| |
พระพุทธวจนะเกี่ยวกับโทสะ   |  

โทสสูตร

[ว่าด้วยการละโทสะได้เป็นพระอนาคามี]

จริงอยู่ พระสูตรนี้พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ได้ตรัสไว้แล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า [พระอานนท์] ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้โทสะ ไม่ยังจิตให้คลายกำหนัดในโทสะ ยังละโทสะไม่ได้เด็ดขาด ย่อมเป็นผู้ไม่สมควรเพื่อความสิ้นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนภิกษุผู้รู้ยิ่ง กำหนดรู้โทสะ ยังจิตให้คลายกำหนัดในโทสะ ละโทสะได้เด็ดขาดแล้ว เป็นผู้สมควรเพื่อความสิ้นทุกข์

พระพุทธเจ้าครั้นได้ตรัสเนื้อความนี้ในพระสูตรนั้น แล้วจึงตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

ชนผู้เห็นแจ้งทั้งหลาย รู้ชัดด้วยดีซึ่งโทสะอันเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ประทุษร้ายไปสู่ทุคติ แล้วละเสียได้ ครั้นละได้แล้ว ย่อมไม่มาสู่โลกนี้อีกในกาลไหน ๆ

ปฐมโกธสูตร

[ว่าด้วยบุคคล ๔ จำพวก]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวก มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวกคือใคร คือ บุคคลผู้หนักในความโกรธ ไม่หนักในพระสัทธรรม ๑ บุคคลผู้หนักในความลบหลู่บุญคุณท่าน ไม่หนักในพระสัทธรรม ๑ บุคคลผู้หนักในลาภ ไม่หนักในพระสัทธรรม ๑ บุคคลผู้หนักในสักการะ ไม่หนักในพระสัทธรรม ๑ นี้แล คือ บุคคล ๔ จำพวกที่มีปรากฏอยู่ในโลกนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวก มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวกคือใครบ้าง คือ บุคคลผู้หนักในพระสัทธรรม ไม่หนักในความโกรธ ๑ บุคคลผู้หนักในพระสัทธรรม ไม่หนักในความลบหลู่บุญคุณท่าน ๑ บุคคลผู้หนักในพระสัทธรรม ไม่หนักในลาภ ๑ บุคคลผู้หนักในพระสัทธรรม ไม่หนักในสักการะ ๑

ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้หนักในความโกรธและความลบหลู่ท่าน หนักในลาภและสักการะ ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่งอกงามในพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นผู้หนักในพระสัทธรรมแล้ว และกำลังหนักในพระสัทธรรมอยู่ ภิกษุเหล่านั้นแลย่อมงอกงามในพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว

ทุติยโกธสูตร

[ว่าด้วยอสัทธรรมและสัทธรรม ๔]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัทธรรม ๔ ประเภท คืออะไรบ้าง คือ ความเป็นผู้หนักในความโกรธ ไม่หนักในพระสัทธรรม ๑ ความเป็นผู้หนักในความลบหลู่บุญคุณท่าน ไม่หนักในพระสัทธรรม ๑ ความเป็นผู้หนักในลาภ ไม่หนักในพระสัทธรรม ๑ ความเป็นผู้หนักในสักการะไม่หนักในพระสัทธรรม ๑ นี้แล ชื่อว่า อสัทธรรม ๔ ประเภท

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระสัทธรรม ๔ ประเภท พระสัทธรรม ๔ ประเภทคืออะไรบ้าง คือ ความเป็นผู้หนักในพระสัทธรรม ไม่หนักในความโกรธ ๑ ความเป็นผู้หนักในพระสัทธรรม ไม่หนักในความลบหลู่บุญคุณท่าน ๑ ความเป็นผู้หนักในพระสัทธรรม ไม่หนักในลาภ ๑ ความเป็นผู้หนักในพระสัทธรรม ไม่หนักในสักการะ ๑ นี้แล ชื่อว่า พระสัทธรรม ๔ ประเภท

โกธนาสูตร

[ว่าด้วยความหมายมั่นของบุคคลผู้มีความโกรธ ๗ ประการ]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้ เป็นความหมายมั่นของบุคคลผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของบุคคลผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นข้าศึกกันในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อบุคคลผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้มีผิวพรรณทรามเถิดหนอ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลผู้เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้บุคคลที่เป็นข้าศึกกันมีผิวพรรณงาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะอาบน้ำ ไล้ทา ตัดผม โกนหนวด นุ่งผ้าขาวสะอาดแล้วก็ตาม แต่เมื่อถูกความโกรธครอบงำแล้ว ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑ ที่เป็นความหมายมั่นของบุคคลผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ

