้มีจิตใจหยาบ มีความคิดหยาบ และแสดงปฏิกิริยาออกมาด้วยความโง่เขลารู้ไม่เท่าทันความจริง ย่อมก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นร่ำไป แต่เมื่อบุคคลใดปลูกความคิดให้เกิดขึ้นโดยอาศัยโสภณเจตสิกเป็นเครื่องกระตุ้นอยู่เสมอ จิตใจของบุคคลนั้นย่อมมีสภาพอ่อนโยน สดใส และเกิดแสงสว่างทางปัญญา เพราะในโสภณเจตสิกนั้นมีมุทุตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาวธรรมที่ทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนในขณะนั้นมีสภาพอ่อนโยนและสดใส ระงับเสียซึ่งความกระด้างของสัมปยุตตธรรมอื่น ๆ ทำให้สัมปยุตตธรรมทั้งหลายมีความพร้อมที่จะรับสิ่งที่ดีงามได้ง่าย หรือประกอบกิจการงานที่ดีมีประโยชน์ได้ง่าย

๒. ถัทธะภาวะนิททะมะนะระสา มีการกำจัดความกระด้างของจิตเจตสิก เป็นกิจ หมายความว่า มุทุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมสามารถกำจัดความกระด้างของจิตและเจตสิกซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนในขณะนั้นได้ เพราะสภาวะของมุทุตาเจตสิกนี้มีสภาพสดใสอ่อนโยน เมื่อมีสภาพสดใสอ่อนโยนแล้ว ความกระด้างย่อมจะผ่อนคลายบรรเทาเบาบางลงและหมดไปในที่สุด เปรียบเหมือนบุคคลใส่วัตถุสิ่งของที่มีความอ่อนนุ่มลงไปคลุกเคล้ากับวัตถุสิ่งของที่มีความหยาบแข็ง ความหยาบแข็งย่อมลดลง ยิ่งใส่วัตถุอ่อนนุ่มลงไปมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้วัตถุหยาบแข็งนั้นบรรเทาความแข็งลงจนหมดไปในที่สุด ตามปริมาณของวัตถุอ่อนนุ่มนั้น หรือเปรียบเหมือนบุคคลเทน้ำยาปรับผ้านุ่มลงไปแช่ผ้าที่หยาบแข็ง ประสิทธิภาพของน้ำยาปรับผ้านุ่มย่อมทำลายความหยาบแข็งของผ้าให้ลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด ผ้าย่อมกลายสภาพเป็นผ้านุ่มขึ้นมาได้ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด สภาวะของมุทุตาเจตสิกนี้ ก็มีอุปไมยฉันนั้น เมื่อบุคคลปลูกมุทุตาให้เกิดขึ้นในจิตใจแล้ว ย่อมทำลายความหยาบกระด้างของจิต ทำให้อำนาจอกุศลเจตสิกลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด จิตของบุคคลนั้นย่อมมีความอ่อนโยนสดใส มีความพร้อมที่จะรับสิ่งที่ดีงามได้ง่าย หรือพร้อมที่จะประกอบกิจการงานอันดีมีประโยชน์ได้โดยง่าย

๓. อัปปะฏิฆาตะปัจจุปปัฏฐานา มีความไม่หงุดหงิดในการรับอารมณ์ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า มุทุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ เป็นสภาวธรรมที่มีสภาพอ่อนโยนสดใสและทำลายความหยาบกระด้างของสัมปยุตตธรรมให้หมดไป เมื่อความหยาบกระด้างด้วยอำนาจแห่งอกุศลธรรมหมดไปแล้ว สภาพจิตใจย่อมมีความสดชื่นเบิกบานปลอดโปร่งเบาสบาย เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลที่มีมุทุตาเต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นคนที่สดใสร่าเริงเบิกบาน ไม่มีความหงุดหงิดรำคาญใจ ความเหน็ดเหนื่อยใจ ความอ่อนล้าใจ หรืออาการพิการทางใจอื่น ๆ ย่อมเหือดหายไป บุคคลนั้นย่อมน้อมจิตเข้าไปหาสิ่งที่ดีงามและรับรู้สิ่งที่ดีงาม ตลอดถึงการทำ การพูด การคิด ย่อมเป็นไปในสิ่งที่ดีงามได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น บุคคลที่มีจิตใจอ่อนโยน ไม่กระด้างด้วยอำนาจมานะทิฏฐิ ย่อมสามารถอยู่ร่วมและทำงานร่วมกับบุคคลทั้งหลายได้ โดยไม่มีปัญหาความขุ่นข้องหมองใจกับผู้ใด ส่วนบุคคลผู้ขาดความอ่อนโยนหรือมีจิตใจแข็งกระด้างด้วยอำนาจมานะทิฏฐิ ย่อมไม่สามารถอยู่ร่วมและทำงานร่วมกับบุคคลอื่นได้นาน มักมีปัญหาความขุ่นข้องหมองใจและมีปัญหากับบุคคลอื่นเสมอ สุดท้ายต้องแตกแยกกันไป

๔. กายะจิตตะปะทัฏฐานา มีจิตและเจตสิกขันธ์ ๓ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดหมายความว่า ความอ่อนโยนไม่หยาบกระด้าง อันเป็นสภาวะของมุทุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีสัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกอื่น ๆ ที่เกิดพร้อมกันมาด้วย จะเกิดขึ้นโดยลำพังตนเองไม่ได้ และหน้าที่ของมุทุตาเจตสิก ก็คือ มีการทำลายความหยาบกระด้างของสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องมีอาการปรากฏขึ้นแห่งสัมปยุตตธรรมที่เหมาะสมกับตนเองเป็นปทัฏฐานก่อนแล้ว มุทุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้จึงปรากฏขึ้นมาพร้อมได้ ถ้าไม่มีสัมปยุตตธรรมปรากฏขึ้นมาแล้ว มุทุตาเจตสิกย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ด้วยเหตุนี้ เมื่อบุคคลบางคนไม่สามารถมีโสภณจิตบางดวงเกิดขึ้นได้ เช่น บุคคลทั้งหลายที่นอกจากพระอรหันต์ ย่อมไม่มีสเหตุกกิริยาจิต ได้แก่ กิริยาจิตที่ประกอบด้วยเหตุ มี ๑๗ ดวง คือ มหากิริยาจิต ๘ รูปาวจรกิริยาจิต ๕ อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ ซึ่งจิตเหล่านี้เกิดได้เฉพาะกับพระอรหันต์เท่านั้น เพราะฉะนั้น มุทุตาเจตสิกที่จะประกอบจิตเหล่านี้ จึงไม่สามารถเกิดกับบุคคลที่ไม่ใช่พระอรหันต์ได้เลย ดังนี้เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |