ไปยังหน้า : |
อเหตุกจิตมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ดังกล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น จึงควรกำหนดรู้ถึงประโยชน์ของอเหตุกจิตดังต่อไปนี้
๑. เมื่อได้ประสบกับอกุศลวิบากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายแล้ว ถ้าบุคคลนั้นมีโยนิโสมนสิการแล้ว ย่อมทำให้พิจารณาเห็นโทษของอกุศลกรรมต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้เกิดสังเวชสลดใจ และเข็ดขยาดต่อการกระทำอกุศลกรรม มีสติสำรวมระวังใจได้ง่ายขึ้น
๒. เมื่อได้ประสบกับกุศลวิบาก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายแล้ว ถ้าบุคคลนั้นมีโยนิโสมนสิการแล้ว ย่อมทำให้พิจารณาเห็นคุณของกุศลกรรมได้ง่ายยิ่งขึ้น เกิดอุตสาหะพยายามที่จะทำกุศลให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะพิจารณาเห็นว่า การทำกุศลนั้น ย่อมให้ผลอันน่าชอบใจน่าปรารถนาเสมอ
๓. กุศลวิบากที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๕ นั้น เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย [โดยเฉพาะในกามภูมิ] ให้มีความชื่นฉ่ำใจ เป็นแรงกระตุ้นให้มีชีวิตชีวา ให้มีแรงสู้ชีวิตต่อไป ถ้าไม่มีวิบากเหล่านี้ สัตว์ทั้งหลายก็ไร้ชีวิตชีวา เหมือนกับสัตว์ตาบอด หูหนวก เป็นต้นฉะนั้น
๔. ปัญจทวาราวัชชนจิตและมโนทวาราวัชชนจิตนั้นช่วยในการเปิดประตูให้จิตรับรู้อารมณ์ คือ หน่วงเหนี่ยวอารมณ์มาสู่ทวารนั้น ๆ อยู่เสมอ ถ้าไม่มีจิต ๒ ดวงนี้เกิดขึ้นแล้ว จิตดวงอื่น ๆ ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นและรับรู้อารมณ์ทางทวารนั้น ๆ ได้ วิถีจิตก็แล่นไปไม่ได้เช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สัตว์ทั้งหลายย่อมรับรู้อารมณ์ไม่ได้เลย ดังกระบวนการเกิดขึ้นของวิถีจิต ดังต่อไปนี้