อีกประการหนึ่ง บุคคลผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อบุคคลที่เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้พึงนอนเป็นทุกข์เถิดหนอ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมไม่ยินดีให้บุคคลที่เป็นข้าศึกกันอยู่สบาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะนอนบนบัลลังก์อันลาดด้วยผ้าขนสัตว์ ลาดด้วยผ้าขาวเนื้อละเอียด ลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีผ้าดาดเพดาน มีหมอนหนุนศีรษะและหนุนเท้าแดงทั้งสองข้างก็ตาม แต่เมื่อถูกความโกรธครอบงำแล้ว ย่อมนอนเป็นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒ เป็นความหมายมั่นของบุคคลผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของบุคคลผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ

อีกประการหนึ่ง บุคคลเป็นข้าศึกศัตรูกัน ย่อมปรารถนาต่อบุคคลผู้เป็นข้าศึกศัตรูกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้อย่าได้มีความเจริญเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลผู้เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้บุคคลที่เป็นข้าศึกศัตรูกันมีความเจริญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ แม้จะถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่า เราถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ธรรมเหล่านี้อันบุคคลผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำถือเอาแล้ว ย่อมเป็นข้าศึกแก่กันและกัน ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓ เป็นความหมายมั่นของบุคคลผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของบุคคลผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ

อีกประการหนึ่ง บุคคลผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อบุคคลผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้อย่าได้มีโภคะเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลที่เป็นข้าศึกศัตรูกันย่อมไม่ยินดีให้บุคคลที่เป็นข้าศึกกันมีโภคะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้โกรธถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะมีโภคะที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรสั่งสมได้ด้วยกำลังแขน โดยความเหนื่อยยาก อาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม แต่พระราชาทั้งหลายย่อมริบโภคะของบุคคลขี้โกรธเข้าพระคลังหลวง เพราะบุคคลนั้นประพฤติตนเสียหายโดยประการต่าง ๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ เป็นความหมายมั่นของบุคคลผู้เป็นข้าศึกศัตรูกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ

อีกประการหนึ่ง บุคคลผู้เป็นข้าศึกศัตรูกัน ย่อมปรารถนาต่อบุคคลผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้อย่าได้มียศเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลผู้เป็นข้าศึกกันย่อมไม่ยินดีให้บุคคลที่เป็นข้าศึกกันมียศ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะได้ยศมาเพราะความไม่ประมาทย่อมเสื่อมจากยศนั้นได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕ เป็นความหมายมั่นของบุคคลผู้เป็นข้าศึกศัตรูกัน เป็นความต้องการของบุคคลผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ

อีกประการหนึ่ง บุคคลผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อบุคคลผู้เป็นข้าศึกศัตรูกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลนี้อย่าได้มีมิตรสหายที่ดีเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลที่เป็นข้าศึกศัตรูกันย่อมไม่ยินดีให้บุคคลที่เป็นข้าศึกศัตรูกันมีมิตรสหายที่ดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะมีมิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิต มิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิตเหล่านั้น ย่อมหลีกเลี่ยงเขาเสียห่างไกล [เพราะเบื่อหน่ายต่อความโกรธวู่วามของเขา] ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๖ เป็นความหมายมั่นของบุคคลผู้เป็นข้าศึกศัตรูกัน เป็นความต้องการของบุคคลผู้เป็นข้าศึกศัตรูกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ

อีกประการหนึ่ง บุคคลผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อบุคคลผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลนี้ เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลที่เป็นข้าศึกศัตรูกัน ย่อมไม่ยินดีให้บุคคลที่เป็นข้าศึกศัตรูกันไปสู่สุคติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๗ เป็นความหมายมั่นของบุคคลผู้เป็นข้าศึกศัตรูกัน เป็นความต้องการของบุคคลผู้เป็นข้าศึกศัตรูกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้แล เป็นความหมายมั่นของบุคคลผู้เป็นข้าศึกศัตรูกัน เป็นความต้องการของบุคคลผู้เป็นข้าศึกศัตรูกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสประพันธ์คาถานี้ว่า

คนโกรธมีผิวพรรณทราม ย่อมนอนเป็นทุกข์ ถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้วกลับปฏิบัติในสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ ทำปาณาติบาตด้วยกายและวาจา ย่อมถึงความเสื่อมทรัพย์ ผู้มัวเมาเพราะความโกรธ ย่อมถึงความไม่มียศ ญาติมิตรและสหายย่อมเว้นคนโกรธเสียห่างไกล คนผู้โกรธย่อมไม่รู้จักความเจริญ ทำจิตให้กำเริบ ภัยที่เกิดมาจากภายใน [คือกิเลส] นั้น คนผู้โกรธย่อมไม่รู้สึก คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถไม่เห็นธรรม ความโกรธย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดมิดย่อมมีในขณะนั้น คนผู้โกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว เขาย่อมเดือดร้อนใจเหมือนถูกไฟไหม้ คนผู้โกรธย่อมแสดงความเก้อยาก [หน้าด้าน] ก่อน เหมือนไฟแสดงควันก่อน ในกาลใด ความโกรธเกิดขึ้น คนย่อมโกรธในกาลนั้น คนนั้นไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ และไม่มีความเคารพ คนที่ถูกความโกรธครอบงำย่อมไม่มีความสว่างแม้แต่น้อย กรรมใดยังห่างไกลจากธรรม อันให้เกิดความเดือดร้อน เราจักบอกกรรมเหล่านั้น เธอทั้งหลายจงฟังกรรมนั้นไปตามลำดับ คนโกรธฆ่าบิดาก็ได้ ฆ่ามารดาของตนก็ได้ ฆ่าพระขีณาสพก็ได้ ฆ่าปุถุชนก็ได้ ลูกที่มารดาเลี้ยงไว้จนได้ลืมตาดูโลกนี้ ลูกเช่นนั้นกิเลสหยาบช้าโกรธขึ้นมาย่อมฆ่าแม้มารดา ผู้ให้ชีวิตความเป็นอยู่ได้ จริงอยู่ สัตว์เหล่านั้นมีตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เพราะตนเป็นที่รักอย่างยิ่ง คนโกรธหมกมุ่นในรูปต่าง ๆ ย่อมฆ่าตัวเองได้ เพราะเหตุต่าง ๆ ย่อมฆ่าตัวเองด้วยดาบบ้าง กินยาพิษบ้าง เอาเชือกผูกคอตายบ้าง โดดเขาตายบ้าง คนเหล่านั้น เมื่อกระทำกรรมอันมีแต่ความเสื่อมและทำลายตนก็ไม่รู้สึก ความเสื่อมเกิดแต่ความโกรธ ตามที่กล่าวมานี้ เป็นบ่วงของมัจจุราช มีถ้ำ [คืออบาย] เป็นที่อยู่อาศัย บุคคลผู้มักโกรธ เมื่อมีการฝึกตนคือมีปัญญา มีความเพียรและเป็นสัมมาทิฏฐิ ย่อมตัดความโกรธนั้นขาดได้ บัณฑิตพึงตัดอกุศลธรรมแต่ละอย่างเสียให้ขาด พึงศึกษาในธรรมเหมือนอย่างนั้น เธอทั้งหลายปรารถนาอยู่ว่า ขอความเป็นผู้เก้อยากอย่าได้มีแก่เราทั้งหลาย เธอทั้งหลายเป็นผู้ปราศจากความโกรธ ไม่มีความคับแค้นใจ ปราศจากความโลภ ไม่มีความริษยา ฝึกฝนตนเองแล้ว ย่อมละความโกรธได้ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ แล้วจักปรินิพพาน

ปฐมอาฆาตสูตร

[ว่าด้วยเหตุให้เกิดความอาฆาต ๙ ประการ]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาฆาตวัตถุ ๙ ประการนี้ ๙ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลย่อมผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้เคยประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่เรา ๑ บุคคลโน้นกำลังประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่เรา ๑ บุคคลโน้นจักประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่เรา [ในกาลข้างหน้า] ๑ ย่อมผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้เคยประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่บุคคลที่รักที่ชอบใจของเรา ๑ บุคคลโน้นกำลังประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่บุคคลที่รักที่ชอบใจของเรา ๑ บุคคลโน้นจักประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่บุคคลที่รักที่ชอบใจของเรา [ในกาลข้างหน้า] ๑ ย่อมผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้เคยประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑ บุคคลโน้นกำลังประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑ บุคคลโน้นจักประพฤติประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา [ในกาลข้างหน้า] ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาฆาตวัตถุ ๙ ประการนี้แล

ทุติยอาฆาตสูตร

[ว่าด้วยเหตุกำจัดความอาฆาต ๙ ประการ]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเครื่องกำจัดความอาฆาต ๙ ประการนี้ ๙ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลย่อมกำจัดความอาฆาตได้ด้วยคิดว่า บุคคลโน้นได้เคยประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่เรา เพราะเหตุนั้น เราจะพึงได้การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ในบุคคลนี้จากที่ไหนเล่า ๑ บุคคลโน้นกำลังประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่เรา เพราะเหตุนั้น เราจะพึงได้การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ในบุคคลนี้จากที่ไหนเล่า ๑ บุคคลโน้นจักประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่เรา [ในกาลข้างหน้า] เพราะเหตุนั้น เราจะพึงได้การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ในบุคคลนี้จากที่ไหนเล่า ๑ บุคคลย่อมกำจัดความอาฆาตด้วยคิดว่า บุคคลโน้นได้เคยประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น เราจะพึงได้การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้จากที่ไหนเล่า ๑ บุคคลโน้นกำลังประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น เราจะพึงได้การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้จากที่ไหนเล่า ๑ บุคคลโน้นจักประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา [ในกาลข้างหน้า] เพราะเหตุนั้น เราจะพึงได้การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้จากที่ไหนเล่า ๑ บุคคลย่อมกำจัดความอาฆาตด้วยคิดว่า บุคคลโน้นได้เคยประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น เราจะพึงได้การประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้จากที่ไหนเล่า ๑ บุคคลโน้นกำลังประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น เราจะพึงได้การประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้จากที่ไหนเล่า ๑ บุคคลโน้นจักประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา [ในกาลข้างหน้า] เพราะเหตุนั้น เราจะพึงได้การประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราในบุคคลนี้จากที่ไหนเล่า ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเครื่องกำจัดความอาฆาต ๙ ประการนี้แล

อาฆาตวัตถุสูตร

[ว่าด้วยเหตุให้เกิดความอาฆาต ๑๐ ประการ]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย วัตถุแห่งความอาฆาต ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลย่อมผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้เคยประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๑ กำลังประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๑ จักประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา [ในกาลข้างหน้า] ๑ ย่อมผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้เคยประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑ กำลังประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑ จักประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา [ในกาลข้างหน้า] ๑ ย่อมผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้เคยประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา ๑ กำลังประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา ๑ จักประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา [ในกาลข้างหน้า] ๑ ย่อมโกรธในเหตุอันไม่สมควร ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย วัตถุแห่งความอาฆาต ๑๐ ประการนี้แล

ปฐมอาฆาตวินยสูตร

[ว่าด้วยธรรมเป็นเครื่องระงับความอาฆาต ๕ ประการ]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องระงับความอาฆาตซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนให้มั่นไว้ในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของ ๆ ตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เขาจักเป็นทายาท [ผู้รับผล] ของกรรมนั้น ดังนี้ ๑ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้

ทุติยอาฆาตสูตร

[ว่าด้วยเหตุกำจัดความอาฆาต ๙ ประการ]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเครื่องกำจัดความอาฆาต ๙ ประการนี้ ๙ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลย่อมกำจัดความอาฆาตได้ ด้วยคิดว่า บุคคลโน้นได้เคยประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่เรา เพราะเหตุนั้น เราจะพึงได้รับการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์จากบุคคลนี้ที่ไหนเล่า ๑ บุคคลโน้นกำลังประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่เรา เพราะเหตุนั้น เราจะพึงได้รับการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์จากบุคคลนี้ที่ไหนเล่า ๑ บุคคลโน้นจักประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่เรา [ในกาลข้างหน้า] เพราะเหตุนั้น เราจะพึงได้รับการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์จากบุคคลนี้ที่ไหนเล่า ๑ บุคคลย่อมกำจัดความอาฆาต ด้วยคิดว่า บุคคลโน้นได้เคยประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น เราจะพึงได้รับการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราจากบุคคลนี้ที่ไหนเล่า ๑ บุคคลโน้นกำลังประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น เราจะพึงได้รับการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราจากบุคคลนี้ที่ไหนเล่า ๑ บุคคลโน้นจักประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา [ในกาลข้างหน้า] เพราะเหตุนั้น ไฉนเราจะพึงได้รับการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเราจากบุคคลนี้ในกาลบัดนี้เล่า ๑ บุคคลย่อมกำจัดความอาฆาตด้วยคิดว่า บุคคลโน้นได้เคยประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น เราจะพึงได้รับการประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราจากบุคคลนี้ที่ไหนเล่า ๑ บุคคลโน้นกำลังประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เพราะเหตุนั้น เราจะพึงได้รับการประพฤติสิ่งที่มิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราจากบุคคลนี้ที่ไหนเล่า ๑ บุคคลโน้นจักประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา [ในกาลข้างหน้า] เพราะเหตุนั้น เราจะพึงได้รับการประพฤติสิ่งมิใช่ประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราจากบุคคลนี้ที่ไหนเล่า ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเครื่องกำจัดความอาฆาต ๙ ประการนี้แล


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |