| |
คุณสมบัติพิเศษของอาหารรูป   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๓๑๗ อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ได้แสดงคุณลักษณะพิเศษของอาหารรูปไว้ดังต่อไปนี้

อาหารรูป มีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกันกับปรมัตถธรรมเหล่าอื่น ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ มี ๔ ประการ มีลักษณะเป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกอีกนัยหนึ่งว่า ลักขณาทิจตุกกะ ได้แก่

๑. โอชาลกฺขโณ มีการทำให้รูปทั้งปวงเจริญ เป็นลักษณะ

๒. รูปาหรณรโส มีการนำประโยชน์มาแก่รูปทั้งปวง เป็นกิจ

๓. อายูปตฺถมฺภนปจฺจุปฏฺาโน มีการอุดหนุนไว้ซึ่งอายุของรูป เป็นผลปรากฏ

๔. อชฺโฌหริตพฺพปทฏฺาโน มีอาหารที่ควรแก่การกลืนเข้าไป เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จากลักษณะพิเศษทั้ง ๔ ประการของอาหารรูปที่ท่านได้แสดงไปแล้วนั้น ผู้เขียนจักได้อธิบายขยายความหมายเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจรายละเอียดของคุณสมบัติแต่ละอย่างเหล่านั้นให้ยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้

๑. โอชาลกฺขโณ มีการทำให้รูปทั้งปวงเจริญ เป็นลักษณะ หมายความว่า ตัวสารอาหารที่สัตว์บริโภคเข้าไปแล้ว ที่เรียกว่า อัชฌัตตโอชา ก็ดี ตัวสารอาหารที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ ที่เรียกว่า พหิทธโอชา ก็ดี เมื่อปรากฏเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้รูปอื่น ๆ เจริญขึ้นหรือเพิ่มปริมาณมากขึ้นตามปริมาณของอาหารรูปนั้น กล่าวคือ อาหารที่บุคคลกลืนกินเข้าไปและได้รับการย่อยสลายเป็นสารอาหารแล้ว ย่อมซึมซาบไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของบุคคลนั้น ทำให้อวัยวะนั้น ๆ เจริญเติบโตขึ้นและขยายขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ นี้เป็นความหมายของอาหารรูปที่สัตว์กลืนกินเข้าไป ส่วนอาหารรูปที่อยู่ในสิ่งทั้งปวง มีพืชพันธุ์ธัญญาหารต่าง ๆ เป็นต้นนั้น ถ้าสารอาหารมีปริมาณรวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก ย่อมทำให้สิ่งนั้นเพิ่มขนาดและปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย

๒. รูปาหรณรโส มีการนำประโยชน์มาแก่รูปทั้งปวง เป็นกิจ หมายความว่า โอชาที่เป็นสารอาหารนั้น เมื่อเกิดขึ้นในกลาปรูปใด ย่อมทำให้กลาปรูปนั้นมีความสมบูรณ์ครบองค์แห่งกลาป และมีคุณสมบัติสามารถเป็นอาหารแก่บุคคลหรือสัตว์บางจำพวกได้ ทั้งที่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหรือมีโทษต่อร่างกาย ทำให้รูปในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามสภาพอาหารนั้น ๆ เพราะฉะนั้น อาหารรูปนี้จึงเปรียบเหมือนบุคคลผู้ให้อาหารแก่สมาชิกผู้ร่วมงาน เมื่อสมาชิกได้รับอาหารแล้วย่อมสามารถดำเนินกิจการงานของตน ๆ ไปได้ตามปกติ ถ้าขาดอาหารแล้วย่อมไม่สามารถดำเนินกิจการงานไปได้ ข้อนี้ฉันใด อาหารรูปก็ย่อมนำประโยชน์มาให้แก่รูปทั้งหลายฉันนั้น เมื่อรูปทั้งหลายได้รับการหล่อเลี้ยงจากอาหารรูปแล้วย่อมสามารถเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป สืบเนื่องกันไปตามปกติของตนได้

๓. อายูปตฺถมฺภนปจฺจุปฏฺาโน มีการอุดหนุนไว้ซึ่งอายุของรูป เป็นผลปรากฏ หมายความว่า อาหารรูปนี้ย่อมมีสภาวะที่ทำการหล่อเลี้ยงอุดหนุนให้รูปต่าง ๆ เกิดขึ้น และเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ถ้าสัตว์ทั้งหลายที่เป็นอยู่ด้วยอาหาร ตราบใดที่ยังบริโภคอาหารได้เป็นปกติ อายุของสัตว์เหล่านั้นย่อมสามารถดำรงอยู่ได้ตามปกติ ถ้าไม่มีอาหารเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายตามปกติแล้ว อายุของสัตว์เหล่านั้นไม่สามารถดำเนินไปตามปกติได้ อนึ่ง ถ้าตราบใดที่ยังมีอาหารเข้าไปหล่อเลี้ยงอยู่ ร่างกายของสัตว์นั้นก็ยังดำเนินไปอยู่ตราบนั้น ยกเว้นแต่มีเหตุอื่นมาเบียดเบียนหรือตัดรอนชีวิตของสัตว์เหล่านั้นเท่านั้น แม้สิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายมีต้นไม้เป็นต้น ถ้ายังสามารถดูดซึมอาหารไปหล่อเลี้ยงลำต้นและกิ่งก้านสาขาอยู่ได้ตราบใด ต้นไม้นั้นก็ยังสามารถดำรงอายุอยู่ได้ตราบนั้น เพราะฉะนั้น การดำรงอายุอยู่ได้ของสรรพสัตว์และสิ่งทั้งหลายนั้น ก็เพราะมีอาหารรูปช่วยอุดหนุนนั่นเอง

๔. อชฺโฌหริตพฺพปทฏฺาโน มีอาหารที่ควรแก่การกลืนกินเข้าไป เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า โอชาคือสารอาหารจะปรากฏเกิดขึ้นในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายได้นั้น จะต้องมีอาหารที่สัตว์ทั้งหลายจะพึงกลืนกินเข้าไปได้เป็นเหตุใกล้ ถ้าไม่มีอาหารที่สัตว์จะพึงกลืนกินได้แล้วไซร้ โอชาคือสารอาหารย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายได้เลย นี้หมายเอาเฉพาะสัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยกพฬีการาหารเท่านั้น ส่วนสัตว์ที่ไม่ต้องบริโภคกพฬีการาหารนั้น ย่อมดำรงอยู่ด้วยอาหารอย่างอื่น ได้แก่ ผัสสาหาร อาหารคือการกระทบสัมผัส มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือเจตนากรรม และวิญญาณาหาร อาหารคือความรู้สึกต่าง ๆ ทางทวาร ๖ ตามสมควรแก่สัตว์นั้น ๆ เพราะฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร และอาหารรูปนี้จะปรากฏเกิดขึ้นในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายได้ ก็ต้องมีอาหารที่สัตว์จะพึงกลืนกินเข้าไปได้ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น ดังที่กล่าวแล้ว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |