| |
เหตุให้เกิดมโนธาตุ ๓   |  

มโนธาตุ ๓ ได้แก่ สัมปฏิจฉนจิต ๒ เรียกว่า วิบากมโนธาตุ และปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ เรียกว่า กิริยามโนธาตุ มโนธาตุ แปลว่า ธาตุใจ ซึ่งเป็นธาตุที่มีกำลังในการรับรู้อารมณ์ได้น้อย เนื่องจากอาศัยสถานที่เกิดแห่งหนึ่ง แต่ไปทำงานอีกแห่งหนึ่ง หมายความว่า เป็นจิตอาศัยหทยวัตถุเกิด แต่ไปทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร คือ ไปรับรูปารมณ์ทางจักขุทวาร ไปรับสัททารมณ์ทางโสตทวาร เป็นต้น จึงทำให้เป็นสภาพจิตที่มีกำลังอ่อน เปรียบเหมือนบุคคลที่อาศัยอยู่อีกที่หนึ่ง แต่ไปทำงานอีกที่หนึ่ง ต้องเหน็ดเหนื่อยในการเดินทางไปกลับ ทำให้เวลาในการทำงานมีน้อย และประสิทธิภาพของงานก็น้อยลงไปด้วย เหตุให้เกิดมโนธาตุ มี ๔ อย่าง คือ

๑. ปัญจะท๎วารัง มีทวารทั้ง ๕ คือ จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่สมบูรณ์ดี ไม่มีอาการบกพร่อง พร้อมที่จะเป็นช่องทางให้รับรู้อารมณ์ได้

๒. ปัญจารัมมะณัง มีอารมณ์ ๕ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ และโผฏฐัพพารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏทางทวารนั้น ๆ

๓. หะทะยะวัตถุ มีหทยวัตถุ หมายความว่า มโนธาตุ ๓ นี้ จะเกิดได้กับบุคคลที่มีหทยวัตถุเท่านั้น ส่วนพวกอรูปพรหมนั้นเกิดไม่ได้

๔. มะนะสิกาโร มีความใส่ใจต่ออารมณ์ที่มาปรากฏนั้น

เมื่อครบองค์ประกอบ ๔ ประการนี้ มโนธาตุ ๓ ดวงใดดวงหนึ่ง จึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่ง มโนธาตุเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เช่น ประสาทรูปอันเป็นตัวทวารนั้นไม่ดี หรือไม่มีอารมณ์มาปรากฏทางทวารนั้น ๆ หรือไม่มีหัวใจ หรือไม่ได้ใส่ใจต่ออารมณ์นั้น เมื่อขาดเหตุปัจจัยไปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว มโนธาตุ ๓ เหล่านี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อบัณฑิตพิจารณาใคร่ครวญโดยเหตุผลเหล่านี้แล้ว ย่อมสามารถกำหนดวินิจฉัยได้ว่า มโนธาตุ ๓ นี้ เป็นสภาพที่รับรู้อารมณ์เท่านั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่สัตว์บุคคลรับรู้แต่อย่างใด เป็นแต่เพียงเหตุปัจจัยประชุมพร้อมกันแล้ว จึงทำให้เกิดการรับรู้ขึ้นมาเท่านั้น ไม่มีใครบงการหรือบังคับบัญชาได้ ย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |