| |
ลักขณาทิจตุกะของปัสสัทธิเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. กายะจิตตะทะระถะวูปะสะมะลักขะณา มีความสงบระงับความกระวนกระวายอันเป็นกิเลสของจิตเจตสิก เป็นลักษณะ หมายความว่า ปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ นี้ มีสภาวะที่สงบระงับดับความกระวนกระวายของสัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตน ทำให้สัมปยุตตธรรมเหล่านั้นมีความสงบระงับจากความกระวนกระวายตามไปด้วย เพราะฉะนั้น การที่บุคคลมีสภาพจิตใจเยือกเย็น ปลอดโปร่ง ไม่กระวนกระวายเพราะอำนาจกิเลส ในบางครั้งหรือบางโอกาสที่จิตเป็นกุศลนั้น ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจของปัสสัทธิเจตสิก ๒ ดวงนี้นั่นเอง

๒. กายะจิตตะทะระถะนิททะมะนะระสา มีการกำจัดความกระวนกระวาย อันเป็นกิเลสของจิตเจตสิก เป็นกิจ หมายความว่า เมื่อปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้เกิดขึ้นและมีกำลังมากแล้ว ย่อมกำจัดความเร่าร้อนกระวนกระวายที่กำลังเกิดขึ้นด้วยอำนาจกิเลส ของสัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนให้สงบลงได้ แต่ถ้าปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ยังมีกำลังอ่อน ย่อมไม่สามารถกำจัดความเร่าร้อนแห่งสัมปยุตตธรรมให้สงบลงได้

๓. กายะจิตตานัง อะปะริผันทะนะสีติภาวะปัจจุปปัฏฐานา มีความเยือกเย็น ไม่ดิ้นรนของจิตและเจตสิกเป็นอาการปรากฏในปัญญาของบัณฑิตทั้งหลาย หมายความว่า บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมสามารถพิจารณาเห็นอาการปรากฏของปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ว่า สภาพของปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนมีความสงบระงับจากความกระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลส เมื่อความเร่าร้อนกระวนกระวายสงบลงแล้ว ความสงบเยือกเย็น ย่อมปรากฏขึ้นมาแทนที่ทันที

๔. กายะจิตตะปะทัฏฐานา มีจิตและเจตสิก เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า ปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ ล้วนแต่เป็นนามธรรมซึ่งจะต้องเกิดพร้อมกับจิตและเจตสิกอื่น ๆ ที่เป็นฝักฝ่ายเดียวกับตน เรียกว่า สัมปยุตตธรรม เพราะฉะนั้น ปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีจิตและเจตสิกที่พร้อมจะเกิดขึ้น เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ถ้าไม่มีจิตและเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว ปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะไม่มีความกระวนกระวายของจิตและเจตสิกให้กำจัด จึงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแต่ประการใด

กายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ มีสภาพที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส คือ อุทธัจจะ ซึ่งกระทำความไม่สงบให้แก่กายและจิต อนึ่ง สภาวะของปัสสัทธิเจตสิก ๒ ดวงนี้ย่อมปรากฏเด่นชัด ซึ่งพระโยคีบุคคลสามารถรู้สึกได้อย่างชัดเจนคือ ในขณะเจริญกรรมฐานจนเข้าถึงความเป็นโพชฌงค์ ได้แก่ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบแห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้อริยสัจ ๔ เมื่อบุคคลเจริญปัสสัทธิภาวนาจนบรรลุถึงความเป็นปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ ย่อมรู้สึกถึงความสงบแห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ได้เป็นอย่างดี

ธรรมชาติ ที่ชื่อว่า ปัสสัทธิ นั้น เพราะเป็นสภาวธรรมที่เป็นเหตุให้สัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกมีความสงบ ปราศจากความกระวนกระวายอันเป็นกิเลสเครื่องเร่าร้อนของจิต ย่อมถึงความปลอดโปร่งโล่งใจ ด้วยเหตุนั้น กายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิ เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ จึงประกอบกับโสภณจิตเท่านั้น เพราะในอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวงนั้นมีอุทธัจจเจตสิกซึ่งทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนมีอาการฟุ้งซ่านซัดส่ายและกระวนกระวายไม่สงบนิ่ง เพราะฉะนั้น ปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้จึงไม่ประกอบร่วมด้วย อนึ่ง แม้จะประกอบกับโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ได้ทุกดวงก็จริง แต่ย่อมทำความสงบให้เกิดขึ้นแก่จิตได้แตกต่างกัน คือ ในกามาวจรโสภณจิตย่อมสงบได้ในระดับหนึ่ง ในรูปาวจรจิตย่อมสงบได้มากกว่าในกามาวจรโสภณจิต ในอรูปาวจรจิตย่อมสงบได้ประณีตกว่าในรูปาวจรจิต และในโลกุตตร จิตย่อมสงบประณีตกว่าในจิตชั้นต่าง ๆ เรียกว่า อัปปมาณปัสสิทธิ คือ ความสงบระงับอย่างละเอียดลึกซึ้งจนไม่มีประมาณ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |