| |
มุทุตาเจตสิกมีลักษณะ ๔ ประการ   |  

๑. มุทุตา มีสภาพอ่อนน้อม หมายความว่า สภาพของมุทุตาเจตสิกนี้ ย่อมมีสภาพอ่อนน้อมเข้าไปหาสิ่งที่ดีงามได้โดยง่าย ทำให้บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยมุทุตานั้นย่อมเป็นบุคคลผู้ถ่อมตน ไม่หยาบกระด้างด้วยอำนาจกิเลส มีมานะ ความถือตัว ทิฏฐิความดื้อแพ่งด้วยความเห็นผิด เป็นต้น

๒. มัททะวะตา มีสภาพสนิทเกลี้ยงเกลา หมายความว่า มุทุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ ย่อมมีสภาพอ่อนละมุนละไม เหมือนข้าวที่หุงจนสุกดีแล้ว ย่อมมีความอ่อนนุ่มละมุนละไม บริโภคได้โดยสะดวก และไม่มีโทษตามมา ส่วนข้าวที่หุงไม่ดี ย่อมสุก ๆ ดิบ ๆ มีอาการแข็งบ้าง อ่อนบ้าง แฉะบ้าง ไหม้บ้าง บริโภคไม่สะดวกและมีโทษตามมา มีอาการท้องผูก เป็นต้น เพราะฉะนั้น บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยมุทุตาแล้ว ย่อมเป็นบุคคลผู้มีนิสัยอ่อนโยนนุ่มนวลอยู่เสมอ ไม่แสดงอาการแข็งบ้าง อ่อนบ้าง ย่อมเป็นที่รักที่นับถือของบุคคลทั้งหลาย เหมือนข้าวที่สุกดีแล้วย่อมเป็นที่ต้องการของบุคคลทั้งหลาย ส่วนบุคคลที่ยังไม่สมบูรณ์ด้วยมุทุตานั้น ย่อมเป็นบุคคลที่แข็งบ้าง อ่อนบ้าง ไม่มีความอ่อนโยนอย่างนุ่มนวล เป็นบุคคลที่ยังไว้วางใจไม่ได้ จึงมักไม่เป็นที่ต้องการของบุคคลทั้งหลาย เหมือนข้าวดิบ ๆ สุก ๆ ย่อมไม่มีบุคคลใดต้องการบริโภค ฉันนั้น

๓. อะกักขะฬะตา มีสภาพไม่กักขฬะ หมายความว่า มุทุตาเจตสิกทั้ง ๒ นี้ ย่อมมีสภาพอ่อนโยน เพราะฉะนั้น จึงมีสภาพไม่หยาบกระด้างเหมือนกิเลสทั้งหลาย หรือแม้สภาพจิตจะมีความหยาบกระด้างด้วยอำนาจกิเลสทั้งหลายเข้ามาเจือปนอยู่ก็ตาม แต่เมื่อมุทุตาเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำลายความหยาบกระด้างของสัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกอื่นให้เบาบางและหมดไปในที่สุด

๔. อะกะถินะตา มีสภาพไม่แข็งกระด้าง หมายความว่า มุทุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ ย่อมมีสภาพละมุนละไม พร้อมต่อการรับสิ่งที่ดีงามได้ง่าย ไม่แข้งกระด้างเหมือนสภาพของกิเลสทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เมื่อมุทุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้เกิดขึ้นแล้วย่อมทำลายความแข็งกระด้างของสัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกอื่นให้เบาบางและหมดไปในที่สุด

กายมุทุตาเจตสิกและจิตตมุทุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ มีสภาวะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส คือ ทิฏฐิ มานะ เป็นต้น ซึ่งเป็นกิเลสที่ทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกมีสภาพหยาบกระด้าง เพราะฉะนั้น เมื่อมุทุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้สภาพหยาบกระด้างของสัมปยุตตธรรมด้วยอำนาจกิเลสนั้นเบาบางและหมดไปในที่สุด ทำให้จิตมีสภาพอ่อนโยน สามารถน้อมรับสิ่งที่ดีงามได้ง่าย มุทุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ ย่อมเป็นปัจจัยให้บุคคลมีจิตใจอ่อนน้อมถ่อมตน และน้อมจิตไปสู่การคบหาสมาคมกับกัลยาณมิตรได้ด้วยดี


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |